xs
xsm
sm
md
lg

สพม.ชงข้อแนะ รธน. เลือกตั้งตรงนายกฯ-ส.ว. ให้ใช้พระบรมราชวินิจฉัยเมื่อเกิดวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปธ.สพม.แถลงข้อเสนอจัดทำร่าง รธน. ควรมีกรอบ 3 เรื่อง สร้าง ปชต.กินได้ โดยการตั้งสถาบันพัฒนา ปชต. นายกฯ-ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งตรงจาก ปชช. ส.ส.เลือกแบบเดิม นั่ง ครม.ได้ไม่เกิน 2 วาระ พรรคการเมืองต้องมีนโยบายผลงาน ส่วนรวม กระจายอำนาจตอบสนองท้องถิ่น บัญญัติเมื่อวิกฤตการเมืองให้กษัตริย์ทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัย เสนอความเห็นที่สำรวจ ปชช.สัปดาห์หน้า

วันนี้ (25 ธ.ค.) สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) โดยนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธาน สพม.ได้แถลงข้อเสนอการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ... โดยนายธีรภัทร์กล่าวว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญควรมีกรอบแนวคิดใน 3 เรื่อง การสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และยั่งยืนในสังคมไทย ให้เป็นระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีความชอบธรรมประสิทธิผล เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศและความผาสุกของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็นประชาธิปไตยกินได้ ซึ่งก็ควรมีการให้การศึกษาทางการเมืองพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ให้แก่ประชาชน โดยควรมีการตั้งสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อเป็นสถาบันหลักของประเทศในด้านการส่งเสริมสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะภารกิจสร้างระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและยั่งยืน

ส่วนในด้านการเมือง ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส.ส.มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด ทั้งนี้ กำหนดให้ ส.ว.มีคุณสมบัติแตกต่างจาก ส.ส. เช่น อายุ ระดับการศึกษา และผู้ดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ และเมื่อครบวาระแล้วไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกไม่ว่ากรณีใดๆ การปฏิรูปพรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองควรมีระบบการบริหารงานที่เข้มแข็ง มีนโยบายที่เน้นผลงานและประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ การกระจายอำนาจสามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน นอกจากนี้ ควรให้มีสมัชชาพลเมืองในระดับชาติ เพื่อเป็นเวทีในการแสดงสาธารณะในเจตนาทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในข้อเสนอทางนโยบายและระดับชาติ การเคารพในสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง โดยการให้มีสรรหาตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองอย่างน้อย 2 คน เป็นตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ในการแก้ไขวิฤกตการณ์ทางการเมืองของประเทศ ควรมีการบัญญัติให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ คือเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้กระทำการหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองตามหลักสากลของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขโดยรีบด่วน ให้เป็นดุลพินิจของคณะองคมนตรีที่จะเป็นผู้ถวายคำแนะนำเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย หรือพระบรมราชโองการ และเมื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยหรือพระบรมราชโองการเป็นประการใดแล้ว ให้ถือเป็นข้อยุติ

ทั้งนี้ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หรือรับผิดชอบใพระบรมราชวินิจฉัยนั้น ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดมาจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน โดยทาง สพม.จะมีการรวบรวมข้อเสนอแนะพร้อมเหตุผลเสนอไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติภายในสัปดาห์หน้า และหลังจากที่กรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้มีการนำเนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกวันที่ 29 ม.ค. 59 แล้ว ทาง สพม.ก็จะได้มีการนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาพิจารณาและนำเสนอความเห็นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น