xs
xsm
sm
md
lg

“เกาะยาวน้อย”(จบ) รักเกินร้อย...เกาะน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
เรือชาวประมงที่จอดในคลองท่าเขา รอเวลาออกทะเล
ท่าเรือมาเนาะ เกาะยาวน้อย จ.พังงา(ต่อจากตอนที่แล้ว)

บังหมูด”(ลุงอมร กุลบัส) ขับเจ้าสองแถวโพท้องคันเก๋ พาผมกับคณะมาเฝ้ารอชมอาทิตย์อัสดง ณ ท่าเรือแห่งนี้ ที่ถือเป็นหนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีของเกาะยาวน้อย

นอกจากภาพตะวันลับฟ้าอันสวยงาม(ในวันที่ฟ้าเป็นใจ)แล้ว ท่าเรือมาเนาะยามเย็นยังมีภาพ
น่าสนใจของชาวเกาะยาวน้อยที่มาพักผ่อนกันบริเวณท่าเทียบเรือแห่งนี้ แล้วจอดมอเตอร์ไซค์ เสียบกุญแจรถคาไว้ แบบไม่กลัวหาย ไม่กลัวคนมาขโมย
บนเกาะยาวน้อย จอดมอเตอร์ไซค์เสียบกุญแจรถทิ้งไว้ ไม่มีหาย
“ชาวบ้านจอดมอเตอร์ไซค์เสียบกุญแจทิ้งไว้ได้สบาย ไม่ต้องกลัวใครจะมาขโมย บนเกาะยาวน้อยเราปลอดภัย เป็นเกาะเล็กๆที่คนรู้จักกันหมด ใครแปลกหน้า ใครผิดสังเกตมาจะรู้ทันที”

“ถ้าเป็นรถของคนต่างถิ่นเขาจะดึงกุญแจออก แต่ถ้าเป็นคนเกาะยาวน้อย เขาจะเสียบกุญแจรถทิ้งไว้กับมอเตอร์ไซค์ เพราะพวกเราเชื่อใจกัน”

นี่เป็นอีกหนึ่งมุมในวิถีของชาวเกาะยาวน้อยที่บังหมูดภูมิใจนำเสนอ ซึ่งนอกจากความงาม ความน่าสนใจ และความน่าทึ่งของธรรมชาติแล้ว บนเกาะยาวน้อยยังมี “วิถีชีวิต วิถีชุมชน” เป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวมานักต่อนัก จนพวกเขาต่างก็หลงรักในเกาะแห่งนี้ไปตามๆกัน
บรรยากาศยามเย็นเมื่อทองจากท่าเรือมาเนาะ
1...

แม้จะเป็นเกาะท่องเที่ยว แต่ทั้งเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ ต่างก็ได้ชื่อว่าเป็นเกาะที่มีวิถีชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งส่วนสำคัญนั้นมาจากการที่ชาวบ้านดำรงวิถีแห่งมุสลิมอย่างเคร่งครัด(ชาวบ้านบนเกาะยาวน้อยร้อยละกว่า 95 เป็นมุสลิม)

บนเกาะยาวน้อยมีโรงเรียนปอเนาะที่เปี่ยมไปด้วยภาพวิถีชีวิตของน้องๆนักเรียน ที่มาร่ำเรียนศึกษากันที่นี่
ที่พักนักเรียนในโรงเรียนปอเนาะ บนเกาะยาวน้อย
“ในอดีตที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาสำคัญ คนที่อื่นต่างส่งลูกหลานมาเรียนกันที่นี่” บังหมูดรำลึกความหลังอันรุ่งโรจน์ของโรงปอเนาะบนเกาะยาวน้อยให้ฟัง พร้อมกับพูดต่อด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มอย่างภาคภูมิใจว่า

“ผมก็เรียนจบจากที่นี่”

ขณะที่ไม่ไกลจากโรงเรียนปอเนาะเท่าไหร่ เป็น“กุโบร์” ที่ฝังศพของชาวมุสลิมที่เสียชีวิตบนเกาะยาวน้อย โดยมีที่ฝังศพของบุคคลสำคัญในระดับชาตินั่นก็คือ ที่ฝังศพของ“โต๊ะครูแอ” ซึ่งท่านเป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คนมากมาย ไม่เฉพาะแค่ชาวมุสลิม แต่ชาวไทยพุทธ ชาวไทยในศาสนาอื่นต่างก็นับถือยกย่องในคุณงามความดีของท่านกันเป็นจำนวนมาก ผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆคนในบ้านเราต่างก็คุ้นเคยกับท่านเป็นอย่างดี
กุโบร์บนเกาะยาวน้อย ที่มีหลุมศพบุคคลสำคัญคือ “โต๊ะครูแอ”
ความเป็นชุมชนมุสลิมอันเข้มแข็ง ทำให้บนเกาะยาวน้อยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะกับแขกในบางโรงแรม รีสอร์ท หรือที่พักบางแห่ง หรือร้านที่เป็นไทยพุทธบางร้านเท่านั้น ใครที่คิดว่าจะหาซื้อดื่มตามร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ท หรือร้านของชำทั่วไป บนเกาะนี้ไม่มี และก็ไม่มีเล็ดลอดมาให้กับชาวบ้านที่เป็นมุสลิมแต่อย่างใด

แต่ชาวบ้านที่นี่เขามีแหล่งพบปะสังสรรค์กันตามร้านชา-กาแฟ ร้านโรตี โดย 2 ร้านโรตีเจ้าดังประจำเกาะ หนึ่งนั้นก็คือ “ร้านโรตีชาวเกาะ” ที่เป็นร้านแนวตอบโจทย์นักท่องเที่ยว มีโรตีให้เลือกมากถึง 80 กว่ารายการ ส่วนอีกหนึ่งร้านคือ “ร้านโรตีเพื่อนกัน” ที่เป็นร้านแบบบ้านๆ อวลไปด้วยบรรยากาศแบบชาวบ้าน และแน่นอนว่าต้องมีสภากาแฟ สภาโรตี ที่เป็นเสน่ห์แห่งวิถีชาวใต้ให้เราได้สัมผัสร่วมพูดคุยกับเขา
โรตีเพื่อนกัน ร้านโรตีบรรยากาศชาวบ้านที่มีสภากาแฟของคนบนเกาะยาวน้อยให้สัมผัสกันแทบทุกัน
ทั้ง 2 ร้านตั้งอยู่แถวสามแยกเทศบาล(สามแยกไฟฉายหรือลอกอ) บ้านค่าย ที่ถือเป็นย่านธุรกิจดาวท์ทาวน์หลักบนเกาะยาว ในบริเวณนี้ มีทั้งตลาด ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ฯลฯ อีกทั้งยังมีร้านขายของชำของบังหมูดที่จัดว่าไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

“ร้านของบังขายเกือบทุกอย่างเหมือนกัน และเราขายกันแบบชาวบ้าน เน้นน้ำใจไมตรี พูดคุยสัมพันธ์ และการจัดร้านของเราเป็นแบบร้านคนจีนสมัยก่อนที่แปลกแตกต่างไปจากร้านสะดวกซื้อ เมื่อเข้าร้านมาสามารถพบเห็นสินค้าได้มากมาย แบบไม่ต้องเดินค้นหา”

บังหมูดแนะนำร้านของแกอย่างเต็มภาคภูมิพร้อมกับเล่าด้วยว่า ร้านนี้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาเข้ามาขอถ่ายรูปกันอยู่เสมอ
บังหมูดกับร้านโชว์ห่วยที่เขาภูมิใจนำเสนอ
ทุกวันนี้ร้านโชว์ห่วยของบังหมุดที่มีคุณป้าภรรยาเป็นผู้ดูแล ได้กลายเป็นอีกหนึ่งมุมถ่ายรูป อีกหนึ่งจุดเช็คอินบนเกาะยาวน้อย สวนกระแสยุคสมัยในบ้านเราที่ร้านประเภทสะดวกซื้อ มินิมาร์ท ได้ค่อยๆรุกไล่ตีร้านโชว์ห่วยล้มตายไปเรื่อยๆ แต่ร้านโชว์ห่วยของบังหมูดกลับยังดำรงคงอยู่ดี แม้ว่าจะมีร้านสะดวกซื้อ 2 แบรนด์ใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ๆก็ตามที

