โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
31 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวัน “ฮาโลวีน” ซึ่งในวันนี้ ทุกๆ คนก็มักจะพูดถึงแต่เรื่องผีๆ จนกลายมาเป็นวันผีสากลที่ทั่วทุกมุมโลกรู้จัก และเมื่อพูดถึงเรื่องผีของไทย เรื่องราวของ “แม่นาคพระโขนง” ก็เป็นคงจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องผี ที่ใครหลายคนคุ้นหูกันดีรวมถึงตัวฉัน
และในวันผีสากลสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนๆ หลายคนของฉันมักจะแต่งชุดคอสเพลย์เป็นผีแบบต่างๆ เพื่อไปเที่ยวสังสรรค์ในค่ำคืนวันปล่อยผี แต่สำหรับฉันแล้ว ขอไปเที่ยวลุยกรุงตามสไตล์ตัวเองจะดีกว่า โดยในครั้งนี้ ฉันจะเดินทางไปเที่ยวที่ “วัดมหาบุศย์” สถานที่ตั้งของ “ศาลย่านาค” ที่ที่จารึกเรื่องเล่าขานในความรักระหว่างคนกับผีมาอย่างยาวนาน
แต่ก่อนที่จะเดินทางไป ฉันก็จะขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวันฮาโลวีน แบบย่อๆ ให้ได้ฟังก่อนนะ “ วันฮาโลวีน ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี โดยเป็นเทศกาลประจำปีเฉลิมฉลองวันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลายของศาสนาคริสต์ และเป็นวันที่ชาวเคลต์ ชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอซ์แลนด์ ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดปี และเป็นวันที่มิติคนตายและมนุษย์จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน วิญญาณผู้เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาจะเที่ยวหาร่างของคนเพื่อสิงสู่ เพื่อที่จะได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จึงทำให้ในวันฮาโลวีน คนเป็นอย่างเราจะต้องหาทางแก้ไขด้วยการปิดไฟในบ้านทุกดวง ให้บ้านมืดมิด ร่วมกับอากาศที่หนาวซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของบรรดาผีร้าย อีกทั้งยังมีบางส่วนจะแต่งตัวเป็นผีต่างๆ เพื่อกลบเกลื่อนวิญญาณว่าไม่ใช่คนเป็นนั้นเอง ”
สำหรับ “วัดมหาบุศย์" นั้น เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมคลองพระโขนง ในซอยอ่อนนุช7 ถนนสุขุทวิท77 เล่ากันว่า "วัดมหาบุศย์เป็นวัดราษฎร์ที่เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2305 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดย พระมหาบุตร วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติโยมของท่านในคลองพระโขนง ชาวบ้านรู้ข่าวจึงได้นิมนต์ให้อยู่ และนำสร้างวัดขึ้นโดยให้ชื่อว่า “วัดมหาบุศย์” ตามชื่อของท่าน”
เมื่อฉันมาถึงวัดมหาบุศย์ อย่างแรกที่ได้พบก็คือ “วิหารหลวงพ่อยิ้ม” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อยิ้ม” พระพุทธรูปปางมารวิชัยอันเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนทั้งในละแวกนี้ ซึ่งฉันก็ไม่พลาดที่จะสักการะขอพร และก็ได้เห็นว่าภายในวิหารนั้นมีว่าวจุฬาแขวนอยู่เต็มไปหมด ฉันจึงได้ถามไถ่คุณป้าที่โต๊ะบูชาดอกไม้ ธูป-เทียน และรู้มาว่า “ใครที่ได้บนบานศาลกล่าวหลวงพ่อยิ้มไว้ หากสำเร็จตามที่ได้อธิษฐาน ก็จะต้องนำว่าวจุฬามาเป็นเครื่องแก้บน”
เสร็จจากการไหว้พระขอพรแล้ว ฉันก็เดินมุ่งตรงไปยังบริเวณริมคลองพระโขนง เพื่อจะไปสักการะศาลย่านาค แต่ระหว่างทางนั้น ฉันก็ได้พบกับ “อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิม” ที่ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่กลางแจ้งใต้ร่มไม้และบ่อน้ำขนาดกลาง ที่มีฝูงปลาคาร์ฟแหวกว่ายอยู่ และฉันก็ไม่พลาดที่จะแวะสักการะขอพรพระโพธิสัตว์กวนอิม พร้อมกับยืนดูเจ้าปลาคาร์ฟแหวกว่ายไปมาดูแล้วเพลินตาเพลินใจ
จากนั้นฉันก็เดินไปยัง “ศาลย่านาค” วันเวลาที่ผ่านล่วงเลยมานับร้อยปี จึงทำให้ทุกวันนี้คำเรียกขานชื่อ “แม่นาคพระโขนง” ได้กลายมาเป็น "ย่านาค" ตามที่คนรุ่นใหม่ได้เรียก และย่านาคก็ได้เป็นที่พึ่งทางใจของใครหลายคน บริเวณศาลย่านาคนั้นถูกประดับประดาไปด้วยรูปผู้หญิงมากมายอันเป็นสิ่งที่สื่อถึงย่านาค และมีผ้าสีเจ็ดศอกพันอยู่รอบต้นไม้อย่างหนาแน่น ชุดไทย ชุดเด็ก ซึ่งผู้ที่มาสักการะย่านาคได้มาถวายไว้ และบริเวณพื้นที่ศาลด้านบนก็เป็นที่ตั้งของรูปปั้นย่านาค ระหว่างที่ฉันกำลังสักการะอยู่นั้น ก็ได้เห็นผู้คนมากมายทยอยเข้ามาสักการะขอพรกันอย่างไม่ขาดสาย และฉันก็ได้เห็นป้ายว่า ก่อนวันหวยออก 1 วัน ศาลย่านาคจะเปิดทั้งคืน ฉันหละอยากจะเห็นบรรยากาศวันนั้นจริงๆ คงจะคึกคักน่าดู
สำหรับเรื่องราวที่ของ “แม่นาคพระโขนงนั้น” เป็นทั้งเรื่องผี และเรื่องราวของความรัก ที่ถูกเล่าขานมาอย่างยาวนาน แม้ในปัจจุบันก็ยังเลือนหายไป ซึ่งได้ถูกเล่าต่อๆ กันมาว่า
“แม่นาคมีสามีชื่อพ่อมาก อยู่กินร่วมกันที่บ้านริมคลองพระโขนง ใกล้ๆ วัดมหาบุศย์ จนกระทั่งนางนากตั้งครรภ์อ่อนๆ เป็นช่วงที่นายมากมีหมายเรียกให้ไปเป็นทหารประจำการที่บางกอก แม่นาคจึงต้องอยู่ตามลำพัง เวลาผ่านไปจนถึงวันคลอดลูกของแม่นาคไม่ยอมกลับหัว จึงไม่สามารถคลอดออกมาตามธรรมชาติ ทำให้แม่นาคทนความเจ็บปวดไว้ไม่ไหวสิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้อง กลายเป็นผีตายทั้งกลม”
ส่วนพ่อมากเมื่อปลดประจำการก็กลับมายังบ้านที่พระโขนง และไม่ทราบความว่าเมียของตัวได้เสียชีวิตไปแล้ว อีกทั้งชาวบ้านก็ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ละแวกบ้านเพื่อเข้าไปบอกพ่อมากเพราะกลัวผีแม่นาค อีกทั้งผีแม่นาคก็คอยพยายามรั้งพ่อมากให้อยู่ที่บ้านตลอดเวลาไม่ให้ออกไปพบใคร จนวันหนึ่งขณะที่แม่นาคตำน้ำพริกอยู่บนบ้านและทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อนจึงได้เอื้อมมือยาวลงเก็บมะนาวที่อยู่ใต้ถุนบ้าน และด้วยความบังเอิญนายมากผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่อว่าแม่นาคเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน และได้หนีออกจากบ้าน ทำให้ผีแม่นาคโกรธและออกอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวกันไปทั้งบาง
จากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ท่านรู้ข่าวการอาละวาดของผีแม่นาค ซึ่งก่อความหวาดกลัวและเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก แม้แต่หมอผีเก่งๆ ก็ยังพ่ายแพ้ ท่านจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ และเรียกนางนาคขึ้นมาคุยกัน จนกระทั่งผีแม่นาคจึงได้สยบอารมณ์ร้ายลง และท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ก้ได้เจาะเอากระดูกหน้าผากของนางมาลงยันต์และทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอว และผีนางนาคก็ไม่ออกมาอาละวาดอีกเลย และเรื่องราวก็ได้ถูกเล่าขานจวบจนถึงปัจจุบัน
และที่บริเวณศาลย่านาคริมคลองพระโขนง ก็เป็นที่ตั้งของร้านขายปลาสำหรับปล่อย ซึ่งก็มีมากมายหลายร้านและปลามากมายหลายชนิดให้ได้ปล่อยกันอีกด้วย ซึ่งคนใจบุญอย่างฉันก็ไม่พลาดแน่นอน สำหรับการปล่อยปลาถือเป็นอีกหนึ่งความเชื่อในการสร้างบุญสร้างกุศล โดยปลาแต่ละชนิดก็จะมีความหมายดีๆ แตกต่างกันออกไป อาทิ ปล่อย “ปลาไหล” ช่วยการดำเนินชีวิตราบรื่น , “ปลาดุก” ทำให้ศัตรูคู่แข่งพ่ายแพ้ , “ปลาหมอ” เพื่อสุขภาพดี ,”ปลากราย” ช่วยให้เคราะห์ร้ายกลายเป็นดี
หลังจากฉันได้เลือกซื้อปลาตามความหมายดีๆ แล้ว ฉันก็เดินที่ริม "คลองพระโขนง" และตั้งจิตอธิษฐานปล่อยปลาลงสู่น้ำ จากนั้นฉันก็ยืนชมทัศนียภาพริมคลองที่เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นคลองธรรมชาติที่คดเคี้ยว ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดเชื่อมคลองหนองบอนกับแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร โดยแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2383
และในจุดนี้ฉันได้คิดว่า ใครที่อยากหนีความจอแจวุ่นวายของเมืองกรุง วัดมหาบุศย์ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และเรื่องราวของแม่นาคพระโขนงก็ยังจะคงเป็นเรื่องราวของความรักที่ยิ่งใหญ่นิรันดร์กาล และเป็นเรื่องผีที่ตราตรึงไว้อยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน
*****
วัดมหาบุศย์ ตั้งอยู่ใน ซ.อ่อนนุช 7 ถ.สุขุมวิท 77 ริมคลองพระโขนง
ศาลย่านาค เปิดให้เข้าสักการะ เวลา 7.30 - 17.30 น. ก่อนวันหวยออก 1 วันเปิดให้สักการะตลอดทั้งคืน
การเดินทาง : สามารถลงรถไฟฟ้าบีทีเอสมาลง สถานีอ่อนนุช จากนั้นให้ย้อนไปปากซอยอ่อนนุช และจากปากซอยอ่อนนุชเข้าไปประมาณ 500 เมตร จะถึงซอยอ่อนนุช 7 บริเวณปากซอยจะมีป้ายวัดมหาบุศย์ และเข้าไปในซอยอีกประมาณ 100 เมตร
* * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com