xs
xsm
sm
md
lg

ชงสภาปฏิรูปฯ ดันกม.ลดเหลื่อมล้ำ - สวัสดิการชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 11.15 น. วานนี้ (17พ.ย.) ที่รัฐสภา ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง นำโดย นายเกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์ฯ ยื่นหนังสือต่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. โดยขอให้การปฏิรูปประเทศ คำนึงถึงสิทธิดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ฯ โดยมีข้อเสนอดังนี้
เร่งแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ การไล่ที่ การถูกคุกคาม การไร้สัญชาติ การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นต้น และให้บรรจุแนวคิดเขตสังคม และวัฒนธรรมพิเศษ ของกลุ่มชาติพันธุ์ฯไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงขอให้สนับสนุนยกระดับการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ฯ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรมในสังคม
จากนั้น กลุ่มเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย นำโดย นางน้อย ประกอบปราณ ตัวแทนเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายเทียนฉาย เพื่อขอให้ปฏิรูปกระบวนการแก้ไขปัญหาผู้ไร้สถานะในประเทศไทย และเร่งคืนสัญชาติให้คนไทยผลัดถิ่น ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 โดยเสนอให้กระทรวงมหาดไทย เร่งคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่นใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร ตาก และ ตราด เพราะที่ผ่านมามีการคืนสัญชาติให้คนไทยผลัดถิ่นเพียง 2 พันคน เท่านั้น ซึ่งถือเป็นความล่าช้าของกรมการปกครอง ส่งผลให้คนไทยผลัดถิ่นต้องเสียโอกาสในการพัฒนาชีวิต ทั้งการศึกษาของเยาวชน และไม่สามารถไปทำงานต่างพื้นที่ การพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่มีสิทธิในการักษาพยาบาลและถูกเอาเปรียบเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ขอให้มีกองทุนฟื้นฟูวิถีชีวิต รวมทั้งขอให้ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม

** ดัน พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน

ต่อมานายปาลิน ธำรงค์รัตนสิน ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ได้ยื่นหนังสือถึง นายเทียนฉาย เพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน โดยนายปาลิน กล่าวว่า จากแนวคิดในเรื่องการจัดสวัสดิการช่วยเหลือของคนในชุมชนเพื่อสร้างหลักประกันสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชนในระดับรากหญ้า ที่ได้มีการยกระดับสถานะขึ้นเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้มีจำนวนสมาชิก และมีจำนวนกองทุนเพิ่ม และขยายตัวมากขึ้น พบว่าการบริหารกองทุนฯ มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน เครือข่ายฯจึงมีแนวคิดร่วมกัน ร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา โดยในร่างดังกล่าวได้มีการรวบรวมข้อกฎหมายใหม่ ปัญหาข้อติดขัดต่างๆ
ขณะที่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า ภารกิจของ สปช.จะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเห็น และการมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นถ้าความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญมาก ก็ขอให้ทุกฝ่ายช่วยอนุเคราะห์ นำเสนอข้อมูลต่อ สปช.ด้วย โดยข้อเสนอต่างๆ ของแต่ละกลุ่ม จะนำไปให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งหากนอกเหนือจากอำนาจ สปช. จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น