ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ เรียกร้องให้รัฐบาลไทย และบริษัทเหมืองแร่ยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิชุมชน และขอให้ยกเลิกพื้นที่เขาคูหาเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชน พื้นที่แหล่งน้ำ และภาคเกษตรกรรม
วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และบริษัทเหมืองแร่ยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิชุมชน โดยมีเนื้อหาว่า นับแต่ปลายปี 2552 เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้เคลื่อนไหวคัดค้านการต่อสัญญาการทำเหมืองหิน จากเหตุระเบิดหินที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน บ้านเรือนแตกร้าว ฝุ่นสกปรกเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เศษหินปลิวกระเด็นเข้ามาในบริเวณบ้าน พื้นที่ทำกินการเกษตร สายน้ำ โพรงถ้ำใต้ภูเขาถูกทำลาย
ปี 2554 แกนนำเครือข่ายฯ โดนบริษัทฯ เอกชนผู้ทำเหมืองหินดังกล่าวฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเกือบ 65 ล้านบาท เพื่อให้หยุดการเคลื่อนไหวคัดค้าน ทางเครือข่ายฯ ได้ต่อสู้ และชนะคดี ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556 ว่า “การฟ้องร้องของบริษัทฯ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และจงใจให้แกนนำเครือข่ายทั้ง 9 คนได้รับความเสียหาย ถือเป็นการละเมิด ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายรายละ 60,000 บาท” คดีนี้ถึงที่สุดแค่ศาลชั้นต้น จวบจนปัจจุบันทางบริษัทฯ ก็มิได้จ่ายค่าเสียหายแต่อย่างใด
บทเรียนการต่อสู้ของพวกเรา โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องแกนนำนี้ พบว่า นี้เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือให้เกิดความกลัวต่อการเคลื่อนไหวปกป้องชุมชน ไม่ใช่เป็นการฟ้องร้องตามสิทธิที่เสียไปของบริษัทแต่อย่างใด และมิใช่มีแต่เครือข่ายฯ เขาคูหาเท่านั้น เรื่องราวแบบนี้ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่เกือบทั่วประเทศ รวมถึงกรณีการเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอื่นก็โดนกระทำเฉกเช่นเดียวกัน
กรณีเหมืองทองที่จังหวัดเลย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องคดีแพ่ง และอาญาจำนวนอย่างน้อย 19 คดี และชาวบ้านในจังหวัดเลยยังต้องเผชิญการข่มขู่ และการโจมตีอย่างรุนแรงจากภาครัฐ และเอกชน
กรณีกลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนที่คัดค้านการทำเหมืองหินปูนในจังหวัดหนองบัวลำภู ผู้ประกอบการได้ฟ้องร้องคดีอาญาต่อสมาชิกของกลุ่ม โดยกล่าวหาว่าสมาชิกของกลุ่มใช้ข้อมูลเท็จเพื่อฟ้องร้องผู้อื่นต่อศาล และในระหว่างปี 2536-2542 สมาชิกของกลุ่มชุมชนดังกล่าวถูกยิงเสียชีวิต จำนวน 4 ราย ซึ่งยังไม่ปรากฏว่ามีผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตดังกล่าว
กรณีกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง เจ้าหน้าที่รัฐในอำเภองาว จังหวัดลำปาง ได้ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อสมาชิกซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่คัดค้านการทำเหมืองลิกไนต์ ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด โดยข้อหาที่ฟ้องจากการประท้วงที่หน้าศาลาว่าการจังหวัดลำปาง จากมีการชูป้ายผ้าที่งานประชุมแห่งหนึ่ง โดยกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่รัฐ
สิทธิชุมชนที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และนักปกป้องสิทธิชุมชน ได้ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ที่ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิชุมชน ซึ่งมีความสำคัญ และบทบาทที่ชอบธรรมในการแสดงออกถึงมุมมอง ข้อห่วงใย การวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงความคิดที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ หรือกิจกรรมการพัฒนาทางธุรกิจที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และชุมชน รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองการเคลื่อนไหวในบริบทดังกล่าว
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และบริษัทเหมืองแร่ยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิชุมชน และรัฐบาลไทยต้องสร้างกลไกการให้ความคุ้มครอง และสร้างหลักประกันให้แก่นักปกป้องสิทธิชุมชน
ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ขอชื่นชมในความกล้าหาญของรัฐบาลที่กล้าตัดสินใจ มีมติยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วยการต่ออายุการทำเหมืองทองคำทั่วประเทศ
และจะขอชื่นชมมากยิ่งขึ้น หากรัฐบาลพิจารณายกเลิกพื้นที่เขาคูหา เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชน พื้นที่แหล่งน้ำ และภาคเกษตรกรรม รวมถึงไม่ต่ออายุสัมปทานเหมืองหินเขาคูหา ตามเหตุผลที่ได้ทำหนังสือของเครือข่ายถึงนายกรัฐมนตรี เลขที่ คสค.04/2558 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2558