สตูล - คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนสถานะบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เผยปัญหารุมเร้า ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย จุดจอดเรือ และสัญชาติ
วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนบ้านอาดัง เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล ชาวเลชุมชนเกาะหลีเป๊ะ-อาดัง จำนวนกว่า 100 คน พร้อมด้วยตัวแทนโรงเรียน สำนักงานอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตัวแทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) หรือสถานีอนามัย ประจำชุมชน เข้าประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนสถานะบุคคลของกลุ่ม ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมี นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนสถานะบุคคลฯ และอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เป็นประธานในการประชุมรับฟังปัญหาด้านต่างๆ
นางเตือนใจ กล่าวว่า จากกรณีที่ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวเลอูรักลาโว้ย บนเกาะหลีเป๊ะ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทราบว่า ขณะนี้ในชุมชนมีปัญหาเร่งด่วนหลายกรณี ทั้งปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน ที่จอดเรือ และปัญหาการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยล่าสุด ทาง กสม.ทราบว่า มีเอกชนรายหนึ่งสร้างกำแพง และวางสิ่งกีดขวางปิดทางเข้าออกสาธารณะที่เชื่อมต่อโรงเรียน และสถานีอนามัย ส่งผลให้สมาชิกในชุมชนได้รับความเดือดร้อน กสม.จึงจัดลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของชาวเลเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2559 เพื่อสรุปสภาพปัญหา และเรื่องร้องเรียน ก่อนจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมทำความเข้าใจคนในชุมชนและวางแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทด้านต่างๆ ต่อไป
นายพงษ์เพชร แก้วผนึก แพทย์ประจำอนามัยชุมชนเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า เรื่องการปิดทางสาธารณะ ขณะนี้ตนได้แจ้งให้สาธารณสุขอำเภอ ประสานงานให้เอกชนเปิดทางกั้น และนำสิ่งกีดขวางออกจากทางสัญจรระหว่างถนนในชุมชนกับโรงเรียน และอนามัย เนื่องจากเวลามีอุบัติเหตุฉุกเฉิน เช่น ล่าสุด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติถูกทำร้ายร่างกาย โดยคนร้ายใช้อาวุธมีดแทงจนบาดเจ็บสาหัส แต่รถที่มาส่งผู้บาดเจ็บไม่สามารถผ่านทางดังกล่าวได้ ขณะที่ทางอนามัยเองมีรถกอล์ฟคอยบริการรับส่งคนไข้ บางครั้งมีเด็ก คนแก่ ป่วยหนักชาวบ้านต้องขับรถมาส่งแล้วจอดปากทางเข้าใกล้กับโรงเรียน จากนั้นก็ต้องช่วยกันแบกหามคนไข้ หรือพยุงตัวเดินมาช้าๆ ถ้าบางวันโชคดีป่วยกลางวันสามารถใช้อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นทางเอกชนได้ แต่เปิดปิดประตูเป็นเวลาทำให้เวลากลางคืนส่งผู้ป่วยไม่ได้ ดังนั้น การปิดทางสาธารณะสร้างผลกระทบโดยรวม
“คือถ้าคนเกาะรู้จักเกาะดีก็รู้ทางลัดที่จะเดินผ่านก็พอช่วยกันได้ แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว หรือคนภายนอกไม่รู้ก็หาทางเข้าไม่เจอ เราต้องทำป้ายบอกทางเข้ามา ถ้ามีคนไข้หน้าหาดชาวเล หรือฝั่งซันไรส์บีช ก็พอลำเลียงทางตรงหน้าหาดมาได้แต่ก็ยังช้า เพราะมีนักท่องเที่ยวอยู่ประปราย หน้าไฮซีซันคือ เดินทางไม่ง่ายนัก ปัญหาเรื่องนี้ผมเข้าใจทั้งสองฝ่าย ทั้งชาวเลเองก็ลำบาก ส่วนเอกชนผมรู้ว่า บางครั้งเขาเจอแก๊งขับรถมอเตอร์ไซค์เสียงดังก่อกวนนักท่องเที่ยว ถ้าเข้ามาช่วงเมาก็เสี่ยงชนเด็กนักเรียน ชนนักท่องเที่ยว แต่การปิดทางนี้มันส่งผลกระทบภาพรวม ผมจึงอยากเสนอให้ กสม.