xs
xsm
sm
md
lg

“พลังงานหมุนเวียนราคาแพง” วาทกรรมตกยุค ภาค ปชช.เดินหน้าดันพลังงานทางเลือกสู่นโยบายชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ประสาท มีแต้ม
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ภาคประชาชนเปิดเวทีการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะพลังงานโซลาร์เซลล์ และการจัดการน้ำ ชำแหละวาทกรรม “พลังงานหมุนเวียนราคาแพง” นโยบายเอื้อทุนพลังงานฟอสซิล สวนกระแสโลกที่หันมาใช้พลังงานสะอาดอย่างเอาจริงเอาจัง ภาคประชาชนเดินหน้าผลักดันสู่นโยบายหลักด้านพลังงานของชาติ

เมื่อวันที่ 27 มิ ย.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง มีการกิจกรรมอบรมการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะพลังงานโซลาร์เซลล์ และการจัดการน้ำ เป็นวันที่ 2 มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก โดยผู้เข้าร่วมอบรมมาจากหลายจังหวัดของภาคใต้ อย่างเช่น จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จ.สตูล จ.พัทลุง จ.ตรัง จ.กระบี่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร ประมาณ 300 กว่าคน

ช่วงแรกของกิจกรรมเป็นประเด็นพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักของโลกและของไทย โดยมี ผศ.ประสาท มีแต้ม ให้ข้อมูล มายาคติพลังงานหมุนเวียน เราได้ยินว่า มีน้อย ไม่มั่นคง แดด ลมไม่คงที่บริหารยาก แพง อ้างถึง นายนิโคลาส เทสลา ผู้คิดค้นเครื่องเอกซเรย์ ได้กล่าวว่า พลังงานแสงอาทิตย์มีทุกหนแห่ง มากกว่าพลังงานที่เราขับเคลื่อนทั้งโลก โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือเชื้อเพลิงรูปแบบอื่น

แบ่งพลังงานเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ 1.ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องซื้ออย่างเดียว คือ พลังงานฟอสซิล และเป็นพลังงานที่ผูกขาด 2.พลังงานหมุนเวียน ที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่วันนี้มีปัญหาคือ กลไกของรัฐที่ทำให้เราใช้ไม่ได้ ห้ามขาย โลกที่ปั่นป่วนวันนี้ มีการอพยพคนมากมาย เพราะเรื่องพลังงานทั้งสิ้น

คำถามเรื่องโซลาร์เซลล์ราคาแพง ตัวอย่างประเทศสเปน ลงทุน 48,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ คำนวณค่าไฟตลอด 25 ปี แค่ 1.35 บาท ในขณะที่วันนี้ประเทศไทยใช้ 4 บาท 40 ปีที่ผ่านมาราคาโซลาร์เซลล์ลดลง 160 เท่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 32,000 เท่า
 

 
พลังงานหมุนเวียนมีน้อย ไม่มั่นคง เป็นแนวความคิดเก่า ต้องเปลี่ยนความคิดนี้ใหม่ Base Load คือ ไฟฟ้าหลักที่มาจากฟอสซิล ถ่านหิน นิวเคลียร์ ที่ต้องผลิตตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนติดเตาแก๊ส เปิดปุ๊บติดปั๊บ วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว พลังงานหมุนเวียนมีเยอะมาก ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ไม่จำเป็นแล้ว เราควรนำพลังงานลม-แสงแดดมาผลิตก่อน ขาดเหลือเท่าไหร่ ค่อยนำพลังงานจากแก๊ส ถ่านหินเข้ามาแทน

ประเทศเยอรมนี มีนโยบาย ขั้นที่ 1 ให้พลังงานลม แสงแดดผลิตก่อน เราควบคุมไม่ได้ แต่เราพยากรณ์ได้ พรุ่งนี้รู้ว่าเราจะผลิตไฟฟ้าจากลม และแดดเท่าไหร่ ขั้นที่ 2 ใช้พลังงานชีวมวล และพลังงานน้ำมาเสริมในบางช่วงเวลา ขั้นที่ 3 ให้พลังงานฟอสซิล และนิวเคลียร์ผลิตเสริม เยอรมนีออกกฎหมายว่าใครที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เขาจะซื้อก่อน ผลิตใช้ก่อน เมื่อไม่พอค่อยนำถ่านหิน หรือนิวเคลียร์เข้ามา

คำว่า ไฟฟ้าหลัก เป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเพราะเหตุผลว่า 1.ถ่านหิน และนิวเคลียร์ไม่สามารถทำงานบนความหลากหลายได้ 2.ถ่านหินและนิวเคลียร์ลงทุนเยอะ จึงต้องขายให้ได้เยอะๆ

