xs
xsm
sm
md
lg

สุขภาวะชายแดนใต้ที่คละคลุ้งทั้งควันปืน และถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความรุนแรงต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 12 และยังมีแนวโน้มที่ไม่จบลงง่าย และได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตไปนับหมื่นราย พิการอีกมาก และเกิดบาดแผลต่อผู้คนกว้างขวาง ที่สำคัญวิถีชีวิตผู้คนนั้นต้องเปลี่ยนไป แม้ว่าปัจจุบันหลายคนจะปรับตัวได้มากแล้ว แต่ความไม่สบายใจลึกๆ มีอยู่โดยทั่วไป

แต่ควันปืนควันระเบิดที่ยังต่อเนื่องในปัจจุบัน กำลังจะถูกซ้ำเติมด้วยควันถ่านหิน ชายแดนใต้กำลังจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ อีกทั้งการปรากฏตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ อีกขนาด 1,000 เมกะวัตต์ กำลังจะเป็น 2 หายนะใหม่ของชายแดนใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิตของชุมชน ป่าชายเลน รวมทั้งสัตว์น้อยใหญ่ และที่สำคัญอาจส่งผลต่อสันติภาพที่กำลังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ใช้ถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซียมาเผาวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ซึ่งมีโลหะหนักติดมาด้วยกับเนื้อถ่านหินสกปรกปีละกว่า 250,000 กิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในการหล่อเย็น และกำจัดก๊าซกำมะกันวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร มีบ่อเปิดไว้เก็บขี้เถ้ากว่า 700 ไร่ ที่แม้ขี้เถ้าที่เผาแล้วก็ยังลุกติดไฟเองได้ ปล่องควันที่สูง 200 เมตร หรือตึก 60 ชั้น จะแพร่มลพิษที่มีทั้งฝุ่นเล็กฝุ่นขนาดจิ๋ว โลหะหนัก สารไฮโดรคาร์บอน ซึ่งล้วนเป็นสารก่อมะเร็งออกไปไกล ซึ่งแน่นอนว่าไกลกว่า 5 กิโลเมตร แต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กลับทำในรัศมีเพียง 5 กิโลเตรเท่านั้น อีกทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกมหาศาล สวนทางต่อข้อตกลง COP 21 ที่นายกรัฐมนตรี ไปลงนามลดโลกร้อนด้วยตนเองที่ปารีส ส่วนมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินปานะเระ ก็เป็นครึ่งหนึ่งของเทพา

แต่ที่สำคัญไม่แพ้มลพิษก็คือ การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าเทพา และปานาเระ จะเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่อันเป็นภัยแทรกซ้อนต่อกระบวนการสันติภาพหรือไม่ นับเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ภาคประชาชนในชายแดนใต้ และคนไทยทั้งประเทศต้องให้ความสำคัญ

แน่นอนว่า หากกระบวนการขึ้นรูปโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศยังไม่สนใจการมีส่วนร่วมจริง สร้างการมีส่วนร่วมในการรับฟังแบบไม่มีการตอบคำถามให้ชัดแจ้ง โดยแค่ให้พูดคนละ 5 นาที แล้วห้ามถามอีก รวมเวลารับฟังเพียง 5 ชั่วโมง ซ้ำยังทำเวทีแต่ที่สงขลา โดยไม่มีการจัดเวทีการรับฟังความเห็น และข้อห่วงกังวลในพื้นที่ปัตตานี ที่อยู่ห่างไปเพียง 7 กิโลเมตร จากโรงไฟฟ้าเท่านั้นแม้แต่ตรั้งเดียว นี่หรือต้นตอของการคัดค้าน หากกระบวนมีส่วนร่วมดี คำถามของชาวบ้านได้รับการตอบอย่างแจ่มแจ้ง และไม่เล่นลิ้น การคัดค้านย่อมเบาบางลงไปมาก

ในประเด็นการไม่เคารพในอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของคนพื้นที่ก็สำคัญมาก การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บนเนื้อที่ 3,000 ไร่นั้น ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือน หรือนับพันคนออกจากบ้าน และที่ดินที่เป็นที่ฝังรกรากของเขา อีกทั้งยังกระทบต่อมัสยิด และสุสาน (กุโบร์) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสามอีก 1 แห่ง ซึ่งมีแนวโน้มที่ต้องย้ายออกไปในที่สุด แม้ว่า กฟผ.จะชี้แจงว่าไม่ย้าย แต่จะอนุรักษ์ไว้ แต่นับถึงวันนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานรูปธรรมใดๆ ที่จะบอกว่า กฟผ.จะออกแบบอย่างไรหากไม่ย้ายศาสนสถานเหล่านี้ เพราะการก่อสร้างต้องถมดินสูงหลายเมตร อีกทั้งต้องกั้นรั้วเพื่อความปลอดภัย สุดท้ายถ้าอนุรักษ์ไว้ก็จะเป็นเพียงอาคารที่ไม่มีคนมาเรียน ไม่มีการประกอบศาสนกิจ ซึ่งกระทบต่อความรู้สึก และความศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง การพัฒนาที่ต้องย้ายประชาชน และไม่เคารพอัตลักษณ์คนพื้นที่ไม่ควรเรียกว่าการพัฒนา และแท้จริงนั่นคือ การทำลายที่อ้างชื่อการพัฒนาเท่านั้น

คนชายแดนใต้ฝากบอกพี่น้องคนไทยมาว่า “ลำพังควันระเบิด และควันปืนจากเหตุการณ์ความไม่สงบก็หนักหน่วงพอแล้ว ขออย่าได้เอาควันถ่านหินมาซ้ำเติมพี่น้องชายแดนใต้อีกเลย”

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น