สตูล - ชาวเลรุกคืบ รอง ผวจ.สตูล สั่งท้องถิ่นเจรจาเอกชนเปิดทางสาธารณะ ทหารเรือยันการวางทุ่นทะเลทำเพื่ออนุรักษ์ปะการัง ส่งเสริมความปลอดภัยด้านท่องเที่ยว พร้อมออกตัวช่วยชาวเลหากถูกเอกชนห้ามจอดเรือหน้ารีสอร์ต กสม.วอนจังหวัดเคารพสิทธิชาวเล
วันนี้ (13 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล นายสรเดช สุนทรารชุน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานการประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสถานะกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตัวแทนจังหวัดสตูล ทหาร ตำรวจ และสำนักงานอุทยานแห่งชาติตะรุเตา คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ภายหลัง กสม.ได้ลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงจากภาคประชาชนมาแล้วเป็นเวลา 2 วัน
และได้รับรายงานสภาพปัญหาในชุมชนหลายด้าน เช่น เรื่องที่ดินอยู่อาศัย ที่ทำกิน และการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะ โดยใช้เวลาประชุมร่วมกันประมาณ 3 ชั่วโมง ได้ข้อสรุป 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.กรณีการจัดระเบียบการจอดเรือนั้น ตัวแทนทหารเรือยืนยันว่า จำเป็นต้องมีจุดวางทุ่นอนุรักษ์ปะการัง และกันเขตดำน้ำ เขตว่ายน้ำในหาดพัทยา หรือหาดปาไตดาหยา และหาดซันไรส์ด้านตะวันออก บริเวณใกล้กับโรงเรียนบ้านอาดัง และมีขนาดที่เหมาะสมแล้ว และยืนยันว่าบริเวณอื่นที่ไม่มีการวาทุ่น ชาวเลมีสิทธิจอดเรือตามปกติ ทหารจะเป็นฝ่ายปราบปรามผู้มีอิทธิพลทันทีหากพบว่าเอกชนคุกคามชาวเล
2.กรณีการขอซ่อมบ้านชาวเลในกลุ่มที่ถูกไล่รื้อ และฟ้องร้องดำเนินคดี และการแก้ปัญหาทางสาธารณะ ทางประธานที่ประชุมเสนอให้ตัวแทนชาวเลร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล และมอบหมายให้ฝ่ายปกครองท้องถิ่นเจรจากับเอกชนขอซ่อมบำรุงบ้านได้ตามปกติ ส่วนกรณีการปิดทางสาธารณะนั้น ให้เจรจาเอกชนขอเปิดทาง หรือสร้างประตูขึ้นแทนกำแพงคอนกรีต 3.ปัญหาข้อพิพาททางที่ดินนั้น ทางสำนักงานอุทยานแห่งยานแห่งชาติตะรุเตา จะเป็นผู้สรุปข้อมูลเพิ่มเติม และดำเนินการตรวจสอบต่อไปตามกระบวนการกฎหมาย
นายสรเดช กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่อย่างโปร่งใสเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และขอขอบคุณชาวเลเกาะหลีเป๊ะที่ได้นำปัญหามาร้องเรียนจนก่อเกิดการประชุมทุกฝ่าย และได้ข้อยุติที่เป็นที่พอใจ และขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเกาะหลีเป๊ะ
นางแสงโสม หาญทะเล ครูประจำโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง และตัวแทนชาวเลหลีเป๊ะ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาเร่งด่วนดังกล่าว หากทุกฝ่ายปฏิบัติได้จริงก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านได้อย่างมาก เพราะปัญหาชาวเลมีหลายส่วน กรณีข้อพิพาทที่ดินที่เป็นปัญหาเรื้อรัง อยากขอให้ทุกฝ่ายตรวจสอบอย่างเป็นธรรมต่อไป
นายชัยยุทธ์ หาญทะเล กล่าวว่า เรื่องความขัดแย้งพื้นที่จอดเรือระหว่างชาวเลกับรัฐ ชาวเลกับเอกชน บางครั้งสร้างความกังวลอย่างมาก เพราะตนเคยถูกลักลอบตัดเชือกผูกเรือมาแล้วหนึ่งครั้งช่วงที่จอดเรือหน้ารีสอร์ตแห่งหนึ่ง เพราะไม่มีที่จอด เนื่องจากบริเวณวางทุ่นหลายแห่งนั้นทหารห้ามจอด ชาวบ้านไม่กล้าฝ่าฝืนก็เสี่ยงไปจอดที่ใหม่ ครั้นพอไปจอดตรงกับหน้าหาดของรีสอร์ตบางแห่งกลับถูกข่มขู่ กระทั่งถูกลักลอบตัดเชือกทิ้ง โดยไม่ทราบว่าใครทำ จากนั้นชาวเลนับ 10 ราย ต้องออกเงินซื้อเชือกใหม่ราคานับเป็นหมื่น ความเดือดร้อนตรงนี้ไม่มีใครเยียวยา และปัจจุบัน ก็ยังมีเอกชนหลายรายไล่ให้ชาวเลเอาเรือออกไปจากบริเวณหน้าหาดของรีสอร์ต
นายวินัย หมื่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล กล่าวว่า มีปัญหาการจอดเรือมีปัญหาอยู่จริงแต่ไม่รุนแรง โดยปีที่แล้ว ในอ่าวพัทยา และอ่าวฝั่งตะวันตก ทางสำนักงานร่วมมือกับหลายฝ่ายจัดระเบียบแล้ว โดยตกลงกำหนดจุดจอดเรือ วางทุ่นเล่นน้ำ และจัดระเบียบได้ดีแล้ว แต่ปัญหาล่าสุดคือ ปัญหาหาดหน้าโรงเรียนบ้านอาดัง การจัดที่จอดเรือเป็นหน้าที่ของทหารเรือในท้องที่ และสำนักงานเจ้าท่า ซึ่งเชิญตัวแทนชาวเล ผู้ประกอบการ และหลายฝ่ายมาคุยกันแล้ว โดยเสนอแนวคิดว่าร่องน้ำมี 3 แห่ง มีการประกาศเขตจอดเรือแล้ว เนื่องจากพบปะการังมีความเสียหายในหาดจึงจำเป็นต้องเร่งรัดจัดระเบียบ แต่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องวางทุ่นเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวก่อน ส่วนแนวทางระยะยาวนั้นจะหารือรอบใหม่
ด้าน นาวาตรีวีระพงษ์ นาคประสิทธิ์ ผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 491 (หลีเป๊ะ) กองทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า เรื่องของการวางทุ่นไข่ปลา กำหนดเขตว่ายน้ำ ดำน้ำปะการัง เป็นการอนุรักษ์โดยมีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มีการจัดระเบียบเรือเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้จังหวัดสตูล ซึ่งเราจัดระเบียบสำเร็จแล้วที่หาดพัทยา แต่กรณีหาดด้านตะวันออกนั้นยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การจัดระเบียบจอดเรือในกลุ่มชาวเลเท่านั้น แต่ตนยังสั่งห้ามไม่ให้รีสอร์ต หรือผู้ประกอบการรายใดเข้ามาครอบครองหน้าหาดเพื่อจอดเรือของโรงแรมในพื้นที่ที่ผูกทุ่นเช่นกัน