รัฐออสเตรเลียใต้ ประเทศออสเตรเลีย ผลิตโซลาร์เซลล์ได้มากกว่า จ.กระบี่ ใช้ทั้งจังหวัด ในอนาคตจากการพยากรณ์จะโหลดไฟฟ้ากระแสหลักเป็น 0 ในช่วงกลางวัน โลกกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ระบบไฟฟ้าปัจจุบันจะเจ๊งทั้งโลกภายในอีก 14 ปีข้างหน้า

รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายผลิตโซลาร์เซลล์ให้ได้ 32% ต้นทุนสูงกว่าประเทศไทย 2 เท่า ซึ่งมีต้นทุนทางวิศวกรรมสูง

ประเทศเยอรมนี ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ 33% สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละ 182 ล้านบาท หมู่บ้านเดียวผลิตได้ 5 เท่าของที่ตัวเองใช้โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ที่อังกฤษ ลดการระเหยของน้ำได้ เมื่อเดือน พ.ค.2559 ที่ผ่านมา ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้มากกว่าถ่านหิน เพราะช่วงกลางวันยาวกว่า และถ่านหินลดลง
 
กิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายก อบจ.กระบี่
 
ที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบว่า มีการซุกงานวิจัย โดยกระทรวงพลังงานไปทำวิจัยที่ จ.น่าน จ.ภูเก็ต และ จ.ระยอง แต่ไม่มี จ.กระบี่ จากงานวิจัยของกระทรวงพลังงาน บอกว่า จ.กระบี่ ผลิตโซลาร์เซลล์ได้เพียง 50 เมกะวัตต์ แตกต่างจากอีกงานวิจัยที่เป็นทางการบอกว่า จ.กระบี่ ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่า 1,500 เมกะวัตต์

สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ด้วยหนี้ โบ้ยว่าเพราะพฤติกรรมส่วนบุคคล แทนที่จะเป็นเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องพลังงาน ทั้งที่ไฟฟ้าที่เราผลิตได้เป็นการลดรายจ่าย

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายก อบจ.กระบี่ กล่าวว่า ภาคส่วนองค์การปกครองส่าวนท้องถิ่นสามารถกำหนดนโยบายด้านการจัดการพลังงานได้ เพราะมีอำนาจหน้าที่ที่กำหนดได้ ทางคณะบริหาร อบจ.จ.กระบี่ จึงกำหนดในนโยบายว่าสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในจังหวัด ผลสืบเนื่องจากโครงการก่อสร้างโรงฟ้าถ่านหิน

“ผมอยู่ในมุมหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย และได้แสดงการคัดค้านในหลายครั้งที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมา มี สนช., กระทรวงพลังงาน และภาคประชาชน ผ่านมา 6 เดือนได้อยู่ในชุดศึกษาความเป็นไปได้การสร้างพลังงานทดแทนในจังหวัดกระบี่ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ในเรื่องของข้อมูล แม้จะใกล้สิ้นสุดการศึกษา”

กระบี่ ใช้ไฟวันละ 90.16 เมกะวัตต์ ปัจจุบันผลิตไฟใช้เองโดยพลังงานทดแทน 42.05 เมกะวัตต์ มาจากการผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ที่นำเศษสิ่งเหลือใช้มาผลิตไฟฟ้า จำนวน 16 โรง โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือไบโอแมส ผลิตไฟฟ้า 4 โรง พลังงานจากไบโอแก๊ส 4 โรง ปัญหาคือ โรงงานที่สร้างใหม่ รัฐบาลไม่รับซื้อไฟฟ้า ศักยภาพต่างๆ ที่ได้ศึกษา เราขอเวลา 3 ปีในการพิสูจน์ว่ากระบี่สามารถสร้างไฟฟ้าเองได้ชีวมวล 255 เมกะวัตต์, ไบโอแมส 55 เมกะวัตต์, ลม น้ำ

ที่เป็นปัญหาคือ โซลาร์เซลล์ จากงานวิจัยของกระทรวงพลังงาน ชี้ว่า กระบี่ผลิตได้เพียง 50 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ว่าน้อยกว่าภูเก็ต ปัญหาอีกอย่างคือ ภาครัฐอ้างว่าไม่มีสายส่งไฟฟ้า เพราะสายส่งเต็ม
 

 
ที่กระบี่ มีโรงงานปาล์มหลายโรง สามารถผลิตไฟฟ้าได้เยอะมาก แต่ไม่สามารถขายให้การไฟฟ้าได้ บางโรงงานต้องเดินเรื่องขายไฟฟ้าผ่านไปยังนครศรีธรรมราช ซึ่งวุ่นวายมาก สายส่งเต็มเพราะอะไร หากกำหนดให้พลังงานทดแทนเข้าก่อนจะไม่มีปัญหา แต่รัฐไม่ทำ

