เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ยื่นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอคำนึงถึงสิทธิดั้งเดิมของกลุ่ม เร่งแก้ปัญหาถูกไล่ที่ คุกคาม ไร้สัญชาติ เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน บรรจุแนวคิดเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ ลดความเหลื่อมล้ำ ด้านเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ขอเร่งคืนสัญชาติคนไทยผลัดถิ่น 5 จว.โวยกรมการปกครองช้า พร้อมขอฟื้นฟูวิถีชีวิต ขณะที่ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เสนอร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน
วันนี้ (17 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.15 น.ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง นำโดยเกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์ฯ ยื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยขอให้ปฏิรูปประเทศคำนึงถึงสิทธิดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ฯ โดยมีข้อเสนอดังนี้ เร่งแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ การไล่ที่ การถูกคุกคาม การไร้สัญชาติ การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นต้น และให้บรรจุแนวคิดเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์ฯไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงขอให้สนับสนุนยกระดับการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ฯเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคม
จากนั้น กลุ่มเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย นำโดยนางน้อย ประกอบปราณ ตัวแทนเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย เพื่อขอให้ปฏิรูปกระบวนการแก้ไขปัญหาผู้ไร้สถานะในประเทศไทย และเร่งคืนสัญชาติให้คนไทยผลัดถิ่นตามพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 โดยเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่นใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร ตาก และตราด เพราะที่ผ่านมามีการคืนสัญชาติให้คนไทยผลัดถิ่นเพียง 2 พันคนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นความล่าช้าของกรมการปกครองส่งผลให้คนไทยผลัดถิ่นต้องเสียโอกาสในการพัฒนาชีวิต ทั้งการศึกษาของเยาวชนและไม่สามารถไปทำงานต่างพื้นที่ การพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่มีสิทธิในการักษาพยาบาลและถูกเอาเปรียบเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ เครือข่ายฯขอให้มีกองทุนฟื้นฟูวิถีชีวิต รวมทั้งขอให้ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม
ต่อมา นายปาลิน ธำรงค์รัตนสิน ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ได้ยื่นหนังสือถึงนายเทียนฉาย เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน โดยนายปาลิน กล่าวว่า จากแนวคิดในเรื่องการจัดสวัสดิการช่วยเหลือของคนในชุมชนเพื่อสร้างหลักประกันสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชนในระดับรากหญ้าที่ได้มีการยกระดับสถานะขึ้นเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนและได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้มีจำนวนสมาชิกและมีจำนวนกองทุนเพิ่มและขยายตัวมากขึ้น พบว่าการบริหารกองทุนฯมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน เครือข่ายฯจึงมีแนวคิดร่วมกันร่างพ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา โดยในร่างดังกล่าวได้มีการรวบรวมข้อกฎหมายใหม่ ปัญหาข้อติดขัดต่างๆ
ขณะที่นายเทียนฉาย กล่าวว่า ภารกิจของสปช.จะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความเห็นและการมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นถ้าความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก ก็ขอให้ทุกฝ่ายช่วยอนุเคราะห์นำเสนอข้อมูลต่อสปช.ด้วย โดยข้อเสนอต่างๆของแต่ละกลุ่มจะนำไปให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปชุดต่างๆที่เกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งหากนอกเหนือจากอำนาจสปช.จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป