xs
xsm
sm
md
lg

การแสวงประโยชน์จาก “พลังงานฟอสซิลยุคสุดท้ายของโลก” / ปิยะโชติ อินทรนิวาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอรืเน็ต
 
คอลัมน์  :  ด้ามขวานผ่าซาก
โดย...ปิยะโชติ  อินทรนิวาส
---------------------------------------------------------------------------------
 
 
เราจะเชื่อหรือไม่?! ถ้ามีคนมาบอกเล่าให้ฟังเชิงตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวทำนองนี้...
 
“คลื่นลูกที่ 4 หรือยุคดิจิตอลกำลังถาโถมโลกหนักหนวง และรวดเร็ว ถึงขั้นบ่อนเซาะเปลี่ยนโครงสร้างอารยธรรมมวลมนุษยชาติ ไม่เว้นแม้สังคมไทยที่กำลังงุนงงสับสน”
 
“สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องมาพักใหญ่แล้ว แต่คนไทยยังเถียงกันไม่เสร็จว่า ระเบิด หรือวินาศกรรมต่างๆ ในบ้านเมืองเราเกี่ยวข้องต่อก่อการร้ายสากลหรือไม่”
 
“นานาชาติกำลังมุ่งหน้าสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สะอาดแท้จริง แต่ชนชั้นนำไทยกลับไม่เลิกสาละวนหากินกับพลังงานฟอสซิลยุคสุดท้ายของโลก”
 
แน่นอน! สังคมมนุษย์มีความหลากหลาย แต่ละคนมีวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์ ความรู้ และความเข้าใจแตกต่างกันไป จึงมีมุมมองต่อชีวิต และต่อโลกที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน คำตอบจึงเป็นไปได้ตามแต่ใจใครใคร่คิดเห็นอย่างไร และไม่ใช่จำกัดให้ต้องคิดแบบคับแคบอยู่เฉพาะกับคำว่า “ใช่” หรือ “ ไม่ใช่” เท่านั้น หากยังมีอีกสารพัดเหตุและผลที่สามารถนำมาอธิบายเรื่องราวที่เกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ได้
 
สำหรับผมมีโอกาสได้อ่าน “ปฏิวัติที่โลกใบเล็ก : มนุษย์โซลาร์ที่แผ่นดินใต้” ซึ่งเรียบเรียงโดย “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” ตั้งแต่ยังเป็นต้นฉบับก่อนถูกส่งไปจัดทำเป็นหนังสือ แล้วผ่านกระบวนการผลิตจนตกมาอยู่ในมือท่านที่กำลังเปิดอ่านอยู่นี้ ผมอยากจะบอกกับทุกท่านอย่างเชื่อมั่นว่า เนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการสื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ไว้ในหนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ทรงพลังยิ่งต่อคำถามสุดท้ายข้างต้น
 
ในฐานะสื่อมวลชนที่เฝ้าติดตามปรากฏการณ์ข้อมูลข่าวสารมากว่าครึ่งชีวิต โดยเฉพาะช่วงหลังๆ มุ่งเน้นความเป็นไปของข่าวบนผืนแผ่นดินด้ามขวานอย่างเป็นพิเศษมากว่า  2 ทศวรรษ ทำให้ผมเริ่มคุ้นชื่อ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล จากที่ร่วมคัดค้านบรรษัทขุดเจาะก๊าซและน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่หากินไปทั่วบนโลกใบนี้ ซึ่งมีแผนลงทุนก่อตั้งฐานใหญ่สนับสนุนแท่นขุดเจาะในทะเลอ่าวไทย โดยกำหนดเอาแผ่นดินชายหาดในพื้นที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นหมุดหมาย
 
จากนั้นช่วงที่เครือข่ายพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตระเวนจัดเวทีในภาคใต้ ผมเองก็ต้องตระเวนติดตามนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ทำให้ได้เห็นเขาขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ที่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรก ครานั้นเขาพูดถึงทิศทางการพัฒนาของภาคใต้ และเรื่องราวของโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย จากนั้นเราก็มีโอกาสพูดคุยกันในฐานะแหล่งข่าว จนนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทัศนะกันได้ในหลากเรื่องหลายราว โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องต่อการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในมิติต่างๆ
 
ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า เขาคือตัวแทนของคนปักษ์ใต้ระดับแนวหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน เพียงแต่คำต่อท้ายชื่อเมื่อถูกเรียกขานในทางสาธารณะมักไม่นิยมใช้ว่า “นักวิชาการ” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านพลังงานเท่านั้น แต่จะเลี่ยงไปใช้นิยามความเป็นตัวแทนองค์กรหรือเครือข่ายที่ใช้เคลื่อนไหวต่างๆ เช่น แกนนำขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน หรือแกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เป็นต้น
 
สิ่งที่ทำให้เขาหันมาสนใจ จนแปรเป็นความรู้ความเข้าใจอันดียิ่งต่อเรื่องราวพลังงาน จนก้าวขึ้นมาอยู่ระดับแนวหน้าของภาคใต้ ว่ากันว่า น่าจะมาจากความเป็นคนสู้คน แถมถ้าคิดว่าทำถูกต้อง ไม่ได้ทำอะไรผิดจรรยาบรรณ และศีลธรรมแล้ว เขามักไม่ค่อยจะยอมใครเอาเสียด้วย นั่นอาจเป็นเพราะชีวิตที่ถูกบ่มเพาะมาจากความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ผืนแผ่นดินที่เป็นที่รับรู้กันเสมอมาว่า ชุกชุม และส้องสุมไปด้วย “คนจริง” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
 
ความที่เป็นคนที่มาจากครอบครัวชาวสวนที่ต้องปากกัดตีนถีบใน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง สิ่งนี้ได้ปลุกปั้นให้เขาต่อสู้เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านการเรียนรู้ รักเรียน รักดี และที่สำคัญไม่ลืมที่จะรักพี่น้องประชาชนผู้ด้อยโอกาสเสมอมา สมัยร่ำเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้นำนักศึกษา แม้เวลานี้จะยังไม่ได้ใบปริญญาโทมาถือไว้ในมือ แต่ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การันตีในระดับปริญญาตรีก็นำมาใช้เป็นฐานในงานขององค์กรพัฒนาเอกชนได้อย่างลงตัว แถมสร้างความโดดเด่นเมื่อต้องลุกขึ้นต่อกรกับกลุ่มทุนพลังงานได้อย่างเป็นที่จับตาของสังคมวงกว้าง
 
หลายปีมานี้ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นำเสนอมุมมองความคิดเกี่ยวกับเรื่องพลังงานที่ตัวเองทุ่มเทใจให้ไปแล้วไว้นักต่อนัก นอกจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามเวทีต่างๆ แล้ว ยังมีงานเขียนที่นำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อสารมวลชน โดยมีการนำไปรวบรวมเรียบเรียงตีพิมพ์รวมเล่มไว้บ้างแล้ว แต่สำหรับเนื้อหาในหนังสือที่อยู่ในมือท่านตอนนี้ เชื่อว่าจะเป็นอีกเล่มที่ได้สร้างผลสะเทือนต่อสังคมวงกว้างแน่นอน โดยเฉพาะการปลุกคนให้ลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่แฝงเร้นอยู่กับการแสวงประโยชน์กับพลังงานฟอสซิลในยุดสุดท้ายของโลก
 
ไม่เกินความเป็นจริงหรอกที่ใช่คำว่า “พลังงานฟอสซิลยุคสุดท้ายของโลก”?!
 
ส่วนตัวผมเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะจากการติดตามข่าวสารต่อเนื่องมาค่อนชีวิต ถูกสั่งสอนมาตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากคำชี้แนะของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อตั้งค่ายสื่อผู้จัดการ ให้มองปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยสายตานกที่เห็นภาพมุมสูง ทำให้เข้าใจป่าทั้งป่า และให้มองด้วยสายตาหนอนที่ไต่ไปตามกิ่งก้าน เห็นใบไม้แต่ละใบ มีโอกาสก็ชอนไชเข้าไปทำความเข้าใจถึงไส้ในของดอกและผล เวลานี้ผมตกผลึก และสามารถทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่งแล้วว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะดินแดนตอนใต้ที่เป็นแท่งยาวๆ ตลอดด้ามขวานทองของไทยกำลังถูกเดินหน้าพัฒนาให้เป็น…
 
“ศูนย์กลางพลังงานฟอสซิลยุคสุดท้ายของโลก”?!
 
โดยตั้งต้นจากการก่อสร้างอภิมหาโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบของ “สะพานเศรษฐกิจ” หรือ “แลนด์บริดจ์ (Land Bridge) สงขลา-สตูล” ที่ประกอบด้วย “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ในฟากทะเลอันดามัน กับ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ฝั่งทะเลอ่าวไทย แล้วเชื่อมต่อกันด้วย “ถนนมอเตอร์เวย์ กับ “เส้นทางรถไฟ” ความเร็วปานกลางขนสินค้าแบบรางคู่ รวมถึงการวาง “ระบบท่อก๊าซและท่อน้ำมัน” จากนั้นตามด้วยเมกะโปรเจกต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ รายล้อมอยู่รอบๆ โดยเฉพาะการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิวเคลียร์” ที่กระจ่ายทั่วภาคใต้ ซึ่งมีโครงการถูกผลักดันให้ขับเคลื่อนในอัตราเร่งเวลานี้ก็คือ
 
“โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” และ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา”
 
การทำโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โตมโหฬารเหล่านี้ก็เพื่อใช้ภาคใต้เป็นฐานรองรับ “การขนส่งและผลิตปิโตรเลียมข้ามโลก” โดยเฉพาะการนำน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมาขึ้นฝั่งอันดามัน แล้วตั้งโรงกลั่นเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันสุก ก่อนลำเลียงส่งผ่านด้านอ่าวไทยไปให้ประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งถือเป็นย่านรุ่งอรุณทางเศรษฐกิจของโลก จึงมีความต้องการใช้พลังงานปิโตรเลียมสูงสุด
 
ขณะเดียวกัน ก็ทำให้สามารถตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดมหึมาขึ้น ซึ่งผลผลิตต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี่เอง ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบให้แจ้งเกิดของบรรดา “อุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิด” ตามมา ชนิดสามารถรองรับให้กระจายไปได้ทั่วแผ่นดิน 2 ฝั่งทะเลภาคใต้
 
ทิศทางการพัฒนาดังที่ว่าไว้นี้ สามารถยืนยันได้จากบรรดาเทคโนแครตรุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งได้ร่วมกันกำหนดให้เป็น “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ตายตัวมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะการวางแผน “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก” หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ที่เป็นผลประจักษ์มาแล้วราวครึ่งศตวรรษ
 
ในเวลานี้จึงต้องการให้เลื่อนไหลถ่ายเทเชื่อมโยงต่อเนื่องลงมาสู่แผนดินด้ามขวาน โดยมาในรูปทิศทางการพัฒนาแบบเดียวกัน จึงไม่แปลกที่จะใช้ชื่อเรียกแผนพัฒนาเหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อพื้นที่เท่านั้นคือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายทะเลภาคใต้” หรือ “เซาเทิร์นซีบอร์ด”
 
นอกจากนี้แล้ว ทั้งอีสเทิร์นซีบอร์ด และเซาเทิร์นซีบอร์ดยังสามารถโยงใยการพัฒนาเชื่อมต่อไปยังผืนแผ่นดินฝั่งตะวันตกเบื้องบน โดยเฉพาะไปเชื่อมกับอภิมหาโปรเจกต์ตั้งฐานการผลิตปิโตรเลียมขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังเร่งแจ้งเกิดบนแผ่นดินทวาย ในประเทศเมียนมาร์ อันเน้นป้อนพลังงานให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศในผืนแผ่นดินตอนในของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะกับแผ่นดินตอนในของประเทศจีน
 
รวมถึงยังสามารถไล่เรียงเชื่อมลงเบื้องล่างสู่บริเวณพื้นที่ที่ถูกพัฒนามานานแล้วในแถบช่องแคบมะละกา ที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วต่อเนื่องกับรัฐยะโฮร์บาห์รู ของประเทศมาเลเซีย
 
ไม่เพียงเท่านั้นยังยื่นมือไปต่อสัมพันธ์แนบแน่นได้กับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศเวียดนาม
 
ดังนี้แล้ว เมื่อเรามองการพัฒนาให้เชื่อมโยงกันไปตลอดผืนแผ่นดินของแหลมมลายู ซึ่งทอดยาวขวางกั้น 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแปซิฟิก จากใต้สุดที่สิงคโปร์ ขยับขึ้นด้านบนสู่มาเลเซีย ต่อเนื่องถึงด้ามขวานทองของไทย แล้วโยงใยไปยังตะเข็บแผ่นดินไหล่ทวีปของเอเชีย ตลอดชายฝั่งเมียนมาร์ และชายฝั่งเวียดนาม
 
เราจะเห็นภาพที่ล้วนแล้วแต่กำลังถูกทำให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานฟอสซิลยุคสุดท้ายของโลก” ในลักษณะเดียวกัน
 
อันเหมือนกับว่าแต่ละประเทศได้ร่วมวงซิมโฟนี ออเคสตรา เล่นเครื่องดนตรีที่ตัวเองรับผิดชอบกันไป แม้ต่างชนิด แต่ก็เป็นไปในจังหวะ และท่วงทำนองเดียวกัน โดยมี “กลุ่มทุนโลกบาล” ทำหน้าที่ดุจวาทยกร คอยกำกับให้ทุกประเทศเดินตามตาม “ยุทธศาสตร์การพัฒนา” ที่พวกเขาเขียนไว้ให้
 
หากถามย้ำว่าทำไมต้องเป็น “ศูนย์กลางพลังงานฟอสซิล” และทำไมต้องเป็น “ยุคสุดท้ายของโลก” ด้วยเล่า?!
 
เมื่อท่านอ่านหนังสือ “ปฏิวัติที่โลกใบเล็ก : มนุษย์โซลาร์ที่แผ่นดินใต้” ไล่เรียงเรื่องราวทีละหน้าจาก “โซลาร์เซลล์กำลังจะกลายเป็นนโยบายสาธารณะของโลก” ที่ชี้ว่าหลายประเทศกำลังปรับรื้อโครงสร้างการพัฒนา จากพึ่งพาพลังงานฟอสซิลก็หันไปหาพลังงานหมุนเวียนทดแทน ต่อด้วย “ปฏิบัติการโซลาร์เซลล์ภาคใต้ กับการสร้างนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน” ที่ยกตัวอย่างคนใต้จำนวนมากมายตื่นตัวที่จะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และลม แล้วไปสรุปไว้ด้วย “ความก้าวหน้าของนโยบายโซลาร์เซลล์” ในระดับชาติ และภาคใต้ เมื่อถึงหน้าสุดท้ายเชื่อว่าจะต้องได้คำตอบชัดเจนแจ๋วแหวว
 
ในวันนี้ที่คลื่นลูกที่ 4 ยุคดิจิตอลกำลังถาโถมโลก ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 3 ก็หว่านโปรยความรุนแรงไปทุกย่อมย่าน หนังสือ “ปฏิวัติที่โลกใบเล็ก : มนุษย์โซลาร์ที่แผ่นดินใต้” เล่มนี้จะช่วยทำให้ท่านเข้าใจความเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานบนโลกใบนี้ ในประเทศนี้ และในภูมิภาคของภาคใต้นี้ได้กระจะกระจ่างชัดเจนขึ้นอย่างแน่นอน
 

 
---------------------------------------------------------------------------------
 
หมายเหตุ
 
ผู้เขียนได้เขียนชิ้นนี้เพื่อให้เป็น “คำนิยม” กับหนังสือ “ปฏิวัติที่โลกใบเล็ก : มนุษย์โซลาร์ที่แผ่นดินใต้” ซึ่งเรียงเรียงโดย “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2559 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น