xs
xsm
sm
md
lg

คปต.เล็งใช้ ม.21 เปิดทางคนกลับใจเข้าฝึกอบรมแทนถูกดำเนินคดี แก้ปัญหาใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร
“อุดมเดช” ประชุม คปต.ส่วนหน้า กลุ่มภารกิจงานรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน ระบุประเมินผลทุก 3 เดือน รายงาน “ประวิตร” กำชับอุดช่องโหว่ป้องกันเหตุร้าย พร้อมเตรียมหารือใช้ ม.21 เปิดทางคนกลับใจมอบตัว เข้าฝึกอบรมแทนถูกดำเนินคดี

ที่ห้องยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม วันนี้ (26 ต.ค.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะผู้แทนพิเศษของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ส่วนหน้า เป็นประธานประชุมกลุ่มภารกิจงานที่ 1 งานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีคณะผู้แทนพิเศษกลุ่มภารกิจงานที่ 1 ประกอบไปด้วย พล.อ.ปราการ ชลยุทธ, พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์, พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ และ พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ เข้าร่วมประชุม

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า หลังจากแบ่งมอบงานได้กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยรายละเอียดกลุ่มงานต่างๆ ที่ได้มอบหมายให้คณะผู้แทนพิเศษฯ 12 คน ได้แจกจ่ายเอกสารในเรื่องแผนการ โครงการ และงบประมาณของกลุ่มงาน และกระทรวงต่างๆ หลังจากนั้นคณะผู้แทนพิเศษฯแต่ละคนก็จะลงไปปฏิบัติในพื้นที่ ทั้งนี้ตนอยากให้รับฟังข้อคิดเห็นของหน่วยที่ได้ทำแผนงานปี 2560 ไว้ว่านอกจากศึกษาเอกสารแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวกับความคิดเห็นของส่วนราชการต่างๆมีแผนงาน งบประมาณ โครงการอะไรบ้าง และสิ่งใดที่เขาเห็นว่าเร่งด่วน และคิดเห็นตรงกับคณะทำงานชุดนี้หรือไม่ รวมถึงสิ่งที่เคยดำเนินการในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นประโยชน์ให้ส่วนราชการได้มาทบทวนแผนงาน

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้นโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะการประสานงานทุกระดับ และแนะนำส่วนราชการต่างๆ ได้ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้บูรณาการของหลายหน่วยงาน เช่น โครงการนำผู้หลงผิดกลับสู่สังคมที่เกี่ยวพันกับหลายส่วน ซึ่งมีข้อคิดเห็นกรอบพื้นที่และรายชื่อที่เข้ามาในโครงการพาคนกลับบ้าน ขณะนี้มีจำนวนประมาณ 4,000 คน ที่ต้องมีลำดับความสำคัญว่าจะต้องดูแลใครก่อนหลังเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จนกลายเป็นความรับผิดชอบของคณะผู้แทนพิเศษฯ ชุดนี้ หรือไม่ รมช.กลาโหมกล่าวว่า เราอยู่ในส่วนการขับเคลื่อนนโยบาย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุร้ายรายวัน เพราะที่ผ่านมาเว้นการเกิดเหตุมาพอสมควร ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเกี่ยวข้องกับวันสำคัญต่างๆ นั้น ตนคิดว่าเป็นไปได้

“เราต้องให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ทุกคนไม่ว่าจะเป็น ผบ.ทบ., แม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งใจทำงาน รวมถึงการดูแลงานด้านการข่าว แต่ก็เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจ อาจเป็นช่องโหว่ของเจ้าหน้าที่บ้าง แต่ก็เน้นย้ำให้พยายามดูแลให้ดีที่สุด อย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำในพื้นที่เขตเมือง และชุมชน และถนนเส้นหลักอีก ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งพื้นที่ชนบท และถนนเส้นรองต่างๆ ดังนั้นเราต้องดูแลให้ทั่วถึง โดยเราจะกำกับดูแลเร่งรัดหน่วยปฏิบัติ และพยายามไม่ให้เกิดช่องว่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน”

ต่อข้อถามว่า คณะผู้แทนพิเศษฯ ชุดนี้จะรับหน้าเสื่อแทนหรือไม่ในการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หากเกิดเหตุรุนแรง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ตนไม่ได้น้อยใจอะไร เพราะเรื่องเหล่านี้ทุกคนทราบดีว่าเป็นปัญหาเรื้อรัง ถ้าทุกส่วนราชการทำได้ดี ทุกอย่างก็จะดี เพราะฉะนั้นการทำงานของเราต้องมีการประเมินผลในทุก 3 เดือน โดยเราจะประเมินผลงานผู้ปฏิบัติ พร้อมรายงาน พล.อ.ประวิตร ต่อไป

แหล่งข่าวจากคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาลเปิดเผยว่า อาจมีการหารือในที่ประชุมเรื่อง มาตรา 21 พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปี 2551 การเปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกต้องหาว่ากระทำความผิดตามฐานความผิดที่รัฐกำหนดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ “กลับใจยอมเข้ามอบตัว” หรือ “กระทำไปเพราะหลงผิด” ได้เข้ารับการฝึกอบรมจากรัฐเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องรับโทษจากการกระทำความผิดนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น