“ผมไม่เคยคิดถึงประโยชน์ของตนเอง ที่หาดพัทยา ทีแรกก็มีคนแย้ง แต่นานๆ ไปก็สงบ มีทุ่น 4-5 ที่ ทุกอย่างเรียบร้อยดี ทำให้หลีเป๊ะไม่มีอุบัติเหตุ อย่างเช่นนักท่องเที่ยวโดนเรือเฉี่ยวชน และสามารถเที่ยวบนเกาะอย่างปลอดภัยตลอดทั้งปี และขณะนี้จุดที่ห้ามจอดปัจจุบัน คือ บริเวณด้านหน้าโรงเรียนบ้านอาดัง มีขนาดกว้าง 75 เมตร ยาวลงทะเล 15 เมตร หน้าไอดีลลิค และหน้าวารินรีสอร์ท ทุ่นทั้งหมดทำเพื่ออนุรักษ์เท่านั้น และยืนยันว่า มีขนาดเหมาะสมแล้วเพราะมีการปรับขนาดเท่ากับบริเวณของพื้นที่ปะการังพอดี และไม่สามารถลดขนาดทุ่นได้อีก จึงขอความร่วมมือชาวเล ว่า ให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ เพราะเดิมทีนั้นขนาดทุ่นใหญ่กว่านี้มาก แต่เพราะทหารประชุมร่วมกับหลายฝ่ายแล้วเห็นใจชาวบ้าน จึงเลือกขนาดตามเสียงส่วนใหญ่แล้ว ส่วนเรื่องการใช้ประโยชน์หน้าหาดทรายนั้น ยืนยันว่า ทั้งเกาะเป็นพื้นที่สาธารณะ และชาวเลมีสิทธิจอดได้ทุกที่ยกเว้นบริเวณวางทุ่น ดังนั้น ถ้าใครสั่งห้ามจอดให้แจ้งทหารปราบปรามได้ทันที” นาวาตรีวีระพงษ์ กล่าว
พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล กล่าวว่า อยากให้ฝ่ายทหารเรือเป็นคนประสานงานกับผู้ประกอบการกรณีบริเวณหน้าหาดเป็นที่สาธารณะ และเจรจาให้เขาหยุดคุกคามชาวเลที่เข้าจอดเรือด้วย เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิชาวเล ส่วนกรณีที่ดินที่มีเอกสารทับซ้อนที่สาธารณะ และการตรวจสอบเอกสารสิทธิทับซ้อนกับชุมชน เดิมอยากให้อุทยานฯ เร่งรัดส่งข้อมูลตรวจสอบให้แล้วเสร็จ และทางคณะกรรมการฯ จะได้ยื่นขอมหมายศาลเพื่อคุ้มครองชั่วคราวแก่ครอบครัวชาวเลที่ถูกบังคับคดีให้รื้อถอนบ้าน และในระหว่างนี้ เมื่อกระบวนการตรวจสอบยังไม่เสร็จชาวเลควรมีสิทธิซ่อมแซมบ้านต่อไปตามสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการสิทธิสถานะกลุ่มชาติพันธุ์ฯ กล่าวว่า นอกจากข้อสรุปของทางเดินสาธารณะ การซ่อมบ้านเรือน และเรื่องจอดเรือแล้ว อยากฝากให้ทุกฝ่ายในจังหวัดสตูล มีการเคร่งครัดเรื่องเอกชนบุกรุกที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ และมีการกำชับหน่วยงานในสังกัดเคารพสิทธิชาวเลต่อดการใช้ชีวิตต่อไป เช่น เมื่อวานนี้ มีชาวเลร้องเรียนเรื่องความต้องการตัดหวายเพื่อทำเครื่องมือหาปลา อยากขอให้อุทยานฯ มีการประนีประนอมบ้าง เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตได้ตามวิถีดั้งเดิม รวมทั้งทางจังหวัดควรมีการประชาสัมพันธ์ หรือทำข้อมูลแจ้งนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับข้อมูลชาวเลบนเกาะบ้าง เพื่อให้พวกเขามีตัวตนขึ้นมาในยุคการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นในปัจจุบัน
