คอลัมน์ : คนคาบสมุทรสลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
------------------------------------------------------------------------------------------
สืบเนื่องจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ หมดวาระลงในเดือนมิถุนายน 2555
ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณ ว่าด้วยการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหากรรมการฯ และนายกสภาฯ โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย อธิการบดี (สมเกียรติ สายธนู ประธานกรรมการ) คณบดี (อ.เกษม สุริยกัณฑ์ / กรรมการ) ผู้อำนวยการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (ดร.สมศักดิ์ โชคนุกูล / กรรมการ) ผู้แทนคณาจารย์ประจำ (ผศ.สมชาย เลี้ยงพรพรรณ / กรรมการ) ผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่คณาจารย์ประจำ (นายจรูญ หยูทอง / กรรมการ) หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสภามหาวิทยาลัย (นางสาวจินตนา นาคจินดา / เลขานุการ)
ผู้เขียนได้รับเลือกตั้งจากพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่คณาจารย์ประจำ ให้เป็นกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย หลังจากทราบผลการเลือกตั้ง ผู้เขียนได้หารือกับหลายคนถึงแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเฉพาะกรรมการสรรหาส่วนที่ไปจากการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วย ประธานสภาคณาจารย์และพนักงาน นายกสมาคมศิษย์เก่า และผู้แทนคณาจารย์ประจำ
เพราะเมื่อศึกษาข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณว่าด้วยการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และนายกสภามหาวิทยาลัยแล้ว ผู้เขียนข้อบังคับระบุเพียงว่า ให้ส่วนงานวิชาการ ส่วนงานอื่น สมาคมศิษย์เก่า สำนักงานสภามหาวิทยาลัย สำนักงานมหาวิทยาลัย และสำนักงานวิทยาเขต ใช้วิธีการประชุมเฉพาะกรรมการประจำส่วนงานและสำนักงาน เพื่อเสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หรือนายกสภามหาวิทยาลัย
ข้อบังคับไม่ได้ระบุให้ส่วนงานและสำนักงานเหล่านั้น รับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรในส่วนงานหรือสำนักงาน โดยวิธีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอันพึงมี พึงทำ ในกระบวนการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งที่มีความสำคัญในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ทั้งในฐานะผู้กำกับนโยบาย และการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยในระดับต่างๆ ในอนาคต
นอกจากนั้น ข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการสรรหากรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ยังบัญญัติให้กรรมการสรรหาต้องให้มีกรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเสนอชื่อ 1 คน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองของคณะกรรมการสรรหา เสนอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อโปรดเกล้าฯ ต่อไป
เมื่อสอบถามประธานกรรมการสรรหาฯ ได้รับคำตอบว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยในกำกับ ล้วนมีบทบัญญัติข้อนี้ทุกมหาวิทยาลัย (ยกเว้นมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ - ผศ.ดร.ณรงค์ บุญสวยขวัญ บอก)
แสดงให้เห็นถึง “ความไม่สมประกอบของวิธีคิดของคนที่ยกร่างข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณ” อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญทั้งในทางบริหาร หลักธรรมาภิบาล และความเสมอภาค ภราดรภาพในระบอบประชาธิปไตย เป็นการร่างกฎหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเดียว ที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรทั้งองค์กร ทำลายความชอบธรรมอีกหลายประการโดยไม่จำเป็นอย่างน่าเสียดาย และดูเหมือนจะไม่มีใครที่มีอำนาจวาสนาอยู่ก่อนหน้านี้และในขณะนี้ จะรู้ร้อนรู้หนาวต่อสิ่งที่น่าสมเพชเวทนานี้
เพื่อให้การสรรหากรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ยึดโยงกับประชาคมของมหาวิทยาลัย และเพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาคมในเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามหลักธรรมาภิบาล จึงควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมมหาวิทยาลัย และให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการและปฏิทินของการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาทั้ง 2 ชุด
ในการประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 หลังจากเลือกตั้งผู้แทนจากคณาจารย์ประจำและผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่คณาจารย์มาตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม ผู้เขียนจึงเสนอให้จัดเวทีประชาคมเพื่อชี้แจงขั้นตอน กระบวนการในการดำเนินงาน และรับฟังความคิดเห็นจากประชาคม โดยให้สภาคณาจารย์และพนักงานในฐานะหน่วยงานกลางของมหาวิทยาลัย อันเป็นผู้แทนอันชอบธรรมของบุคลากรทั้งหมดเป็นแม่งาน
ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการฯ รศ.ไพบูลย์ ดวงจันทร์ ดร.สมศักดิ์ โชคนุกูล ผศ.สมชาย เลี้ยงพรพรรณ โดยเสนอให้นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมเป็นเจ้าภาพดำเนินการด้วย โดยมหาวิทยาลัยจะอำนวยความสะดวกในการขอความร่วมมือไปยังส่วนงานและสำนักงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดเวทีประชาคมในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ชั้น 2 สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ เป็นผู้ชี้แจงกระบวนการ ขั้นตอนการสรรหาฯ
ปัญหาของกระบวนการสรรหาในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยทักษิณคือ กระบวนการสรรหาไม่ยึดโยงกับประชาคมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย ผู้ได้รับการสรรหาถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกันกับผู้สรรหา ถึงขนาดมีการเปรียบเปรยกันว่า อธิการบดีกับนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ “ผลัดกันเกาหลัง” ให้กันและกัน
ส่วนกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาคม เป็นเพียงพิธีกรรมหลอกเด็ก เพื่อให้ดูดี มีวิสัยทัศน์ สักแต่ว่าทำพอให้ครบองค์เท่านั้น เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เคยเสนอผู้ที่ไม่ยอมมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาคม ตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนดให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณารับรองเพื่อโปรดเกล้าฯ เป็นอธิการบดีมาแล้ว ประชาคมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยทักษิณจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะคิดว่าพูดไปก็เท่านั้น คณะกรรมการฯฟัง “แต่ไม้ได้ยิน”
แต่สำหรับผู้เขียนกลับมองว่า ผลจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ ประชาคมจะต้องมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ แต่หากปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็จะต้องทำใจยอมรับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นตามมาจากผลอันนั้น
แต่จะทำอย่างไรดีกับสังคมที่คนส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะ “เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่ แต่ไม่กล้าพอที่จะตาย” (อาเมรุ)