xs
xsm
sm
md
lg

ข้อสรุปวงคุย “สันติภาพจอมปลอมฯ” ที่ ม.อ.ปัตตานี แค่ “นักสิ่งแวดล้อม-นักสิทธิ” ขอให้ จนท.รัฐเข้าใจการทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เผยบทสรุปที่ได้จากเวทีเสวนาวิชาการ “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” ที่จัดขึ้นอย่างทุลักทุเลใน ม.อ.ปัตตานี เพียงต้องการส่งเสียงให้รู้ว่า พวกเขาทำหน้าที่ประสานความเข้าใจประชาชนกับเจ้าหน้าที่ อย่ามองว่าเอาแต่ต่อต้านรัฐ แค่ต้องการพื้นที่ทำงาน ช่องทางสื่อสาร เน้นสันติวิธี  ไม่ใช้ความรุนแรง
 
ช่วงบ่ายวันนี้ (21 มิ.ย.) ที่บริเวณลานใต้อาคารคณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ได้ได้ตัดสินใจเปิดเวทีเสวนาสาธารณะทางวิชาการในหัวข้อ “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” หลังต้องย้ายสถานที่จัดจากห้อง B310 ซึ่งอยู่ชั้น 3 ของอาคาร วสส. ด้วยถูกคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งกดดันผ่าน รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ม.อ.ให้ยุติการจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการดังกล่าว
 
ทั้งนี้ แม้จะต้องเปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรมทางวิชาการ แต่ผู้เข้าร่วมล้อมวงเสวนาสาธารณะก็ยังคงคึกคักตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในส่วนของวิทยากร ได้แก่ นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนปัตตานี-สงขลาไม่เอาถ่านหิน นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงานเครือข่าย PERMATAMAS น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒธรรม น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และนายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี ดำเนินรายการโดย น.ส.นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี และสื่อมวลชนผู้เชี่ยวชาญภาคใต้
 

 
น.ส.นวลน้อย กล่าวนำว่า วันนี้มีเหตุทำให้วงเสวนาต้องผิดเพี้ยนไปจากเดิม แต่สถานการณ์แบบนี้ต่อไปอาจจะถือกันว่าเป็นเรื่องปกติ ประเด็นสำคัญของการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อนักสิทธิมนุษยชน นักสิ่งแวดล้อม และนักเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาเรื้องรังที่กระทบสิทธิทางด้านการเมือง รวมถึงผลกระทบจากโครงการที่พัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ และมีหลายเรื่องราวที่สื่อมวลชนไม่อาจบอกเล่าได้ครบถ้วนว่าเกิดอะไรขึ้น มีแต่ต้องล้อมวงร่วมกันแสวงหาความจริงเท่านั้น
 
“เวทีเสวนาที่ได้จัดขึ้นวันนี้ ต้องขอขอบคุณเจ้าของสถานที่ ถึงแม้อาจจะมีปัญหา และเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ประกาศห้าม แค่โทรศัพท์ไปหาอธิการบดี ม.อ. แต่ทางนักวิชาการคิดว่า เราคงต้องเดินหน้าจัดงานในรูปแบบเดิม เพราะมีปัญหามากมายที่ต้องการจะบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้ว่า สำหรับคนทำงานแล้ว ถ้าเราจะทำงานในสถานการณ์แบบนี้เราจะต้องจัดการอย่างไร” น.ส.นวลน้อย กล่าว
 
น.ส.อัญชนา กล่าวนำเสวนาเป็นคนแรกว่า ตนเป็น 1 ใน 3 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความดำเนินคดี เพราะกลุ่มด้วยใจทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านการทรมานผู้ต้องหาและเด็ก สถานการณ์ที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมถูกละเมิดสิทธิเริ่มจริงจังหลังตนจากกลับจากการประชุมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไอร์แลนด์ โดยสังเกตจากถ้ามีการจัดกิจกรรมของกลุ่มด้วยใจเมื่อไร ก็จะมีคนทำเพจออกมาต่อต้านทันที อีกทั้งมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำลายข้าวของชาวบ้านเวลามีการปิดล้อมตรวจค้น
 
“หลังจากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว เราก็ได้เข้าไปเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบ มีการถามพูดคุยประเด็นต่างๆ แล้วมีชาวบ้านบอกกับเราเรื่องราวของการถูกละเมิดให้เราฟัง รวมถึงยังมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์คุกคามกันด้วย แล้วก็นำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีเพื่อต้องการให้นักพัฒนาหรือนักเคลื่อนไหวหยุดการส่งเสียง หลังจากนั้น ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวการละเมิดในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป้าหมายในพื้นที่นี้คือ การสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น”
 
น.ส.พรเพ็ญ บอกเล่าว่า ตนเคยเป็นล่ามเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ทำหน้าที่สารเสวนาให้แก่ผู้แทนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะในประเด็นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความรุนแรง อย่างเรื่องมีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ล่าสุด ทำเรื่องมีผู้ถูกอุ้มหาย ซึ่งเมื่อมีการคุกคามของคนหนึ่งคน แต่จะส่งผลกระทบตามมาต่อคนหลายคน ยกตัวอย่างกรณีของนายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินของตังเองที่แก่งกรระจาน บิลลี่ เป็นผู้ช่วยทนายความ คอยช่วยสื่อสารระหว่างชาวบ้าน
 
“การฟ้องคดีไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เพื่อคุกคามเท่านั้น บริษัท และนายทุนเขาก็ใช้วิธีนี้กันด้วย อย่างมีการฟ้องร้องในคดีความเกี่ยวกับความผิดของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นคดีอาญา และมีความยุ่งยากในการฟ้องคดีมาก แม้กฎหมายจะพยายามป้องกันไม่ให้มีการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง แต่บรรดานักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของวิธีการเหล่านี้ เมื่อถูกการฟ้องร้องก็ส่งผลให้เนื้อหาเรื่องนั้นไม่ถูแก้ไข นักสิทธิมนุษยชนทำงานเพื่อให้วังคมเกิดความสันติสุข สำหรับการทำงานกับเจ้าหน้าที่อาจจะมีปัญหาเพียงแค่พกตำรากันคนละเล่ม”
 

 
ส่วนนายอนุกูล ในฐานะทนายความได้กล่าวว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพและความคิดเห็นได้รับความคุ้มครองโดยธรรมชาติและตามกฎหมายด้วย ส่วนเรื่องที่นักสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามนั้น ถ้ามองในเชิงโครงสร้าง และระบบแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนเพียงคนเดียว แต่เป็นปัญหาของสังคมด้วย ดังนั้น หากมีปัญหาการซ้อม และทรมานผู้ถูกควบคุมเกิดขึ้นจริง ก็อยากให้คนของรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน และถ้าผิดก็ต้องถูกลงโทษ
 
เป็นเรื่องปกติที่นักสิทธิมนุษยชนต้องหากลไกเข้าไปดูแลการทำงานของภาครัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ หรือการใช้ความรุนแรง แต่สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่มองว่านั่นเป็นเรื่องของการปกป้อง แต่กลับมองไปว่าเป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ การซ้อม และทรมานผู้ต้องหาไม่ใช่เรื่องของกระบวนการยุติธรรม การทรมานเป็นปัญหาและทำให้เกิดการแก้แค้น ยกตัวอย่างกรณีคนพิการถูกทำร้าย เป็นประเด็นท้าทายทางกฎหมาย ความเห็นในสังคมที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ เวทีทางวิชาการสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ดีขึ้นได้
 
ด้าน นายดิเรก ให้ความเห็นว่า การที่ตนเคลื่อนไหวคักค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผ่านมา ตนไม่ได้ทำอะไรมากมายเหมือนที่สังคมสงสัย เพียงแค่ตั้งคำถามต่อรัฐว่า ทำไมต้องมาสร้างปัญหาให้เกิดผลกระทบต่อทะเล ต่อแผ่นดินที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ทำไมต้องเอาโครงการที่สร้างมลพิษมาให้ประชาชน แต่คำถามเหล่านี้ไม่เคยได้รับคำตอบ
 
“กว่า 2 ปีที่ผ่านมารัฐพยายามที่จะปิดกั้นการรับสู้ของประชาชน เอากำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปกดดัน มีการห้ามจัดเวทีต่างๆ และไม่มีสิทธิที่จะส่งเสียงถึงความเป็นกังวลต่อผลกระทบที่จะได้รับ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี ถ้าคนเทพาไม่สามารถที่จัดจะเวทีอะไรได้เลย เพียงแค่อยากจะทำหน้าที่ปกปักรักษาแผ่นดินที่อยู่อาศัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่ได้ ผมว่าถึงวันนี้เราเราต้องหยุดกระบวนการทำละเมิดของรัฐในทุกๆ ด้านแล้ว”
 

 
ขณะที่ นายตูแว กล่าวว่า ตนเพียงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้พี่น้องประชาชน และทำมาตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา ข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นให้ทหารถอนตัวออกจากพื้นที่ และถอนกฎหมายพิเศษออกทั้งหมดด้วย นับตั้งแต่ช่วงปี 2547 หลายกิจกรรมของชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม แต่กลับกลายเป็นเหตุทำให้ต้องได้รับผลกระทบมากมาย อย่างกรณีครูตาดีกาถูกจับตัวไป และถูกซ้อม ผู้ใหญ่บ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรจนเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิต ขณะที่ทหารกลับเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความรุนแรง
 
การตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ว่าที่ อ.เทพา จ.สงขลา หรือที่ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ไม่ใช่แค่ประชาชนในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบ แต่ยังกระจายเป็นวงกว้าง อย่างแต่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีพรมแดนติดต่อกัน อ.เทพา กระบวนการสอบถามความเห็นทำไมไปขัดขวางผู้คนใน อ.หนองจิก แท้จริงแล้วสันติภาพขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม ทางเครือข่ายประชาสังคมเห็นถึงความจำเป็นว่าจะต้องเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย มีการรณรงค์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในการปกป้องคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมของเขา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงท้ายวงเสวนาสาธารณะทางวิชาการครั้งนี้ได้มีการสรุปในประเด็นสำคัญๆ ของการพูดคุยไว้ ประกอบด้วย 1.ขอบคุณสถาบันการศึกษาเจ้าของถานที่ที่ไม่ขัดขวาง แม้ก่อนหน้าจะถูกกดดันอย่างหนักจากฝ่ายทหาร 2.ผู้ร่วมวงเสวนาเห็นร่วมกันว่า นักสิทธิมนุษยชน และนักสิ่งแวดล้อมพวกเขาเพียงทำหน้าที่ประสานให้เกิดความเข้าใจร่วมระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่ควรมองว่าพวกเขาเอาแต่จะต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ 3.พวกเขาต้องกรพื้นที่ในการทำงาน 4.พวกเขาต้องการช่องทางการสื่อสาร และ 5.พวกเขาล้วนทำหน้าที่เพื่อก่อให้เกิดสันติวิธี โดยไม่ใช้ความรุนแรง
 


--------------------------------------------------------------------------------
 
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
 
 
- เริ่มแล้ววงเสวนา “สันติภาพจอมปลอมฯ” ใช้ลานใต้ตึก วสส.ใน ม.อ.ปัตตานี ชี้คุกคามเอ็นจีโอ-ดันโรงไฟฟ้าถ่านหินคือ “ภัยแทรกซ้อนไฟใต้”
 
- ด่วน! ทหารตบเท้ากดดันอธิการห้ามจัดเสวนา “สันติภาพจอมปลอมฯ” ที่ ม.อ.ปัตตานีบ่ายนี้
 
- เชิญร่วมเสวนา “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมฯ” 21 มิ.ย.นี้ ที่ ม.อ.ปัตตานี
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น