นายปณพล ชีวะเสรีชล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา กล่าวว่า กรณีตัดหวายอุทยานฯ ไม่ได้ห้ามเด็ดขาด หรือจับกุมจริงจัง ทางอุทยานฯ มีการผ่อนผันเป็นบางจุด แต่อยากให้ชาวเลทำเรื่องขออนุญาตที่ถูกต้อง และใช้ในปริมาณเหมาะสม เพราะหวายเป็นพืชซับน้ำ หากโดนตัดทำลายมากๆ จะส่งผลให้เกิดปัญหาแล้ง ดังนั้น อุทยานฯ จึงต้องควบคุม นอกจากนี้ พื้นที่ใดก็ตามที่มีการหาปลาแล้วทำลายทรัพยากรทางทะเล ทางอุทยานฯ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นเรือเอกชน หรือเรือชาวเลเข้าไปในพื้นที่ทางอุทยานฯ จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย
นายปณพล กล่าวด้วยว่า สังคมรับรู้ดีว่า ชาวลูรักลาโว้ยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะมาตั้งปี 2452 ต่อมา เมื่อมีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเกาะหลีเป๊ะเติบโตทางการท่องเที่ยว ยอมรับว่ามีกรณีร้องเรียนเรื่องที่ดินมาโดยตลอด โดยตนไม่สามารถชี้ชัดเบื้องหลังความขัดแย้งได้ แต่ยืนยันว่า ความขัดแย้งด้านที่ดินระหว่างอุทยานฯ และชาวเลมีน้อยมาก โดยหน้าที่ของอุทยานฯ หลักคือการดำเนินคดีต่อผู้บุกรุกเขตอุทยานฯ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติงานตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และพบว่า พื้นที่อุทยานฯ ส่วนมากถูกบุรุกโดยเอกชน แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มไม่มีเอกสารสิทธิแต่มาสร้างอาคาร บ้านพักปลูกพืช หรือใช้ประโยชน์ด้านอื่น
ส่วนที่ 2.คือ กลุ่มมีเอกสารสิทธิ เช่น น.ส.3 แต่มีการนำชี้พื้นที่ครอบครองในแต่ละแปลงไม่ครบตามเนื้อที่ที่ปรากฏในเอกสารสิทธิ เช่น มีที่ดินจริงแค่ 20 ไร่ แต่แจ้งครอบครองที่ดินใน น.ส.3 เป็นเนื้อที่กว่า 30 ไร่ แจ้งเกิน 10 ไร่ เอกสารสิทธิลักษณะนี้พบส่วนมากเป็นเอกชนนักลงทุน หรือผู้ประกอบการจากภายนอก ซึ่งอุทยานฯ อยู่ในระหว่างส่งสำนวนต่อศาลเพื่อดำเนินคดี โดยมี 18 คดีอยู่ในชั้นศาล 12 คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ยังไม่ได้ดำเนินการส่งฟ้องศาล ส่วนที่ 3 คือ การตรวจสอบเอกสารสิทธิแบบ ส.ค.1 คาดว่าจะมีการตรวจสอบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ และส่งสำนวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปหากพบผู้บุกรุก
“การฝังศพแบบกระจัดกระจายนั้นมีชาวเลนำศพไปฝั่งที่เขตอุทยานฯ ฝั่งเกาะอาดังนั้นอุทยานฯ ไม่เอาผิด แต่กรณีเกาะหลีเป๊ะนั้นฝังไม่ได้แล้ว จะมีแค่สุสานเก่าที่อยู่ใกล้หลุมแยกขยะ และใกล้สุสานโต๊ะคีรีเท่านั้น ดังนั้น เรื่องที่ฝังศพขอให้ชาวเลสบายใจได้ว่า อุทยานฯ ไม่มีการจับกุม แต่เรื่องการก่อสร้างอาคารต่างๆ บนที่ ส.ค.1 นั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร หากเราพบว่าบุกรุกเขตอุทยานฯ เพื่อก่อสร้างเราก็จำเป็นต้องทำตามกฎหมาย” นายปณพล กล่าว