รับทราบ และย้ำกับจังหวัดอีกทีว่าเราลำบากเช่นไร และอยากให้หน่วยงานรัฐในพื้นที่ช่วยเจรจากับเอกชน ส่วนชุมชนเองผมอยากให้ทุกคนประชุมทำความเข้าใจร่วมกันว่า การขับขี่รถที่เป็นการก่อกวนไม่เหมาะสม ซึ่งหากชุมชนรับปากจะจัดการปัญหาดังกล่าวได้ เอกชนก็น่าจะยอมเปิดทางให้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นความขัดแย้งเพราะอนามัยกับโรงเรียน คือ พื้นที่สาธารณะ” นางพงษ์เพชร กล่าว
นายชัยยุทธ์ หาญทะเล กล่าวว่า ถ้าจะสร้างกำแพง หรือประตูกั้นชาวเลอยากเสนอผ่าน กสม.ว่าขอเป็นกำแพง หรือประตูรั้วชั่วคราว ไม่ใช่กำแพงคอนกรีตอย่างหนา เพราะการก่อสร้างถาวรแบบนั้นเป็นการปิดโอกาสสัญจรที่สร้างความลำบากแก่คนทั้งเกาะ กรณีฉุกเฉินจะทำให้ผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นคนนอก คนในเกาะได้รับความลำบาก และเป็นการจำกัดสิทธิของคนในพื้นที่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการท่องเที่ยวเติบโต ทุกอย่างเน้นความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว แต่ยามทุกข์ เช่น นักท่องเที่ยวเจ็บป่วยจะไม่สามารถเข้าใช้บริการอนามัยได้
“คือผมขอพูดแบบประชดเลยนะ แต่ถ้าปิดทางขนาดนี้ปิดโรงเรียนเลยดีกว่าไหม หรือเปิดระบบเดินเรือส่งคนไข้เลยไหม เพราะเราไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว เพราะเราเสียสิทธิที่ดินอยู่อาศัยแล้วยังมาเสียทางสาธารณะอีกเรารับไม่ได้แล้ว คนเกาะที่เป็นอูรักลาโว้ยตอนนี้โดนไล่รื้อนับ 100 คนแล้ว จะซ่อมบ้านก็ซ่อมไม่ได้ เขาเอาตำรวจ เอาเจ้าหน้าที่จากไหนไม่รู้มาสั่งห้ามซ่อมบ้าน หาว่าเราสร้างบ้านบนที่เขา เราเสียเปรียบทุกอย่าง ผมอยากกราบเลยทุกหน่วยงานให้เหลือพื้นที่เพื่อลูกหลานพวกเราบ้าง และนักท่องเที่ยวเองเจ็บป่วยฉุกเฉินก็มาหาหมอที่นี่ ผมว่าทำแบบนี้ไม่ยุติธรรม ดังนั้น ถ้าสร้างกำแพง หรือประตูชั่วคราวแล้วเรายอมให้เปิดปิดเป็นเวลา แต่เราขอร้องว่าอย่างสร้างกำแพงถาวรเลย คิดว่าเห็นแก่คนเกาะ อยากให้ กสม.เอาเรื่องนี้คุยกับผู้ว่าฯ กับทหารให้เข้าใจ และเจรจากับเอกชนด้วย เพราะเอกชนเขาไม่คุยกับชาวเล” นายชัยยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากปัญหาร้องเรียนเรื่องเส้นทางสาธารณะแล้ว ชาวเลอูรักลาโว้ย ได้นำปัญหาพื้นที่ทำกินในเขตอุทยานฯ และการเปิด-ปิดเกาะต่างๆ เพื่อกิจกรรมดำน้ำของกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยชาวบ้านแจ้งข้อมูลต่อ กสม.ว่า ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบเรือเร็ว (Speed Boat) ของเอกชนนำนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ห้ามดำน้ำในช่วงโลว์ซีซัน เช่น ที่หาดหินงาม และบางส่วนที่เกาะอาดัง ซึ่งทางอุทยานฯ ประกาศว่า เป็นพื้นที่ห้ามดำน้ำช่วงพฤษภาคม-กันยายน แต่ปรากฏว่า ยังมีเรือเร็วฝ่าฝืนกฎ ขณะที่เรือหางยาวของชาวเลที่ลักลอบนำนักท่องเที่ยวเข้าบริเวณดังกล่าวมักถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามเป็นประจำ
ทั้งนี้ เมื่อเวลา13.00 น. ภายหลังการประชุมแล้วเสร็จ กสม.ได้ลงพื้นที่เกาะอาดัง เพื่อเยี่ยมบ้านชาวเลดั้งเดิมที่ยังมีบางส่วนตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ โดย กสม.ได้รับรายงานข้อมูลว่า ชาวเลบนเกาะอาดังส่วนมากมีอาชีพทำประมง สลับกับการขับเรือรับส่งนักท่องเที่ยว แต่ยังมีข้อพิพาทเรื่องการทำประมงในเขตหวงห้ามของอุทยานฯ อยู่ กสม.จึงได้สรุปข้อมูลไว้ และเตรียมนำเข้าที่ประชุมร่วมกับหลายภาคส่วนในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล