xs
xsm
sm
md
lg

“อ่านล้อมเมือง” คุยเรื่องวรรณกรรมเยาวชน “ลมฝนกับต้นกล้า” [ชมคลิปเสวนาภาษาปักษ์ใต้]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาทะเลสาบสงขลา ได้นัดพบปะนักเขียน นักอ่าน และนักวิจารณ์ ร่วมเสวนา “อ่านล้อมเมือง” ว่าด้วยผลงานนวนิยายเยาวชน “ลมฝนกับต้นกล้า” โดยยงยุทธ ชูแว่น และกวีนิพนธ์ “ประเทศของท่าน บ้านของผม” โดย พิเชฐ แสงทอง “MGR Online ภาคใต้” นำเนื้อหาความคิดเห็นส่วนหนึ่งเผยแพร่

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ทัศนะ มุมมองจากการอ่าน “ลมฝนกับต้นกล้า” จากการอ่านลมฝนกับต้นกล้า ผมมีมุมมองที่อยากสะท้อน ใน 2 ประเด็นหลักคือ

1.ในสภาวะของการเติบโต การขยาย และการแผ่ซ่านของระบบข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้น หลั่งไหลเข้าสู่สังคมชนบท ซึ่งวันนี้เองก็ไม่แน่ใจนักว่ายังมีความเป็นชนบทในสังคมชุมชนอีกหรือไม่ หรือได้กลายเป็นเมืองในพื้นที่ที่กายภาพเรียกว่าชนบทเท่านั้น พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ชนบทได้เปลี่ยนแปลงไปชนิดที่เรียกว่าเป็นการ “การเปลี่ยนภูมิทัศน์ชนบท” ที่หมายถึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนภาพรวมของพื้นที่ผู้คน/สังคมรับรู้ หมายจำในความรู้สึกมาอย่างช้านานทั้งคนในและคนนอก รวมไปถึงรูปการจิตสำนึก และโครงสร้างความรู้สึกของผู้คนในชนบท การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผมมีข้อสังเกตที่สำคัญ 3 ประการ
 

 
(1) ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้มีผู้คนกลุ่มหนึ่ง จำนวนหนึ่งได้ลุกขึ้นมาเรียกร้อง โหยหาความเป็นชนบท (ที่ไม่มีอยู่แล้ว) ทั้งคนในและนอกพื้นที่ หรือที่เราเรียกกันลำลองว่า “การโหยหาอดีต” ที่มีทั้งการอนุรักษ์ รื้อฟื้น ประกอบสร้างใหม่ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มโหยหาอดีตนั้นอาจมีปัญหาหลายเรื่อง แต่ที่อยากเสนอซึ่งคิดว่าสำคัญมากๆ คือ ก็มองไม่เห็น ละเลยการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของการเป็นผู้กระทำ หรือถูกกระทำของชนบทกับการพัฒนา ทุนนิยม และโลกาภิวัตน์ ทำให้ในท้ายที่สุดการโหยหาอดีตกลายเป็นเพียงการ “จินตนาการที่กลวงเปล่า” ที่สามารถกล้อมแกล้ม “ยาใจ” เพื่อไม่ให้เจ็บปวดรวดร้าวจนเกินไปนักเท่านั้น หรือถึงขั้นเพ้อไปถึงความสวยงามและแบบอย่างอุดมคติที่เลื่อนลอย ประมาณ “ฉันอยากจะเป็นชาวชนบท” นี่ยังไม่รวมถึงเหล่านักโหยหาอดีตบางส่วนที่ไปไกลถึงขั้นเป็นส่วนหนึ่งของการ “ทำให้ชนบทกลายเป็นสินค้า” ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

(2) ขณะที่การเกิดขึ้นของขบวนการชุมชน/ชาวบ้านในชนบทก็ถูกมองให้เป็นปัญหาและปรากฏการณ์ทางการเมือง มากกว่าเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาโดยตรงของการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ เรา ท่านเธอทั้งหลาย โดยเฉพาะในทางภาคใต้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบทบาทที่เรียกว่าการทำให้ชนบทไม่เป็นการเมือง หรือที่เรียกว่า “Depoliticize” ชนบทไปพร้อมๆ กับรัฐ ท้ายที่สุดแล้วการ “Depoliticize” ทำให้ชนบทกลายเป็นปัญหาอันเกิดจากปัจเจกมากกว่าการวิเคราะห์ในเชิงอำนาจ และโครงสร้างที่กดทับอันมากมายผ่านกลไก สถาบันต่างๆ
 

 
(3) เพราะโดยบทบาทที่ผ่านมาของรัฐ รัฐสร้างความชอบธรรมในการควบคุมชนบทด้วยการ “Depoliticize”มาโดยตลอด นับจาก “โง่ จน เจ็บ” “ไม่มีปัญญา ทุนที่ได้มาก็ไม่เหลือ” กระทั่งประชารัฐ เป็นต้น การลดทอนทำให้ชนบทไม่เป็นการเมือง ในแง่หนึ่งชนบทถูกฉายภาพของของความหยุดนิ่ง หรือรอการหยิบยื่นเพื่อเปลี่ยนแปลงจากภายนอกมากกว่าการแสดงให้เห็น/ยอมรับศักยภาพของชุมชนชนบท

2.ได้มีรายงานทางการแพทย์ว่า ปัจจุบันได้เกิดโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “original trauma syndrome” ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง การเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ทำให้เกิดความเครียด เบี่ยงเบน การสุญเสีย อัตลักษณ์ และตัวตน ฯลฯ วิธีการรักษาคือการกลับไปหาธรรมชาติ “Back to the Root” คำถามคือไปไหน???? เมื่อไม่มีชนบท (ในความหมาย อุดมคติ) ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องขบคิดกันต่อไป
 

 
3.กล่าวเฉพาะโครงการอ่านล้อมเมือง ผมเสนอว่าในระดับปัจเจก และกลุ่ม การกลับไปก่อร่าง สร้างท้องถิ่นที่มีชีวิตในแบบฉบับลีลาของตน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ พูดให้ชัดลงไปอีกนิด โครงการส่งเสริมการอ่าน ผ่านการอ่านล้อมเมืองในวันนี้ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการบอกว่า การอ่านคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น ใช่แต่จะทำอย่างไรที่สามารถเปิด/สร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมการอ่าน และวัฒนธรรมการอ่านที่มีชีวิตชีวา

ในระดับที่สูงกว่านั้น เสนอให้เข้าร่วมสัมมนา ชนบทภาคใต้ ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว 12 ก.ค. 59 ที่ ม.ทักษิณ ครับ
 

 
ขณะที่ พิณพิพัฒน ศรีทวี นักอ่าน และนักเขียนจาก จ.ภูเก็ต แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ลมฝนกับต้นกล้า” ในลักษณะของบทความในหัวข้อ “สัญลักษณ์แห่งอำนาจและความเชื่อ ในสังคมชนบทไทย ภายใต้ใบหน้าสามัญของวรรณกรรมเรื่อง ลมฝนกับต้นกล้า ของยงยุทธ ชูแว่น โดยระบุว่า

ภายใต้เรื่องเล่าสามัญของความเป็นชุมชนชนบท ยุคกำลังเปลี่ยนผ่านสู่โลกาภิวัตน์ ในนวนิยายเยาวชนเรื่อง ลมฝนกับต้นกล้า ของ ยงยุทธ ชูแว่น พบว่า นวนิยายกึ่งสัจนิยมมหัศจรรย์เรื่องนี้ ซ่อนสัญลักษณ์ให้ผู้อ่านตีความมากมาย ในที่นี้ขอพูดถึงเฉพาะประเด็นระบบอำนาจในสังคมชนบทไทย

ผมมองว่า ระบบอำนาจในสังคมชนบทไทยยุคระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่โลกาภิวัตน์ ให้ความสำคัญต่อความเชื่อต่อระบบชนชั้น ศาสนา และภูตผี โดยในนวนิยาย ลมฝนกับต้นกล้า ได้สะท้อนผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น
 

 
สัญลักษณ์พระและวัด กล่าวคือ พระมีอำนาจที่จะสร้างศรัทธาเพราะพระห่มจีวร และมีวัตรปฏิบัติที่สังคมเห็นร่วมกันว่าดีงาม และสูงส่งกว่าคนทั่วไป พระจึงได้รับปัจจัย อาหารส่วนที่ดีที่สุด (เมื่อถูกถวายหรือใส่บาตร) โดยไม่ต้องร้องขอ อีกทั้งพระยังมีอำนาจในการเรียกใช้เด็กหรือใครก็ได้ (ในเรื่องนี้ ปรากฏผ่านเรื่องราวที่พระใช้ให้ตัวละครอื่นดายหญ้าในวัด) พระในนวนิยายลมฝนกับต้นกล้า จึงเสมือนสัญลักษณ์ทางอำนาจของศาสนาที่มีต่อสังคมชนบทไทย ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่มีอำนาจต่อสังคมสูง

สัญลักษณ์อำนาจในเรื่องเล่ามหัศจรรย์ ในนวนิยายเรื่องนี้พูดถึงเรื่องเล่ามหัศจรรย์มากมาย เช่น หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ทวดแคล้วเหาะได้ หายตัวได้ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนก่ออำนาจให้แก่ผู้เล่าเรื่อง รวมทั้งตัวเรื่องเล่าเองก็มีอำนาจให้คนเกรงขามในอิทธิฤทธิ์ การใช้อำนาจชักจูง หว่านล้อมให้ทำการใดๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีอำนาจนั้นจึงย่อมทำได้
 

 
อำนาจที่เกิดจากภาพลักษณ์ทางสังคม ภาพลักษณ์ที่ดีกว่าย่อมนำมาซึ่งความเชื่อถือ และอำนาจ บางตอนในนวนิยายเรื่องนี้กล่าวว่า “ตอนนั้นแหละที่เขาจะมีรองเท้าใส่ และอาจได้กางเกงใหม่แทนตัวที่มีรอยปะที่ก้นเสียที เด็กชายยิ้มน้อยๆ คราวนี้เวลาที่สมพงษ์ออกไปเชิญธงชาติหน้าแถวในตอนเช้า ทุกคนจะต้องมองมาที่เขาด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป”

อำนาจอีกประการที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอีกบริบทหนึ่งของสังคมชนบทไทยยุคระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่โลกาภิวัตน์ (ซึ่งอาจหมายรวมสังคมเมืองยุคปัจจุบัน) ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ ความหวาดกลัว ในเรื่อง พูดถึงลูกไฟผี ป้ายที่ครูใหญ่ปักไว้ รวมทั้งความระแวงของเด็กชายที่วิตกจริตว่าจะถูกผู้ใหญ่ และทวดแคล้วมาแย่งปลาช่อน นับเป็นความกลัวการสูญเสียอย่างไร้สติ ราวกับการกลัวการสูญเสียอำนาจทางการเมืองของชนชั้นปกครองไทยในปัจจุบัน (และอดีต)
 

 
ระหว่างความกลัวอย่างไร้สติของเด็กชาย ก็มีสัญลักษณ์ซ่อนในความคิดของเด็กชาย ซึ่งสะท้อนและจิกกัดความจริงในสังคมชนบทยุคก่อนนี้เช่นกัน ดังประโยคในหน้า 116 ที่ว่า “ทีเวลากับพวกผู้ใหญ่แล้ว เห็นมีแต่ตัวเล็กๆ ขี้ไหลทั้งนั้น ที่โยนมาให้เขา” สังคมชนบทยุคก่อนถูกแยกไว้ที่ชั้นล่าง ได้แต่รอรับความช่วยเหลือแบบปลาตัวเล็กๆ ขี้ไหล จากรัฐ รอทรัพยากร ทุน และนโยบายการพัฒนาที่โยนลงมาจากเบื้องบนเท่านั้น (bottom-up)

ในสังคมใดๆ เมื่อประชาชนถูกกระทำจากผู้กุมอำนาจ (รัฐ-นายทุน) จนเกิดความกลัว เจ็บปวดและสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด กระทั่งกลายสู่ความคับแค้น ประชาชนจะถูกแรงขับในใจให้ลุกขึ้นต่อต้าน ในหน้า 181 เมื่อเด็กชายถูกปัญหา และอุปสรรคกระทำต่อเขาทุกทิศทาง จึงคิดขึ้นว่า “…เข้ามาเลย เขาจะไม่หลีกหนีไปไหน เด็กชายรู้สึกมั่นใจและแข็งแรงขึ้นอีกครั้ง บัดนี้เขาเลิกคิดฝากความหวังไว้กับผู้ใด…”

สุดท้าย นวนิยายเรื่องนี้ทำให้ผมถามตัวเองว่า ท่ามกลางสังคมแห่งความขัดแย้งและแบ่งแยก แย่งชิงอำนาจอย่างถึงที่สุดเช่นในเวลานี้ หากใครสักคนอยากจับปลาช่อนมาไว้ในมือสักตัว เขาจะฝากความหวังไว้กับสิ่งใด หรือใคร

ผู้ที่สนใจสามารถรับชมรับฟังบรรยากาศการเสวนาภาษาปักษ์ใต้ความยาวกว่า 2 ชั่วโมงได้จากคลิปวิดีโอ
 
 
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น