ระบบโซลาร์เซลล์ สามารถตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าได้ทุกบ้าน แต่โยบายไม่ทำเรื่องนี้ เราจึงเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังรัฐบาลที่จะเสนอในเร็วๆ นี้ คือ

1.โซลาร์เซลล์ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งเรื่องภาษี รัฐต้องให้การสนับสุนนอย่างเต็มที่ เป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะนำร่องวางนโยบาย หมู่บ้านใดให้มีนำร่องติดตั้งโซลาร์เซลล์สัก 10 หลัง โดยออกงบประมาณคนละครึ่งกับรัฐ หลังละ 3 กิโลวัตต์ กลางวันผลิตไฟ กลางคืนใช้โซลาร์เซลล์ 2.รัฐบาลสนับสนุนสถาบันการเงินให้ปล่อยกู้สำหรับผู้ต้องการติดโซลาร์เซลล์ 3.ส่วนราชการ มีหลังคา มีพื้นที่สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ กำลังให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาเพื่อลงทุนติดตั้ง จากนั้นจะเชิญชวน และรณรงค์ศูนย์ราชการให้ติดโซลาร์เซลล์ทั้งหมด หากมีนโยบายจากรัฐบาลสนับสนุน ประเทศนี้จะลดการใช้ไฟฟ้ามหาศาล เพราะส่วนราชการต่างๆ ทำงานตอนกลางวัน

4.การรับซื้อไฟฟ้า ให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่ไม่สามารถส่งเข้าระบบได้ รัฐต้องมีนโยบายเรื่องนี้ให้ชัดเจน 5.หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง 6.รัฐบาลต้องคุยกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอย่างจริงจัง ที่มีวิสัยทัศน์ในการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใช้ฟอสซิลโดยไม่สนใจว่าทั่วโลกว่าอย่างไร ต้องปรับวิสัยทัศน์ แนวคิดและบทบาทใหม่ กระแสโลกไปทางนี้แล้ว ต้องหันมาสนใจพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

ด้าน นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำไมคนกระบี่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีที่มาที่ไป กระบี่เริ่มการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2527 ในอดีต 10 กว่าปีก่อนภาคส่วนต่างๆ มาถกกัน จากข้อมูลที่เราเก็บจากนักท่องเที่ยว เป็นตัวเลขที่น่าตกใจว่า นักท่องเที่ยวที่มาแล้วจะไม่มาอีกมีเพิ่มขึ้น ไม่มั่นใจเพิ่มขึ้น เราต้องยอมรับว่าเราเดินทางผิด จึงต้องมาเดินกันใหม่ จึงเกิดโครงการกระบี่ โก กรีน ไม่ได้เกี่ยวเนื่องต่อท่องเที่ยวอย่างเดียว รายได้จากการท่องเที่ยวเฉพาะภูมิภาคอันดามัน สามแสนกว่าล้าน นโยบายสาธารณะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลง ขาดความสมดุล

ที่ผ่านมา มีการผลักดัน พังงา โก กรีน อันดามัน โก กรีน ข้อมูลที่มีการค้นพบว่า คนที่มีฐานะยากจนที่สุดอยู่ในพื้นที่ที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ที่สุด ข้อมูลเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดกระบี่ โก กรีน เราไปทุกจุดของกระบี่ ไปถึงคนจับปลา คนขับรถสามล้อ มีการแบ่งสายกันทำงาน องค์ความรู้อยู่ที่ปราชญ์ชาวบ้าน มีการบริหารจัดการชุมชนเขาได้อย่างไร ทุกเรื่องที่เราทำต้องมีต้นแบบ
 
อมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่
 
ต้นแบบด้านพลังงาน เกิดจากโรงงานทั้งหลายไปสร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน มีการตกลงกันว่าโรงงานต้องใช้ zero waste ขยะเป็นศูนย์ ประมงพื้นบ้านต้องเลิกอวนรุน หอการค้าต้องศึกษาเรื่องการใช้การลดพลังงาน ประธานหอการค้ากระบี่เป็นคนแรกไม่ใช้ไฟฟ้าปกติ ใช้โซลาร์เซลล์ทั้งบ้าน เพื่อพิสูจน์ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ความฝัน สามารถทำจริงได้

