xs
xsm
sm
md
lg

44 ปี มีเธอคนเดียว..“ซายูริ” นักเขียน 8 ขวบผู้ชนะเลิศหนังสือดีเด่น!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักเขียนน้อยวัย 8 ขวบ เจ้าของผลงานรางวัลชนะเลิศในการประกวดหนังสือดีเด่น กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเด็กคนแรกที่คว้ารางวัลนี้ในประวัติศาสตร์ 40 กว่าปี!

เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนที่มีอายุน้อยที่สุดของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ สำหรับ “ซายูริ ซากาโมโตะ” หนูน้อยชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เจ้าของผลงาน “บันทึกส่วนตัวซายูริ” ภายใต้การดูแลของมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ผู้เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

หนังสือของซายูริเล่มดังกล่าวได้รับการส่งไปประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กอายุ 6-11 ขวบ ของกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นเลยก็ว่าได้...

• จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น “บันทึกส่วนตัวซายูริ”

พ่อ : ต้องบอกก่อนครับว่าซายูริคลอดก่อนกำหนด คลอดตอนอายุครรภ์ได้ 6 เดือน ตัวยังเล็กอยู่เลย ตอนนั้นอยู่ในตู้อบ ผมก็จะไปหาซายูริทุกวัน แม่เขาก็ออกจากโรงพยาบาลไม่ได้ ผมก็ไปคนเดียว ไม่รู้จะทำยังไง ไม่สามารถจับลูกได้ด้วย ผมก็เลยอ่านหนังสือให้ลูกฟังอยู่นอกตู้

แม่ : ตอนนั้นแม่อยู่ไอซียู ไปไหนไม่ได้ เลยซื้อเครื่องอัดเสียง เล่านิทาน พูดใส่เครื่องอัดเสียงให้พ่อไปเปิดให้น้องฟัง คุณพ่อก็เล่านิทานให้น้องฟังทุกวัน พอเป็นแบบนั้น บ้านเราก็เหมือนติดการเล่านิทาน จะใช้เวลาอย่างน้อยก่อนนอนหรือเวลาว่างๆ อ่านหนังสือให้น้องฟัง ซึ่งพอน้องเริ่มโตขึ้น เราก็ยังเหมือนเดิม แต่ดีกรีมันจะเยอะขึ้น เราอยากหยุดอ่าน แต่ลูกก็ไม่ยอมแล้ว (หัวเราะ)

ซายูริ : ตอนนั้นหนูไม่ให้หยุดอ่าน เพราะหนูยังอ่านเองไม่ได้ค่ะ แต่ตอนนี้หนูอ่านออกแล้วค่ะ

• แสดงว่าคลุกคลีอยู่กับหนังสือมาตั้งแต่แรกเกิดเลย

แม่ : ใช่ค่ะ (ยิ้ม) รู้สึกเหมือนเป็นการใช้เวลาร่วมกันทั้งครอบครัว เพราะพ่อก็ทำงาน แม่ก็ทำงาน น้องก็ไปโรงเรียน เวลาเจอกันก็มีแค่ไม่กี่ชั่วโมง น้องก็ต้องนอนเพื่อที่จะต้องเตรียมตัวไปโรงเรียน เพราะฉะนั้น ตรงนี้เราจะทำยังไงเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน เราเลยเลือกอ่านหนังสือค่ะ หนังสือภาษาไทยบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะภาษาญี่ปุ่น เพราะคุณพ่อจะเป็นคนเล่าก่อนนอน ซึ่งน้องเขาก็เป็นคนที่ชอบหนังสือทุกประเภทเลยนะคะ ถึงจะอ่านออก อ่านไม่ออกก็ชอบ ซึ่งตอนนี้คุณพ่อก็ยังอ่านให้เขาฟังอยู่เหมือนเดิมค่ะ

ซายูริ : หนูชอบหนังสือมาก เพราะหนูคิดว่ามีประโยชน์

• แล้วซายูริเริ่มต้นเขียนบันทึกตอนไหนคะ อะไรบันดาลใจให้เขียน คุณพ่อ คุณแม่บังคับหรือว่าอย่างไรคะ

ซายูริ : หนูเขียนนานแล้วค่ะ หนูเริ่มเขียนหนังสือเป็นตอน ป.1 ค่ะ แต่ตอนแรกหนูเริ่มจากวาดรูปก่อน วาดตั้งแต่ 3 ขวบเลย แล้วค่อยเขียนเป็น ตอนนั้นจะเขียนเป็นแบบหยักๆ แล้วก็วาดรูปมาก่อน

แม่ : เอาจริงๆ คือที่บ้านก็ไม่รู้เหมือนกันว่าน้องเขียนบันทึก มารู้ก็ตอนที่เริ่มเก็บหนังสือ เก็บสมุดต่างๆ เพราะรู้สึกว่ามันเยอะ จะเก็บไปทิ้ง แล้วมาเห็นว่าน้องเขียนบันทึกไว้ ก็เลยแชร์ลงเฟซก่อนตอนแรก แต่ไม่ได้บอกเขาว่าแชร์ลงเฟซ แล้วก็มีช่วงใกล้ๆ กัน ที่สำนักพิมพ์มีโครงการสมุดส่วนตัว ถ้าเด็กคนไหนอยากได้ ให้เขียนจดหมายไป เราก็เลยเห็นว่าพอดีกัน เลยแกล้งให้เขาเขียนที่อยู่ บอกน้องว่าเขาจะแจกสมุดฟรี ถามเขาว่าสนใจไหม ถ้าสนใจเขียนจดหมายไปหา เราก็เอาที่อยู่สำนักพิมพ์วางไว้ให้เขาบนโต๊ะ เจออีกทีเขาก็บอกว่าเขียนจดหมายเสร็จแล้ว แม่ส่งให้หน่อย

ทั้งหมดนั้น เราจะไม่เคยบังคับน้องเลยนะคะ เพราะคิดว่าการบังคับคือมันไม่ได้มาจากตัวเด็ก ถ้าเราเริ่มด้วยการบังคับ พอเขาโตขึ้นมาระดับหนึ่ง เขาจะต้าน แต่ถ้าเขาทำเพราะเขาชอบ ทำยังไงก็ได้ให้เขาชอบ เพราะระยะยาวแค่ไหน เขาก็จะติดมันไปตลอด

• บันทึกส่วนตัว “ซายูริ” เล่มนี้ใช้เวลาเขียนนานแค่ไหนคะ

ซายูริ : นานค่ะ นานพอสมควร (หัวเราะ)
ภาพจากเพจ มกุฏ อรฤดี
• แล้วส่วนใหญ่จะเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้างคะ

ซายูริ : หนูชอบเขียนทุกเรื่อง หนูชอบเรื่องแม่เป็นร่างกาย พ่อเป็นสมอง หนูเป็นหัวใจที่สุด อันนี้หนูเขียนและคิดเองทั้งหมดเลยค่ะ

แม่ : คือแม่รู้สึกว่าเขายังแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร เท่าที่อ่าน เขารู้สึกแบบนี้ คิดแบบนี้เขาเลยเขียนมา อันนี้คือความจริงในความคิดของเขา เราจะได้ยินซายูริพูดเสมอว่าเขียนความจริง เขียนเรื่องที่มันเกิดขึ้นประจำวัน เรื่องที่เขาได้พบเจอ จะได้ยินบ่อยมาก เมื่อก่อนที่ซายูริเขียนบันทึกก็จะบอกว่าวันนี้ฉันทำอะไร มันก็จะเป็นสเต็ปแบบนี้ พอเขาเขียนไปเรื่อยๆ เหมือนเขารู้ว่าต้องตัดอะไรออก เขียนอะไรเพิ่ม คุณแม่ไม่เก่งเรื่องการเขียน เลยบอกไม่ได้ว่ามันดีหรือไม่ดียังไง แต่เราก็รู้สึกว่าเขาใช้คำสั้นๆ แต่เข้าใจง่าย มีความหมาย แต่แม่ไม่รู้ว่าความหมายที่เขาใช้มันลึกซึ้งมากน้อยแค่ไหน เพราะเราไม่ได้อยู่ในวงการหนังสือ ในความรู้สึกเรา เห็นว่าลูกเรียบเรียงเรื่องราว หรือว่าแม้กระทั่งการพูดก็พูดให้เราเข้าใจเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่าเขาพัฒนาขึ้นนะ ยิ่งพอเขาได้เริ่มเขียนบันทึกจริงจัง เราจะเห็นพัฒนาการเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ซายูริและคุณแม่
• การเขียนบันทึกในแต่ละวันของซายูริมีอุปสรรคอะไรบ้างไหม เช่น การสะกดคำต่างๆ

ซายูริ : คุณตา (มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) จะแก้ให้ หนูไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แต่คุณตาจะแก้ให้ค่ะ

คุณตา มกุฏ : ต้องบอกว่าลักษณะการเขียนของซายูริจะเป็นเหมือนบทกวี ในญี่ปุ่นจะเรียกว่าบทกวีไฮกุ จะมีแค่ 3 บรรทัด เพราะฉะนั้น เนื้อหาที่ซายูริเขียนจะอยู่ในราวๆ ไม่เกิน 20 บรรทัด ซึ่งจะมีลีลาของกวีนิพนธ์อยู่ คำที่เรารู้สึกว่าไพเราะจริงๆ ไม่ใช่คำยากเลย เป็นคำง่ายๆ เพียงแต่มันอยู่ถูกจังหวะ จังหวะของคำมันมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เด็กอายุ 8 ขวบ เรายังสอนเขาไม่ได้หรอก เขาต้องรู้ ต้องจับเอาเอง ทั้งบรรยากาศโดยรอบหรือในสิ่งที่ผู้คนคุยกันหรือหนังสือที่เขาอ่าน ซึ่งเราก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเขาไปเรียบเรียงให้มันไพเราะได้อย่างไร เราก็ยังไม่รู้ เพราะตัวพ่อกับแม่ก็ไม่ได้มีการใช้ภาษาอย่างนี้ ภาษาซายูริดีกว่าพ่อกับแม่ด้วยซ้ำ

เราได้ให้สมุดเด็กไปทั้งหมด 1,100 กว่าคนพร้อมกับซายูริ บางคนส่งมา เราก็สงสัยว่าพ่อแม่ช่วยเขียนหรือเปล่า พ่อแม่บอกให้เขียนหรือเปล่า แต่สำหรับซายูริเมื่อเราเจอ เราก็ชวนพ่อกับแม่เขามาแล้วพูดคุยกัน ซึ่งการสนทนากันทำให้เรารู้ว่าพ่อแม่ของซายูริจะมีภาษาอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่ภาษาแบบที่ซายูริเขียน เพราะฉะนั้น เราเลยเชื่อว่าเขาคิดเอง พอคุยไปนานๆ เราก็ได้เห็นว่าเขาคิดเองจริงๆ

แม่ : บางทีเขามีคำถามที่คุณแม่ตอบเขาไม่ได้ ก็ไม่รู้จะทำยังไง เขาอยากได้คำตอบมาก ส่งข้อความมาหาคุณตามกุฎ ซายูริจะชอบมาหาคุณตาเพราะคุณตาจะมีคำตอบให้เขาเสมอ โดยที่คุณแม่ไม่ค่อยมี แม่ไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือบางเรื่องรู้ แต่จำไม่ได้ เขาเป็นเด็กที่พอถามแล้วต้องการคำตอบ บางคำศัพท์ที่เขาถาม บางทีมันยากสำหรับเรา เขาจะเป็นเด็กที่ชอบอ่านตลอด พออ่านแล้วมาถาม ถ้าเราให้คำตอบไม่ได้ เขาก็จะมาอ่านใหม่อ่านซ้ำๆ อยู่แบบนั้นค่ะ หรือไม่บางทีก็มีหาคำตอบด้วยตัวเองบ้าง เปิดอ่านจากพจนานุกรม ด้วยความที่เขาอยากรู้เขาจะทำเอง แต่ก็โชคดีมากที่มีคุณตาเข้ามาช่วยด้วยเยอะมาก

• เห็นว่าบันทึกส่วนตัว “ซายูริ” ได้รางวัลชนะเลิศประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็ก รู้สึกอย่างไรบ้าง เพราะหลายคนอาจจะมองว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะเขียนหนังสือขึ้นมาว่ายากแล้วแต่นี่ได้รางวัลด้วย

แม่ : ใช่ค่ะ เห็นคุณตามกุฎ อรฤดี (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) บอกว่าเป็นงานประกวดหนังสือดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นงานประจำปีซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 44 หนังสือของซายูริส่งประกวดประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กอายุ 6-11 ขวบ ซึ่งแต่เดิมมีแต่นักเขียนผู้ใหญ่ นักเขียนอาชีพที่ได้รางวัล แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เด็กได้รางวัล ซึ่งรางวัลชนะเลิศบางปีก็ไม่มี หมายความว่าไม่มีหนังสือดีพอที่จะได้รางวัลชนะเลิศ นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เด็กอายุ 8 ขวบ ได้รางวัลชนะเลิศ

พูดจริงๆ ด้วยความเป็นพ่อแม่ ทีแรกก็ตื่นเต้นนะคะ ไม่คิดว่าลูกจะมีบันทึกด้วย ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ที่หนังสือตีพิมพ์ เราดีใจจากที่ลูกเขียนหนังสือไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็มาเริ่มเล่าเรื่องได้ เรารู้สึกตื่นเต้นกับพัฒนาการของลูกมากๆ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว (ยิ้ม)

ซายูริ : ส่วนหนูรู้สึกอายนิดหน่อย แต่ก็ดีใจ อายเรื่องที่ได้รางวัล แต่หนูไม่เคยเห็นรางวัลมาก่อน (หัวเราะ)
มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อกับซายูริ
• ถ้าจะพูดไปแล้วอย่างนี้ก็หมายความว่าตัวหนังสือสามารถสร้างพัฒนาการให้กับเด็กได้ใช่ไหมคะ

แม่ : ถ้าจากมุมมองที่บ้าน แม่ว่าชัดเจน การที่ให้เด็กเริ่มเขียน ทำให้เด็กรักการอ่าน จากในบันทึกบางหน้า เขามีการเขียนถึงหนังสือที่เขาอ่านด้วย เหมือนว่าเขาอ่านหนังสือเพื่อที่จะเอามาเขียนบันทึก เราจึงรู้สึกว่าการเขียนมันเชื่อมโยงทำให้เด็กอยากอ่านอยากรู้มากขึ้น มันมีพัฒนาการทางสมอง การอ่านทำให้เด็กใช้พัฒนาการทางความคิด แต่ว่าสื่อทั่วไปมันเป็นเหมือนบทสรุป เด็กไม่ได้ใช้กระบวนการคิดเท่าไร แต่สำหรับการอ่านหนังสือ อ่านเสร็จคุณต้องคิดวิเคราะห์ว่าในหนึ่งประโยคหมายความว่ายังไง เราก็เลยรู้สึกว่าหนังสือเป็นการพัฒนาให้เด็กดีที่สุดแล้ว

เราก็ไม่เคยมีลูกมาก่อน จะบอกว่าการเลี้ยงลูกไม่มีถูก ไม่มีผิด มันอยู่ที่สไตล์ของพ่อแม่แต่ละคนว่าอยากเลี้ยงลูกแบบไหน อย่างเรา เรามองกันตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่าการยื่นสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ความคิด คือเด็กนิ่งจริง มันสนุก มันมีให้เลือกหลากหลายจริง แต่เราก็คิดว่ามันไม่ใช่

ซายูริชอบคิดอะไรแปลกๆ บางทีเราก็งงว่าเขาเอาคำแปลกๆ พวกนี้มาจากไหนเพราะเขาจะมีวิธีคิดแปลกๆ มีวิธีหาอะไรเล่นแปลกๆ อย่างวันแรกที่เขาเจอแว่นขยายเขาก็จะเอาสมุดมากางแล้วลองเขียนตัวหนังสือแล้วดูผ่านแว่นขยาย ซึ่งเขาจะบอกว่าเขาจะเขียนหนังสือให้ตัวเล็กที่สุดในโลกที่อ่านด้วยตาไม่เห็นแล้วใช้แว่นขยายส่องดู อะไรประมาณนี้ค่ะ (หัวเราะ) เราก็งงกับลูกนะว่าเออเขาคิดได้ยังไงตัวแค่นี้เอง

อย่างเรื่องเรียน ซายูริถือว่าเรียนปานกลางนะคะ และไม่ได้เรียนพิเศษหรือเรียนเสริมอะไร เวลาสอบที่บ้านจะรู้สึกโอเคมาก เพราะลูกไม่ได้เรียนพิเศษ แต่ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเวลาเรียนลูกเข้าใจ

• สมัยนี้จะว่าไปแล้วเท่าที่เห็นเด็กอ่านหนังสือน้อยลงมาก ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่คิดเห็นอย่างไรบ้างคะ แล้วเรามีเคล็ดลับอย่างไรให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านการเขียนคะ

แม่ : ต้องบอกก่อนว่าซายูริ เป็นเด็กสมาธิสั้นมาก เขาจะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เลย เขาเป็นมาตั้งแต่เล็ก จุดเริ่มต้นจากกระดาษและสมุด มาจากตรงนี้เลย รู้สึกว่าเขาไม่ได้สนใจของเล่นเลย มาจากตอนไปทานข้าว รู้สึกว่าลูกไม่นิ่ง อยู่มาวันหนึ่งเรากลับจากโรงพยาบาล เราหิวข้าวมากแล้วจำเป็นต้องไปกินข้าวร้านอาหาร อยู่ๆ วันนั้นลูกดึงทิชชูขึ้นมาแผ่นเดียว แล้วนั่งแบบนั้นอยู่อย่างนั้น 2 ชั่วโมง เลยทำให้เรารู้ว่าลูกอยู่นิ่งได้กับกระดาษ จากนั้นมาก็เลยไปลองอีก คราวนี้ยื่นกระดาษให้ เขาก็นั่งดูกระดาษอยู่นานมาก เราเลยลองหยิบดินสอ เขาก็อยู่ได้นานมากๆ อีก เราเลยรู้ว่าสิ่งนี้แหละที่ทำให้ลูกนิ่งได้ พออยู่กับหนังสือสมุดเขาจะนิ่งไปเลย

พ่อ : สำหรับประเด็นที่ว่าทุกวันนี้เด็กอ่านหนังสือน้อยลง ผมเห็นด้วยนะครับ เพราะสมัยนี้ใช้ดิจิตอล คอมพิวเตอร์แล้ว ก็มีโทรทัศน์ เสพง่าย คนเลยชอบอะไรง่ายๆ แต่อันนี้มีปัญหาตรงที่ด้านพัฒนาความคิดของคนทั่วไป ผมรู้สึกอย่างนั้น เพราะธรรมดาคนใช้สมองคิด เวลาคิดก็ใช้ตัวหนังสือ คือต้องมีคำศัพท์ก่อนถึงจะมีความหมาย คำศัพท์ก็ต้องมาจากตัวหนังสือ ไม่ใช่ว่ามีภาพแล้วมีความหมาย เพราะหนึ่งภาพ หลายคนก็คิดหลายความหมาย

แม่ : ง่ายๆ นะคะ ที่บ้านจะไม่หยิบยื่นเทคโนโลยีที่เร็วให้เขา คือไปข้างนอกถึงเด็กโวยวายเราต้องทน ส่วนหนึ่งถ้าเราฝึกมาตั้งแต่เล็กเขาจะไม่โวยวาย ไม่ต้องการสิ่งเร้าอื่นๆ อย่างยูริ ถ้าเขาเริ่มเบื่อเราจะยื่นสมุด ยื่นดินสอ ทำแบบนี้ตั้งแต่เล็กมากๆ คือใช้ยื่นแบบนี้ให้ พอเขาเริ่มอ่านหนังสือได้ เวลาออกไปข้างนอก เราจะไม่พกของเล่น เราจะพกหนังสือไปแทน ซึ่งเวลารอพ่อแม่ทำอะไร ลูกก็จะหยิบหนังสือที่เขาชอบขึ้นมาอ่านเอง
คุณพ่อ คุณแม่ซายูริ
• ถามซายูริหน่อยค่ะว่าเขียนบันทึกทุกวันเลยหรือเปล่าคะ วันหนึ่งเขียนมากน้อยแค่ไหน

ซายูริ : เขียนทุกวันค่ะ วันละ 2 เรื่อง จะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีหรือเปล่าไม่แน่ใจ (หัวเราะ) หนูชอบเขียนสิ่งที่หนูเคยเจอ หรือไม่ก็วันนี้ทำอะไรบ้าง หนูเขียนสิ่งที่เป็นความจริง ตอนไปเที่ยวต่างจังหวัดหนูก็จะเอาสมุดไปเขียนและวาดรูปด้วย หนูจะพกสมุดไป 3 เล่ม ดินสอ 20-30 แท่งเหลาให้แหลมๆ เผื่อหักค่ะ

• แล้วมีเบื่อบ้างไหมตามประสาเด็ก มีอารมณ์แบบ..เขียนไม่ออกบ้างหรือเปล่า

ซายูริ : ไม่มีค่ะ หนูรู้ว่าหนูจะเขียนอะไร อย่างเมื่อก่อน หนูเคยให้คุณพ่อดูสมุดบันทึกของหนู แต่เดี๋ยวนี้พ่ออ่านหนังสือไทยได้ เลยไม่ให้ดูเลย ตอนนี้หนูก็ยังเขียนอยู่หลายเรื่องเลยค่ะ แทบบอกไม่ถูก (หัวเราะ)

ตอนนี้หนูเริ่มเขียนนิทานเรื่องนางกินรีอยู่ค่ะ แต่ไม่มีเขียนว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตอนนี้เขียนใกล้เสร็จแล้วค่ะ

• ทำไมซายูริถึงรักการเขียนคะ มีเหตุผลอะไร

ซายูริ : เพราะว่าสมุดบันทึกเป็นเพื่อนหนูในจินตนาการ สมุดบันทึกทำให้รู้จักเรื่องราวของตัวเอง เวลาเขียนบันทึกช่วยให้เราจำอดีตได้
ซายูริและครอบครัว
• เพื่อนรู้ไหมว่าซายูริชอบเขียนหนังสือ

ซายูริ : เพื่อนรู้ค่ะ ก็มีเพื่อนที่อยากเขียนตามหนูเหมือนกัน เพื่อนชื่อแตงกวาแล้วก็มีใบเตยค่ะ ใบเตยเขียนสมุดบันทึกของตัวเอง เขียนแบบไม่ต้องให้ใครช่วย แต่ให้พ่อแม่บอกว่าวันนี้วันอะไร ทำอะไร

แม่ : คือเขาจะส่งบันทึกของเขามาให้ บอกว่าพอได้อ่านบันทึกซายูริ ลูกเขายอมเขียนบันทึกด้วยเลยนะ เลยส่งมาให้ดูทุกวันว่าวันนี้ลูกเขียนทุกวัน แตงกวาเป็นเพื่อนรักยูริ เขียนจดหมายหากันตั้งแต่อยู่อนุบาล ตอนนั้นเขาเขียนได้น้อย ได้ประมาณว่าฉันรักเธอ เธออยากมาบ้านฉันไหมอะไรทำนองนี้ค่ะ สองคนนี้จะเขียนหากันตลอด แม้กระทั่งก่อนปิดเทอม เขาก็จะเขียนหากัน พอแตงกวารู้ว่าซายูริเขียนบันทึก เขาก็เขียนบันทึกบ้าง เขาก็จะเล่าเรื่องเล่าซึ่งกันและกัน

ซายูริ : แตงกวาถามหนูว่าอยากมาบ้านฉันไหม แล้วหนูก็ตอบไปว่าอยากไป (หัวเราะ)

• ซายูริอยากบอกเพื่อนรุ่นเดียวกันให้หันมารักการอ่าน การเขียนอย่างไรบ้างคะ

ซายูริ : อยากให้เพื่อนๆ ลุกขึ้นมารักการอ่าน อยากให้เพื่อนๆ รักการเขียนบันทึก เพื่อนๆ จะได้รู้จักอดีตของตัวเอง

• แล้วถ้ามีคนไม่ชอบอ่านหนังสือเลย ซายูริจะบอกเขาว่ายังไงบ้างคะ

ซายูริ : บางคนก็เก่ง บางคนก็ไม่เก่ง อ่านหนังสือแล้วจะเก่งขึ้น แต่ถ้าเขาไม่ชอบ ก็ไม่ต้องทำอะไร เขาก็ไม่เก่งสิ แต่คุณครูสอนเขาอยู่แล้ว
ซายูริและครอบครัว
• จะว่าไปแล้วได้อะไรจากการอ่านและการเขียนหนังสือบ้าง

ซายูริ : สนุก ได้ความรู้ ได้ประโยชน์ค่ะ ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือ หนูจะอยู่นิ่งไม่ได้ เลยต้องอ่านหนังสือ

• แล้วซายูริชอบอ่านหนังสือประเภทไหนคะ ชอบเล่มไหนเป็นพิเศษไหมคะ

ซายูริ : หนูชอบประวัติคนค่ะ เพราะว่ารู้สึกมีประโยชน์ค่ะ หนูชอบเรื่อง “ดอน กิโฆเต้” (ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน) หนูชอบเพราะเขาเป็นอัศวินและเป็นหนอนหนังสือ

แม่ : ขาชอบอ่านหนังสือทุกแนวนะคะ แต่เท่าที่สังเกต เขาจะชอบพวกประวัติผู้คนหรืออ่านเป็นการ์ตูน แต่เขาก็ดึงประโยชน์ออกมาใช้ได้ ส่วนใหญ่เขาจะชอบอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือ ภาพน้อยเขาก็อ่านได้ จะเป็นแนวที่ผู้ใหญ่อ่าน แม่ก็ไม่ค่อยรู้ แม่เลยไปหาซื้อฉบับการ์ตูนมาอ่าน เพราะแม่ไม่ค่อยชอบการอ่านหนังสือที่เป็นตัวหนังสือเยอะๆ เท่าไหร่ เพราะว่ามันจะมีแต่คำศัพท์ยากๆ ที่เราไม่สามารถอธิบายลูกได้

ซายูริจะอ่านหนังสือได้หลายประเภท หนักเบาอ่านหมด การ์ตูน นิทาน ชีวประวัติคน หรือแม้แต่เสาจารึกที่ศาลหลักเมืองเขาก็อ่าน อ่านแล้วเอามาเขียนในสมุดบันทึกแล้วก็ลงท้ายว่าแปลว่าอะไร อันไหนที่เขาไม่เข้าใจก็จะเขียนบันทึกเอาไว้ว่าแปลว่าอะไร บางเรื่องที่เขาเขียนเราก็งงนะว่าเขาเอามาจากไหน เพราะบางเรื่องหนังสือที่บ้านก็ไม่มี ซึ่งเขาก็บอกมาว่าบางทีเขาก็เจอมาจากร้านหนังสือ เจอในห้องสมุด ซายูริจะเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือเล่มเดิมตลอดอย่างอยู่ร้านหนังสือสองชั่วโมงก็จะอ่านแต่เล่มนั้น อ่านจนจำได้บางเล่มที่เขาอ่านเล่มใหญ่มากๆ เลยนะ อย่างหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ที่ทรงนิพนธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซายูริก็อ่าน ซึ่งหนามาก เป็นผู้ใหญ่ก็อ่านแทบไม่ไหว
ซายูริและครอบครัว
• มีกิจกรรมอื่นๆ ที่ซายูริชอบทำนอกจากการอ่านและการเขียนหนังสือบ้างไหมคะ

แม่ : ที่บ้านก็พาน้องทำให้เขารู้ว่าเขาชอบอะไร อย่างชกมวยบ้าง ว่ายน้ำบ้าง ลองทุกอย่างว่าเขาชอบอะไร ตอนนี้เขาก็อยากเต้นบีบอย เพราะเขาไปเห็นจากในห้างสรรพสินค้า เขาอยากลองว่าแบบนี้เขาจะทำได้ไหม ซึ่งเขาอยากทำอะไรแม่ก็จะให้ลองดู อย่างที่บ้านเคยปั้นดินเผา ปั้นทุกวันเลยตอนนั้น 2 ชั่วโมงเขาก็อยู่ได้ ซายูริจะชอบมากแต่ตอนนี้ด้วยความที่หาซื้อดินไม่ได้ก็เลยต้องหยุดไป

ซายูริ : ตอนนี้หนูอยากเต้นบีบอย เท่ๆ (ยิ้ม)

• อนาคตคิดว่าจะเป็นนักเขียนอาชีพไหม ความฝันของซายูริคืออะไร

ซายูริ : หนูอยากเป็นนักเขียนแล้วก็สถาปนิกค่ะ

แม่ : ที่บ้านจะไม่เคยมองอนาคตเลย ดูวันต่อวันจริงๆ คือไม่เคยคิดว่าลูกจะต้องเป็นอะไรยังไง เราไม่เคยคิด เราไม่รู้ว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร จะชอบยังไง แต่ ณ เวลานี้ เรารู้ว่าลูกชอบเขียน พ่อแม่ก็มีหน้าที่สนับสนุนค่ะ











Profile

Profile
ชื่อ สกุล : ซายูริ ซากาโมโตะ
ชื่อเล่น : หนูมะลิ
อายุ : 8 ปี
การศึกษา : ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนราชินีบน
ผลงาน : บันทึกส่วนตัว "ซายูริ"




 

 

ซายูริและครอบครัว
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์

กำลังโหลดความคิดเห็น