ปัตตานี - “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ชี้แจงเหตุผลในการบังคับใช้กฎหมาย และใช้กระบวนการยุติธรรมในการแจ้งความดำเนินคดีต่อองค์กรพัฒนาเอกชน เผยมีการประสาน และขอให้นำหลักฐานมาพิสูจน์แล้ว แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ
วันนี้ (11 มิ.ย.) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า จากกรณีสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐให้ความเป็นธรรม และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน รวมทั้งให้ถอนฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชน พร้อมกับยังได้เรียกร้องให้เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น
กอ.รมน.ภาค 4 สน. ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเป็นมาเพื่อความเข้าใจดังนี้ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2559 น.ส.อัญชนา หีมมิน๊ะห์ ประธานกลุ่มด้วยใจ ได้ยื่นหนังสือให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯ และ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ณ ค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส เกี่ยวกับสถานการณ์การซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับปากจะทำการตรวจสอบให้ข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน
จากนั้นวันที่ 10 ก.พ.2559 กลุ่มเครือข่ายองค์กรที่จัดทำรายงาน ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ได้ร่วมกันแถลงข่าว และเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557-2558” ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และต่อมา ภายหลังได้มีการนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ในส่วนของการดำเนินการนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส เพื่อนำมาสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด และใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นโดยเร่งด่วนต่อไป รวมทั้งได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กมส.) เพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากรายงานดังกล่าว จำนวน 54 ราย พบว่า สามารถตรวจสอบ และระบุตัวบุคคลได้เพียง 18 ราย ซึ่งผลจากการตรวจหลักฐานที่หน่วยนำมาชี้แจง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการควบคุมตัวไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า มีการซ้อมทรมานแต่อย่างใด ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้เชิญ น.ส.อัญชนา มาร่วมประชุมหารือเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2559 รวมทั้งได้ประสานขอข้อมูลบุคคลที่กล่าวอ้างต่อผู้จัดทำรายงานอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคล และองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
สำหรับเหตุผล และความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายนั้น กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการประสานความร่วมมือกับองค์กรที่จัดทำรายงาน เพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด จึงถือเป็นการเจตนาจงใจปกปิดข้อมูล โดยใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำรายงาน มิใช่การนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเยียวยา และหาแนวทางแก้ไขตามที่กล่าวอ้าง
ในขณะเดียวกัน ได้นำเอกสารดังกล่าวออกไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้สังคมเข้าใจผิด ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติภูมิ และความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นอกจากนี้ มีบางประเด็นที่สำคัญ เช่น “โดนให้เปลือยกายในห้องเย็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิง และโดนทหารพรานหญิงเอาหน้าอกมาแนบที่ใบหน้า” ถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีอย่างร้ายแรง
เพื่อธำรง และรักษาไว้ซึ่งการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงร่วมกันในชั้นศาล ด้วยการเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน โดยเชื่อมั่นว่า หากพยานหลักฐานมีอยู่จริง ผู้จัดทำรายงานต้องนำมาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล
แต่หากข้อมูลไม่มีอยู่จริง หรือมีเจตนาบิดเบือน ผู้จัดทำรายงานก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมาย ในฐานะที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ และหน่วยงานของรัฐที่พยายามมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อลดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรง พร้อมทั้งขอยืนยันว่า รัฐจะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม แต่รัฐไม่สามารถเพิกเฉย หรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายได้
ดังนั้น การออกมาเรียกร้องของกลุ่ม LEMPAR และฮิวแมนไรท์วอทช์ โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน จะสุ่มเสี่ยงต่อการส่งเสริม และสนับสนุนการใช้กฎหมู่ให้อยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งจะเป็นบัญหา และอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้