2…

ชาวเกาะยาวน้อยก่อนที่จะเดินเข้าสู่อาชีพในภาคธุรกิจท่องเที่ยวหลังการท่องเที่ยวบูมดังในยุคปัจจุบัน พวกเขามีอาชีพหลักๆดั้งเดิมสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ คือ การทำประมง ทำสวนยาง และการทำนา
วิวทิวทัศน์ป่าเกาะ ทะเลกระบี่ยามเช้า เมื่อมองไปจากเกาะยาวน้อย
ท้องทุ่งนาบนเกาะยาวน้อยมีผืนนาที่ขึ้นทะเบียนกับทางเกษตรอำเภอมากกว่า 500 ไร่ ได้ชื่อว่าทุ่งนากลางทะเลที่มีทัศนียภาพงดงาม เป็นแปลงนาข้าวแวดล้อมด้วยขุนเขา ในยามที่ต้นข้าวเติบโตเขียวขจี หรือในยามที่ต้นข้าวออกรวงเหลืองทองเต็มท้องทุ่ง ทุ่งนากลางทะเลบนเกาะยาวน้อยได้ชื่อว่าสวยงามนัก เป็นหนึ่งในจุดที่นักท่องเที่ยวปักหมุดอยากมาชมกันมาก

แต่นั่นจำเป็นต้องไปให้ถูกช่วงฤดูกาลทำนา เพราะถ้าไปผิดช่วงอย่างผมก็จะพบเพียงท้องทุ่งโล่งกว้าง แต่กระนั้นท้องทุ่งนาที่นี่ก็ยังน่ายลไปด้วยภาพฝูงควายออกหากินเลาะเล็มหญ้าอย่างเพลิดเพลิน โดยมีเหล่านกเอี้ยง นกกระยาง และนกอื่นๆ ที่ลงมาหาอาหารกิน โฉบบินฉวัดเฉวียนเป็นองค์ประกอบ
ทุ่งนากลางทเลบนเกาะยาวน้อยหลังเก็บเกี่ยว มีฝูงวัวควายมาหากินดูน่ายลไปอีกแบบ
ควายบางตัวมีนกเอี้ยงบินขึ้นเกาะอยู่บนหลัง สมดังคำ“นกเอี้ยงมาเลี้ยงควายเฒ่า” ขณะที่ควายบางตัวจะลงไปนอนทอดหุ่ยในปลักโคลนอย่างสบายอารมณ์ จนนักท่องเที่ยวหลายๆคนเรียกว่า“สปาควาย” ซึ่งการจมปลักแบบควายนั้นดีกว่าการจมปลักแบบคนเป็นไหนๆ

จากท้องทุ่งนาเราเปลี่ยนไปชมภาพบรรยากาศของสวนยางบนเกาะยาวน้อยกันบ้าง พื้นที่ทำสวนยางบนเกาะยาวน้อยส่วนใหญ่อยู่ทางตอนกลางของเกาะ โดยระหว่างทางในเส้นทางฝั่งตะวันออกจากบ้านท่าเขาสู่บ้านอันเป้าทางฝั่งตะวันตกของเกาะ เราจะผ่านสวนยางพาราของชาวบ้านที่ปลุกมาหลายปี ต้นโตใหญ่เขียวครึ้ม บางช่วงบางตอนของสวนยางต้นยางโน้มกิ่งโค้งเข้าหากัน พร้อมกับมีถนนทอดผ่านตรงกลาง แลดูดุจดังอุโมงค์ต้นยางอันงดงามทรงเสน่ห์

แต่สำหรับชาวสวนยางวันนี้ พวกเขาต้องเผชิญกับสภาวะราคายางตกต่ำ ที่ถือว่าหนักหนาสาหัสเอาการ
สวนยางพาราอีกหนึ่งอาชีพหลักของคนบนเกาะยาวน้อย
3...

บนเกาะยาวน้อยยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่เป็นวิถีดึงดูดนักท่องเที่ยวและคนภายนอกที่เข้ามาเยือนได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือ“วิถีประมง” ที่เป็นการทำประมงพื้นบ้าน เน้นการทำประมงแบบยั่งยืน จับเพื่อยังชีพทำกิน-ส่งขาย ไม่ใช่การจับแบบล้างผลาญ พร้อมมีการบริหารจัดการทรัพยากรกันในชุมชน

