xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้ว! เวทีรับฟังร่าง รธน.ฉบับ “มีชัย” ชนเผ่า-นักธุรกิจเมืองชายแดนขอสิทธิเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กรธ.เดินสายเปิดเวทีรับฟังเสียงคนเชียงรายแล้ว กลุ่มชนเผ่ายื่นขอสิทธิคุ้มครอง กระจายการถือครองที่ดิน ห้ามขับไล่ ยกเว้นศาลสั่ง ขณะที่ภาคธุรกิจเสนอเพิ่มอำนาจเมืองชายแดนเจรจาการค้าเพื่อนบ้าน ด้านคนเสื้อแดงบอก “อย่าคิดเอง ร่างเอง”

วันนี้ (22 พ.ย.) นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนที่ 1 เป็นประธานเปิด การสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าได้จัดขึ้น ณ โรงแรมริมกก รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย ท่ามกลางตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชน ภาคประชาชน มวลชนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าร่วมกว่า 200 คน

นายสุพจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนทั่วประเทศกำลังร่วมวางกติกาการเมืองใหม่ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญในอดีตไม่มีปัญหาซับซ้อน แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาซับซ้อนมากกว่าเดิม เช่น กลไกลการเมืองพิสดารมากขึ้น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้น มีความแตกแยกทางความคิดมากขึ้น ฯลฯ

ดังนั้น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จึงแตกต่างจากเดิมโดยมีกรอบ 5 ประการคือ เป็นที่ยอมรับของสากลแต่สอดคล้องต่อปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของไทย มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูป และปรองดอง มีมาตรการป้องกันไม่ให้การเมืองแสวงหาประโยชน์ ใช้เงินอ่อยเหยื่อประชาชน แต่สร้างความเสียหาย มีแนวทางขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน และสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 5 กลุ่ม

ได้แก่ กลุ่มสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชนที่พึงปรารถนา กลุ่มหน้าที่ของรัฐที่พึงปรารถนา กลุ่มการได้มาซึ่งตัวแทนที่พึงปรารถนา กลุ่มการกระจายอำนาจที่พึงปรารถนา และกลุ่มแนวทางการปฏิรูปประเทศที่พึงปรารถนา จากนั้นมีการสรุปผลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป โดยให้แสดงความเห็นต่างกันได้ แต่ต้องไม่ขัดแย้ง และไม่เน้นยกมือโหวต แต่จะเน้นให้ทำความเข้าใจเพื่อหาฉันทมติแทน

ทั้งนี้ ก่อนการแบ่งกลุ่มย่อย นายสุพจน์ หลี่จา แกนนำสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อรองประธานฯ เพื่อเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาตามข้อเรียกร้อง 14 ข้อ เสนอให้คุ้มครอง และกระจายการถือครองที่ดิน และรับรองสิทธิที่ดินทำกิน แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้ชนเผ่า ให้มีส่วนร่วมในการดูแลระบบนิเวศ ชดเชย เยียวยา และจ่ายค่าทดแทนจากนโยบายของรัฐที่กระทบต่อชนเผ่า ห้ามไม่ให้อพยพ รื้อถอน ขับไล่ชุมชนชนเผ่า ยกเว้นจะมีคำพิพากษาของศาล ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งอาหารและยา ส่งเสริมและคุ้มครองประเพณี พิธีกรรม วัฒนธรรมของชนเผ่า ฯลฯ

ด้าน นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า เนื่องจากเชียงราย เป็นเมืองชายแดนที่มีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ และเป็นพื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จึงควรจะมีกฎหมายที่เอื้อให้เมืองชายแดนสามารถเจรจาตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากกว่าเดิม

เพราะในอดีตอำนาจต่างๆ ที่จะตกลงกับท้องถิ่นประเทศเพื่อนบ้าน ต้องส่งเข้ารัฐบาลกลาง และต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งมองในแง่ของเศรษฐกิจถือว่า ล่าช้า ดังนั้น ควรให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถบูรณาการกับภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้สามาถเจรจาตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ได้ในกรอบที่สามารถทำได้ด้วย

นายสายชล ศรีสรวล อดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดงนครเชียงราย กล่าวว่า ตนอยากให้รัฐธรรมนูญใหม่ เป็นที่เชื่อถือของประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องไม่คิดเองทำเอง สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็อยากใหกลับไปใช้แบบเดิมคือ เลือกตั้งเขตละ 1 คน และมีบัญชีรายชื่อ 1 ใบ เพื่อเลือกพรรคการเมือง ไม่ให้เกิดความสับสน และเป็นเหตุให้มีบัตรเสียมากเหมือนที่ผ่านมา

“ภาพรวมคือ ต้องการให้รัฐธรรมนูญใหม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ไม่ใช่มีกรอบมาแล้ว ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งก็จะตามมาอีก”




กำลังโหลดความคิดเห็น