จ.กระบี่ มีเรื่องแปลกๆ น่าสนใจมาก เรามีปะการัง ในป่าโกงกาง ในอดีตเราจะนั่งแบมือให้รัฐช่วยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนเป็นเราจะไม่ร้องขอใคร จะเริ่มที่ตัวเอง ทุกตารางนิ้วของภาคใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ทั้งหมด เราเห็นทุกวัน อาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ 14 จังหวัดภาคใต้เหมาะที่จะทำนโยบายเรื่องการท่องเที่ยวทั้ง 14 จังหวัด สามารถทำนโยบายครัวโลกได้ทั้งหมด เหมาะไหมที่เราจะเป็นภาคเกษตรที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก

ภาคใต้ไม่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรม หรือพลังงานที่ไม่เหมาะสม สิ่งที่เราพูด กับความเข้าใจของผู้มีอำนาจต่างกัน เขามองว่า พลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสม ความมั่นคงพลังงานไปกระทบวิถีชีวิต และอาหารเรารับไม่ได้ โดยเฉพาะโรงฟ้าถ่านหิน ไปกระทบแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของคนกระบี่ เฉพาะท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินเป็นวังกุ้งมังกร เป็นที่วางไข่ของกุ้งมังกร ทำอย่างไรให้สิ่งที่รัฐบาลพูดทุกวัน มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เริ่มที่ประชาชน ถ่านหินต้องซื้อของประเทศอื่นมา จะยั่งยืนได้อย่างไร

ด้าน นายสิทธิโชค ทองจุล ประธานหอการค้าพังงา กล่าวว่า จ.พังงา เป็นจังหวัดที่ GDP อยู่ในภาคการเกษตร ประชากร 40% อยู่ในภาคการเกษตร เรามีรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2544-2545 กว่า 7,000 ล้านบาท ปัจจุบัน หมื่นกว่าล้าน เราเป็นห่วงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราได้ทำ MOU เรื่อง โก กรีน ทำในเรื่องกรีน ทัวริสซึม การท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กรีน ฟูด เปลี่ยนจากผลิตพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นผลิตอาหารที่มีคุณภาพ กรีน เอนเนอร์จี้ ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นโซลาร์เซลล์

ถ้าเราขับเคลื่อนได้ จะทำให้สอดคล้องต่อนโยบายการท่องเที่ยวให้จังหวัด ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ในภาพของกลุ่มโรงแรม ตั้งเป้าปี 2559 จะได้ต้นแบบ 8 แห่ง ภาคอุตสาหกรรมบริการ ตั้งเป้า 10 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 3 เท่าตัวในปี 2560 ในพังงา มีเกาะแก่งที่ไฟฟ้าไปไม่ถึง กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนโซลาร์เซลล์ เช่น เกาะหมาก เกาะไม้ไผ่ ต.เกาะปันหยี เกาะพระทอง ต.พระทอง และตั้งเป้าในปี 2565 เราจะมีโซลาร์เซลล์ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด จากการประชุมใหญ่หอการค้าระดับประเทศ มีการทบทวนยุทธศาสตร์ภาคเอกชน ได้เสนอให้ขับเคลื่อนภาคใต้เป็นภาคที่มีความสุขที่สุด โดยยกระดับคุณภาพชีวิตใน 3 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ด้วยเครื่องมือ southern go green

ด้าน นายอุทัย บุญดำ เครือข่ายสินธุ์แพรทอง จ.พัทลุง กล่าวว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการพลังงานด้วยตนเอง จากการที่ได้พูดคุยกับหลายท่านในงานนี้ มีความตั้งใจ แต่มีข้อจำกัด ทำอย่างไรให้กระบวนการนี้ให้สามารถจัดการตนองได้ เสริมศักยภาพได้ ขั้นที่หนึ่ง เราต้องจัดระเบียบกลุ่มที่สนใจพลังงานทดแทนแต่ละจังหวัด มีตัวตนจริง อยากทำจริง นำคนเหล่านี้มาพัฒนายกระดับ มีคณะทำงาน ตัวแทนประสานต่างๆ ให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้ให้ความรู้ มีกลุ่มที่จัดกระบวนการ

ขั้นที่สอง พัฒนายกระดับความรู้ ผู้ที่อยากนำความรู้นี้ไปใช้ในครัวเรือน พัฒนาให้ออกแบบถูก-ซ่อมได้-ใช้เป็น มีทีมวิชาการในระดับจังหวัด สร้างพื้นที่รูปธรรมในครัวเรือน ปฏิบัติการจริง มีเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อผ่องถ่ายประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ เติมเต็มวิชาการ เทคโนโลยี ขั้นที่สาม ผลักดันระดับนโยบายท้องถิ่น ท้องที่ จังหวัด เพื่อประสานงบประมาณการจัดการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น