แต่นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด เพราะมีอยู่ยุคหนึ่งก่อนที่การท่องเที่ยวบนเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่จะบูม วิถีการทำประมงพื้นบ้านของชาวเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ (รวมไปถึงที่อื่นๆอีกมากหลายในเมืองไทย) ต้องประสบปัญหาในการต่อสู้กับ “ปีศาจยักษ์” นั่นก็คือเรืออวนลาก-อวนรุน และเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ของนายทุนต่างถิ่น ที่เข้ามา“กวาด” ทรัพยากร หน้าดิน กุ้งหอยปูปลาตัวเล็กตัวน้อยไปแบบราบพนาสูร
คลองท่าเขา มีสะพานแขวนทอดข้ามผ่านใช้สัญจรไป-มาและชมวิวทิวทัศน์
ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน และที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ถูกปีศาจยักษ์กวาดทำลายจนน่าเป็นห่วง นั่นจึงทำให้ชาวเกาะยาวได้ลงมือต่อสู้แบบสันติวิธีเพื่อทวงคืนทรัพยากรชุมชน โดยหนึ่งในนั้นก็คือโครงการ “การท่องเที่ยวเพื่อนิเวศและสังคม” ที่มีมูลนิธิ อาสาสมัคร และองค์กรต่างๆเข้ามาช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงให้กับชาวชุมชน ใช้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นตัวขับเคลื่อนในการอนุรักษ์ เน้นจากภายในคือให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรอันนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก่อนที่จะกระจายต่อไปสู่ภายในอกให้คนภายนอกได้ตระหนัก
วิถีชาวประมงพื้นบ้านที่ทะเลบ้านอันเป้า
สุดท้ายแล้วการร่วมแรงร่วมใจและตั้งใจจริงในการต่อสู้ของชาวเกาะยาวน้อย ทำให้ปีศาจยักษ์หายไปจากน่านน้ำ ชาวบ้านกลับมาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่เติบโต ซึ่งมีหลายส่วนเกื้อหนุนส่งกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการมีส่วนร่วมโดยตรงอย่างการพาไปเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้าน จับปู-ปลา ไดหมึก จับหอยแครง หรือทางอ้อมอย่าง การที่รีสอร์ทร้านอาหารซื้อสัตว์น้ำจากที่ชาวบ้านจับ ชาวบ้านเลี้ยง มาขายให้กับนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังรวมถึงการไปเที่ยวชมหมู่บ้านชาวประมง กระชังปลา ที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อเลือกหา กุ้ง หอย ปู ปลา สดๆจากแหล่ง ไปทำเป็นอาหารได้
บังหนีดให้อาหารฉลามในกระชังปลากลางทะเลของเขา
สำหรับจุดน่าสนใจในการเที่ยวสัมผัสวิถีประมงบนเกาะยาวน้อย ที่ขึ้นชื่อที่สุดก็เห็นจะเป็น “กระชังปลาบังหนีด” ของ“บังหนีด - เกษม นิลสมุทร” หนุ่มใหญ่หัวก้าวหน้าที่พัฒนาปรับปรุงกระชังเลี้ยงปลาของตัวเองให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเรียนรู้ ทำเป็นรายได้เสริมควบคู่กับรายได้หลักคือการเลี้ยงปลาในกระชังขาย

กระชังปลาบังหนีดตั้งอยู่ที่บ้านแหลมไทร เป็นกระชังปลาขนาดย่อมดูเผินๆเหมือนกระชังปลาทั่วไป แต่ว่าเมื่อได้ขึ้นไปชมจะพบว่าที่นี่มากไปด้วยสัตว์ทะเลหลากหลาย มีทั้งที่บังหนีดเลี้ยงไว้ขาย เลี้ยงไว้โชว์ และบางตัวมันก็ว่ายน้ำตามธรรมชาติมาโชว์ตัวให้ผู้โชคดีได้เห็นกัน

