xs
xsm
sm
md
lg

เผยผล “สำรวจสันติภาพ” รอบแรกประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงคาดหวังต่อการพูดคุยสันติภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - 15 องค์กร เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบแรก พบผู้คนส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ในขณะที่ยังมีข้อกังวลว่าการพูดคุยอาจไม่ได้ทำให้ความรุนแรงลดลง และคู่สนทนาตกลงกันไม่ได้ ตลอดจนไม่มีความจริงจังมากพอ แต่ถึงอย่างนั้นก็เชื่อว่าหากมีความต่อเนื่องก็น่าจะบรรลุถึงข้อตกลงสันติภาพได้ในเร็ววัน

วันนี้ (17 พ.ค.) ผู้แทนของสถาบันทางวิชาการ และองค์กรประชาสังคม 15 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ณ ห้อง B103 คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน สมาชิกองค์กรประชาสังคม นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้

มีวัตถุประสงค์ที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ว่า มีความคิดเห็น และความรู้สึกอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น เพื่อให้รัฐบาล กลุ่มขบวนการต่อสู้ปาตานี หรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสาธารณชนได้รับรู้ความต้องการของประชาชน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การสำรวจครั้งนี้ถือเป็นการครั้งแรกที่มีการร่วมงานขององค์กรทางวิชาการ และองค์ประชาสังคม 15 หน่วยงาน และผ่านการมีส่วนร่วมกับหลายฝ่าย ตั้งแต่การคิดโจทย์คำถามร่วมกัน ไปจนถึงลงสนามเก็บข้อมูลในพื้นที่ มีการสุ่มตัวอย่างโดยละเอียดลงลึกไปถึงระดับครัวเรือน โดยเริ่มสำรวจตั้งแต่ 8 ก.พ.-13 มี.ค.2559 โดยมีกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่ดังกล่าว 1,559 ราย ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิงร้อยละ 55 เพศชายร้อยละ 45 เป็นมุสลิมร้อยละ 76.2 และชาวพุทธ 23.4
 

 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) เปิดเผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้การพูดคุย/เจรจาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ถึงร้อยละ 56.4 และระบุว่า ไม่สนับสนุนเพียงร้อยละ 4 เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่ารู้สึกเฉยๆ มากที่สุด คือ ร้อยละ 33 ในขณะที่ตอบว่า ไม่มีความเชื่อมั่นร้อยละ 23.1 และมีความเชื่อมั่นร้อยละ 20.6 ส่วนภาพรวมของความพึงพอใจต่อความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ ต่อความก้าวหน้า ร้อยละ 39.8 พอใจร้อยละ 22.2 และไม่พอใจ ร้อยละ 12.2 อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า กระบวนการพูดคุยว่ามีผลทำให้บรรยากาศ และสภาพแวดล้อมในชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นถึงร้อยละ 46.6

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ประชาชนมีข้อกังวลต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขที่กำลังดำเนินอยู่ในประเด็น 5 อันดับแรก คือ 1.กระบวนการพูดคุยไม่สามารถหยุดความรุนแรงได้จริง (ร้อยละ 61.8) 2.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามที่ตกลงกัน (ร้อยละ 60.9) 3.สถานการณ์รุนแรงขึ้นกว่าเดิม (ร้อยละ 58.6) 4.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รับฟังความต้องการของอีกฝ่ายอย่างจริงจัง (ร้อยละ 54.8) และ 5.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้เกียรติกัน (ร้อยละ 53.8) แต่ถึงจะมีข้อกังวลข้างต้น น่าสนใจว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 51 ที่มีความหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า กระบวนการพูดคุยที่ต่อเนื่องจะทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพในที่สุด

สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาล และขบวนการต่อสู้ฯ ได้พูดคุยกันในขณะนี้มีผู้เลือกตอบในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่จำนวนมากที่สุดเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการพัฒนาการศึกษาตามลำดับ ในขณะที่ประเด็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางบวกต่อการแก้ปัญหา ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 77.9) 2.การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน (ร้อยละ 74) 3.การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการเยียวยาให้มีความเป็นธรรม (ร้อยละ 62.2) 4.การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อน (ร้อยละ 59.1) 5.ตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง (ร้อยละ 57.9)

ส่วนข้อเสนอที่เกี่ยวข้องต่อการบริหารปกครองนั้น การสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 61.7 เห็นว่า หากต้องการจะแก้ไขปัญหาและสร้างสันติภาพ/สันติสุขที่ยั่งยืน จำเป็นต้องพูดถึงรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมต่อพื้นที่ โดยส่วนใหญ่อยากเห็นรูปแบบที่มีการกระจายอำนาจด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย (ร้อยละ 26.5) รองลงมาคือ รูปแบบที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่เหมือนกับส่วนอื่นๆ ของประเทศ (ร้อยละ 22.2) ส่วนรูปแบบที่ผู้ตอบแบบสอบถามไม่อยากได้ คือ รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ (ร้อยละ 25.1) และรูปแบบที่เป็นอิสระจากประเทศไทย (ร้อยละ 22.9) 

“พื้นที่กลางเพื่อสร้างสันติภาพ และแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในพื้นที่กลางความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ต้องมาจากทุกฝ่าย การทำวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อเสริมความเข้มแข็งของการสร้างพื้นที่กลาง นักวิชาการทุกปีกสถาบันทั้งใน และนอกพื้นที่ ภาคประชาสังคม ทุกปีกความคิด” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น