คนท้องถิ่นจับตาคำสั่ง 22/59 หัวหน้า คสช. อาจปฏิรูปท้องถิ่นครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เผยข้อมูล อปท.ที่จัดทำไว้มีนัย ด้านปลัดมหาดไทยเผยคำสั่ง คสช.หวังแก้ปัญหาซ้ำซ้อน ให้ ปลัด มท.มีอำนาจแต่งตั้งผู้บริหาร อปท.แทนผู้ว่าฯ สกัดตั้ง “ญาติ” นั่งในสภาท้องถิ่น ย้ำทำแค่ช่วงเปลี่ยนผ่าน
วันนี้ (6 พ.ค.) มีรายงานว่า เฟซบุ๊ก “ปลัดเชื้อ ฮั่นจินดา” ของนายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้แสดงความเห็นต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่22/2559 เรื่องการได้มาซึ่งสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการ “ยุบสภาท้องถิ่น” ว่า “หรือจะถึงเวลาการเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นทั่วประเทศ ข้อมูล อปท.ที่ปล่อยออกมาเผยและกระจายไปทั่วประเทศ เป็นข้อมูลที่มีการจัดทำไว้เป็นฐานข้อมูลในเชิงประจักษ์ ในเรื่องของจำนวน อปท./ประชากรในแต่ละ อปท./รายได้ของแต่ละ อปท.ฯลฯ และเมื่อดูคำสั่ง คสช.ที่ ๒๒/๒๕๕๙ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวาน มันมีนัยแห่งความสัมพันธ์...
หรือนี่ได้เวลาปฏิรูปองค์กรปกครองท้องถิ่นในเร็วๆ นี้แล้ว การปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น ..พวกเรา พี่น้องข้าราชการท้องถิ่น ต้องคอยติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิดและที่สำคัญต้องร่วมมือให้การสนับสนุนในการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า.. ..ลองดูข้อมูลที่ผมนำมาลงให้ดูแล้วกันครับ แล้วลองดูว่าใครอยู่อย่างไร ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นจริงในวันข้างหน้านี้”
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ มีประกาศ คสช.เกี่ยวกับท้องถิ่น 2 ฉบับ ฉบับแรกช่วงเดือน ก.ค. 2557 มีประกาศ คสช. ที่ 85/2557 ระบุใจความสำคัญว่า ให้งดจัดให้มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไปก่อน อย่างไรก็ดีมีสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นหลายแห่งที่ได้ครบวาระ หรือว่างลง หรือมีกรณีสิ้นสุดสมาชิกสภาพ หรือมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดถือว่าให้สิ้นสุดสมาชิกสภาพ ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ใช้วิธีการคัดเลือกบุคคล โดยมีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฯ
อีกฉบับ ช่วง ธ.ค. 2557 มีคำสั่ง คสช.ที่ 1/2557 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุใจความสำคัญว่า สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระ หรือกรณีสิ้นสุดสมาชิกสภาพ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยให้มีจำนวนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น แต่ถ้ามีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด ให้ดำเนินการตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557
ด้านนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นกฎหมายออกมาเพื่ออุดช่องว่างเดิมที่การเเต่งตั้งหรือรักษาการของสภาท้องถิ่น จากคำสั่ง คสช.2 ฉบับ ที่ไม่ได้กำหนดขั้นตอน ถ้าหากในอนาคตมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ใดถูกยุบจะต้องทำอย่างไร จึงจำเป็นต้องออกคำสั่งฉบับดังกล่าวออกมา และจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มี อปท.ใดถูกยุบ โดยหากในอนาคตมี อปท.ถูกยุบก็จะนำมาใช้แต่งตั้งเเทนได้ แต่คำสั่งที่ออกมาก่อนหน้านี้ไม่ได้เกิดจากกรณียุบสภาท้องถิ่น แต่เป็นการพ้นจากตำเเหน่งเพราะหมดวาระ
“หากมีการยุบสภาท้องถิ่น เพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะผู้เสนอให้ยุบสภาท้องถิ่นภายในจังหวัด แล้วถ้าไปเเต่งตั้งเองมันก็จะไปทับซ้อน เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เลยเปลี่ยนให้เป็นตามหลักธรรมาภิบาล ให้มีคณะกรรมการตามโครงสร้าง มีผมที่เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน” นายกฤษฎากล่าว
ปลัดมหาดไทยย้ำด้วยว่า สมมติถ้ามีผู้เสนอให้คนนี้ออก แล้วคนที่เสนอให้ออกเป็นผู้พิจารณารับคนเข้ามาใหม่ เพราะฉะนั้นเขาอาจจะรับญาติตัวเองเข้ามาก็ได้ ก็ถือว่าเป็นไปตามหลักการถ่วงดุล ไม่ใช่ให้อำนาจไปอยู่ที่คนคนเดียว เสนอยุบด้วยแล้วก็มีอำนาจเเต่งตั้งใหม่ ก็จะเกิดข้อครหาขึ้นมาอีก ส่วนปัญหาการใช้งบประมาณทที่มีความขัดเเย้งในระดับท้องถิ่นนั้น ก็ไม่เกี่ยวกัน เป็นเเค่การกำหนดที่มาที่ไปเท่านั้น
“ยืนยันได้ รัฐบาล คสช.ชุดนี้จะไม่เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ต่อจากนี้รัฐธรรมนูญเมื่อมีการประกาศใช้ในเรื่องผู้ที่มาทำหน้าที่รัฐบาลต่อไปจะปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ว่ากัน คำสั่งนี้ออกมาเพื่ออุดช่องว่างในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น แล้วก็ไม่เกี่ยวกับการเตรียมรับประชามติเลย ต้องว่ากันไปตามพระราชบัญญัติประชามติที่ออกมา” ปลัด มท.กล่าว
เมื่อค่ำวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น
“โดยที่การยุบสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กําหนดให้เป็น อํานาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งยุบสภาสําหรับสภาตําบลหรือมีอํานาจเสนอรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งยุบสภาสําหรับสภาท้องถิ่นอื่น ในขณะที่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ได้กําหนดให้ในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่นที่มิใช่การยุบสภากรุงเทพมหานคร ให้ดําเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กําหนดในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗
โดยกระบวนการตามประกาศดังกล่าวได้กําหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ กรณีเช่นนี้ทําให้การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จึงสมควรกําหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่นให้มีความเป็นกลางและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน อันจะทําให้การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ยกเว้นกรุงเทพมหานครการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ดําเนินการตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้
ให้ข้อกําหนดในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ให้การดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่นเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เป็นอันสิ้นผล และให้ดําเนินการตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้แทน
ข้อ ๒ ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่นคณะกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นรองประธาน อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรรมการให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแต่งตั้งสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการให้นําบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการสรรหาโดยอนุโลม
ข้อ ๓ เมื่อมีการยุบสภาท้องถิ่นในเขตจังหวัดใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดนั้นเสนอรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๒ และข้อ ๔ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ฯเป็นจํานวนสามเท่าของสมาชิกสภาท้องถิ่นที่จะสรรหาได้ตามประเภทที่กําหนดในข้อ ๓ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ฯ โดยให้เสนอรายชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคําสั่งให้ยุบสภาท้องถิ่น ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจแต่งตั้งคณะกรรมการตามที่เห็นสมควรเพื่อช่วยดําเนินการก็ได้
บุคคลตามวรรคหนึ่งต้องอยู่ในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการยุบสภาท้องถิ่นในกรณีมีความจําเป็นอาจเสนอชื่อบุคคลที่อยู่ภายในเขตจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ก็ได้กรรมการสรรหาไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น
ข้อ ๔ เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้รับรายชื่อบุคคลตามข้อ ๓ แล้ว ให้คัดเลือกบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นตามจํานวนที่กําหนดในข้อ ๓ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๘๕/๒๕๕๗ฯ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ประธานคณะกรรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นภายในสามวันนับแต่วันที่คัดเลือกเสร็จ และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับการประกาศแต่งตั้งนั้นเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับแต่วันประกาศแต่งตั้ง
ข้อ ๕ ให้คณะกรรมการสรรหามีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกําหนด
ข้อ ๖ ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกําหนดให้การมาดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามคําสั่งนี้เป็นเหตุให้ผู้ไดร้ับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องเสียสิทธิหรือเป็นข้อห้ามหรือเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติหรือเป็นลักษณะต้องห้าม มิให้นําบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นตามคําสั่งนี้
ข้อ ๗ ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้รับแต่งตั้งตามคําสั่งนี้มีวาระการดํารงตําแหน่งจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นขึ้นใหม่ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งว่างลง ให้สภาท้องถิ่นประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่เหลืออยู่โดยไม่ต้องดําเนินการคัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนตําแหน่งที่ว่าง และหากสภาท้องถิ่นใดมีสมาชิกสภาท้องถิ่นเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เหลืออยู่นั้นเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่จํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ฯ
ข้อ ๘ สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทําให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นหรือที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะกระทํา
ข้อ ๙ ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้รับแต่งตั้งตามคําสั่งนี้ ได้รับเงินเดือน เงินค่าตอบแทนค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกําหนด ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่
ข้อ ๑๐ ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้ใดทุจริตต่อหน้าที่หรือหากให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือท้องถิ่นน้ันอย่างร้ายแรง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งให้สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งได้
ข้อ ๑๑ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”