ในกระชังปลาบังหนีดมีทั้ง ปลากะพง,ปลาหมอทะเล,ปลาเก๋า,ปลามง,ฉลามหนู,ฉลามขาว,ปลาสวยงาม,ปลาดาว,ปลาปักเป้า,กุ้งมังกรหรือล็อบเตอร์ รวมถึงวันดีคืนดีก็จะมีม้าน้ำตัวน้อยตามธรรมชาติว่ายน้ำมาร่วมแจมในกระชังให้ผู้พบเห็นได้ตื่นเต้นกัน
ปักเป้าพองตัว เป็นดาวเด่นแห่งกระชัง
ทั้งนี้ในการมาเที่ยวชมกระชังปลาบังหนีด บังหนีดแกจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ทะเลต่างๆที่แกเลี้ยง พร้อมมีการให้อาหาร สัตว์บางตัวก็จะจับขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสจับต้องกับแบบเบาๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาดาว หรือปลาปักเป้าที่นักท่องเที่ยวชอบกันมาก เพราะถึงแม้ตัวมันจะเต็มไปด้วยหนามแหลมแต่เราก็จับสัมผัสมันได้ ยิ่งเมื่อลูบท้องให้มันพองตัวด้วยแล้ว เจ้าปักเป้าผู้น่ารักถือเป็นดาวเด่นที่เรียกไลค์ได้กระจายทีเดียว
ล็อบเตอร์ตัวโต ใครสู้ราคาไหวก็ซื้อกลับไปทำกินกันได้
ขณะที่กุ้งมังกรนั่นก็สามารถจับมันขึ้นมาได้เช่นกัน ส่วนใครสนใจจะซื้อหาสนนราคานั้นตกอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละพันกว่าถึง 2 พันกว่าเท่านั้นเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะซื้อพันธุ์ไหน ขนาดไหน ถ้าเป็นกุ้งมังกรเจ็ดสีนี่ก็ราคาสูงสุดตามชื้อชั้นความสวยงามของมัน

งานนี้เพื่อนผมมันถามว่าไม่ซื้อกุ้งมังกรเจ็ดสีกลับไปทำกินสักตัวสองตัวหรือ

ผมตอบมันไปว่า

“ไม่ล่ะ ตังค์ในกระเป๋ามีได้แค่ซื้อกุ้งแห้งกินเท่านั้น”
ทะเลแหวกเกาะนุ้ยอีกหนึ่งจุดน่าสนใจบนเกาะยาวน้อย
4...

นอกจากกระชังปลาบังหนีดที่ถือเป็นไฮไลท์แห่งวิถีประมงบนเกาะยาวน้อยแล้ว เกาะแห่งนี้ยังมีภาพวิถีประมงอันน่าสนใจที่หลายคนอาจไม่รู้ แต่ว่าบังหมูดรู้และก็ไม่พลาดที่จะพาผมไปชม เริ่มกันที่ภาพวิถีชาวประมงคลองท่าเขา บ้านท่าเขา ที่มีเรือจอดเรียงรายในลำคลองน้ำสีเขียวอมฟ้า บนนั้นมีสะพานแขวนสุดเท่ให้เดินขึ้นไปถ่ายรูปลำคลองกับลำเรือมุมสูงที่ถือเป็นมุมอันซีนเกาะยาวน้อยอันทรงเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง
หาดอันเป้า หาดที่มีทรัพยากรชายฝั่งอุดมสมบูรณ์
จุดถัดไปเป็นหมู่บ้านอันเป้าที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นบ่อน้ำจืดกลางทะเลที่ผมเล่าไปในตอนที่แล้ว

บังหมูดบอกผมว่า บ้านอันเป้าเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของ 2 ทะเลคือ ทะเลพังงา - อ่าวพังงา และทะเลกระบี่-อ่าวลึก ที่เป็นเกาะกลางทะเลทอดตัวเรียงรายที่แม้จะไม่หนาแน่นเหมือนกับวิวป่าเกาะดังเช่นทะเลฝั่งฟากตะวันออก แต่ว่าวิวกลุ่มเกาะ 2 ทะเลที่บ้านอันเป้าก็ดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ
โป๊ะหิน ภูมิปัญญาการจับปลาดั้งเดิม
ที่บ้านอันเป้านี้บังหมูดพาผมมาชมวิถีการทำประมงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่ลอยเรือออกจับปลา วางลอบ การวางข่ายดักปลา หรือเดินออกไปตกปลาในน้ำริมทะเล ส่วนที่แปลกแตกต่างและปมเพิ่งเคยเห็นที่เกาะยาวน้อยเป็นครั้งแรกก็คือการทำ“โป๊ะหิน” ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม มีการนำก้อนหินมาล้อมเป็นแนวคูแล้วนำตาข่ายไปดักไว้ที่ปลายปากทางที่กระแสน้ำไหลผ่าน เมื่อกุ้ง ปู ปลา ว่ายน้ำมาตามกระแสน้ำที่ถูกบีบก็จะมาติดข่าย ชาวบ้านนำกลับขึ้นไปเป็นอาหารหรือไม่ก็เอาไปขาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านเขาจะเน้นดักกุ้งขาวเป็นหลัก

นอกจากนี้ในระหว่างทางไปบางอันเป้า ผมเหลือบไปเห็นชาวบ้านกำลังปิ้ง-ย่าง อะไรก็ไม่รู้ ควันลอยโขมง เมื่อเราลงไปดูหะแรกเห็นเป็นแท่งกลมๆคล้ายกล้วยนึกว่าชาวบ้านกำลังปิ้งกล้วยอยู่ แต่ที่ไหนได้ เขากำลังสุมไฟย่างปลิงทะเล(ปลิงขาว) ย่างเพื่อให้มันแห้งก่อนจะส่งขาย สนนราคาก็กิโลกรัมละ 2-3 พันบาทแน่ะ
ชาวบ้านย่างปลิงทะเลรอส่งขาย
นี่ก็เป็นอีกภาพหนึ่งของวิถีชีวิตบนเกาะยาวน้อยที่ไม่ได้จัดฉาก นักท่องเที่ยวหากไปเจออะไรน่าสนใจก็แวะลงไปเที่ยวชมกันตรงนั้น แค่ผมไปเดินดูมะม่วง“แอปเปิ้ล” ที่เป็นมะม่วงประจำถิ่นบนเกาะยาว ชาวบ้านเขาก็เก็บมะม่วงมาให้กินกันฟรีๆเต็มถุงแล้ว
วิวป่าเกาะทะเลกระบี่ เมื่อมองจากจุดชมวิววิวพอยต์
สิ่งต่างๆเหล่านี้ถือเป็นมนต์เสน่ห์ดึงดูดแห่งเกาะยาวน้อย ที่นอกจากธรรมชาติอันงดงาม เพลินตา น่าทึ่งแล้ว “วิถีชีวิต วิถีชุมชน” ของคนเกาะยาวน้อย(และเกาะยาวใหญ่) ที่อยู่กันอย่างพอเพียงเรียบง่าย แต่ว่ากลับมาไปด้วยรอยยิ้ม น้ำมิตร ไมตรีนั้น ถือเป็นมนต์เสน่ห์สำคัญที่ทำให้ผมหลงรักเกาะแห่งนี้เข้าอย่างเต็มเปา

เป็นรักเกินร้อยที่มีให้กับเกาะยาวน้อย

“เกาะน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก”
มุมชายหาดสงบบนเกาะยาวน้อย
เกาะยาวน้อย เป็น 2 เกาะใหญ่สำคัญเคียงคู่กับเกาะยาวใหญ่ ตั้งอยู่ใน อ.เกาะยาว จ.พังงา การเดินทางไปเที่ยวเกาะยาวน้อย สามารถไปได้ทั้งจากพังงา กระบี่ และภูเก็ต โดยเส้นทางที่สะดวกและใกล้ที่สุดคือการไปจากภูเก็ตที่“ท่าเรือบางโรง”(มีเรือไปทั้งเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ วันละหลายรอบ) ไปลงที่ “ท่าเรือมาเนาะ” เกาะยาวน้อย

สำหรับการไปจากกระบี่ขึ้นเรือที่“ท่าเรือท่าเลน” ไปลงที่“ท่าเรือบ้านท่าเขา” เกาะยาวน้อย ส่วนถ้าไปจากพังงา ขึ้นเรือที่“ท่าเรือด่านศุลกากร” ไปลงที่“ท่าเรือสุขา” เกาะยาวน้อย

การเที่ยวบนเกาะยาวน้อยหากไปเป็นหมู่คณะสามารถเช่ารถสองแถว รถท้องถิ่นนั่งเที่ยวได้ หรือไม่ก็เช่ารถมอเตอร์ไซค์ขับขี่เที่ยวบนเกาะ หรือเช่าจักรยานปั่นเที่ยว
ทัศนียภาพเกาะยาวน้อยมุมกว้าง มองเห็นเกาะยาวใหญ่อยู่ฝั่งตรงข้าม
และเนื่องจากชาวบ้านบนเกาะยาวน้อยเป็นมุสลิมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ การเที่ยวบนเกาะยาวน้อยต้องเคารพในข้อปฏิบัติของชาวชุมชนอย่างเคร่งครัด ไม่นำหมูหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นไปบนเกาะ

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเกาะยาวน้อยเพิ่มเติม และสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก และการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดพังงาเชื่อมโยงกับเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โทร.0-7648-1900-2
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น