ลำปาง - ผู้ว่าฯ เมืองรถม้านำคณะข้ามแดนดูงาน “โรงไฟฟ้าหงสา-เขื่อนไชยะบุรี สปป.ลาว” ดูแนวทางทำโรงไฟฟ้า เขื่อนแบบไร้แรงต้าน 100% ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จในมือ “เจ้าแขวง” บอกเป็นข้อคิดที่ดีน่าใช้กับ “คนแม่เมาะ”
นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการได้เดินทางไป “ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าหงสาและเขื่อนไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” ที่พลังงานจังหวัดฯ จัดขึ้นระหว่าง 6-7 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดูความพร้อมการดำเนินงาน ศึกษาปัญหาและอุปสรรค รวมถึงศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนนำมาปรับใช้ในพื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดลำปาง
นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานสำหรับผู้บริหารของจังหวัด ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าส่วนราชการได้ร่วมกันสนับสนุนมิติด้านพลังงานให้เกิดเครือข่ายระหว่างผู้บริหารในจังหวัดลำปาง ให้สามารถนำองค์ความรู้ และข้อมูลจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังงานระดับจังหวัด อันจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของประเทศต่อไป
วันแรก (6 พ.ค.) คณะทั้งหมดได้เดินทางด้วยรถยนต์ออกจากจังหวัดลำปาง-ด่านห้วยโก๋น จังหวัดน่าน (ระยะทาง 324 กม.) ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองฝั่ง ก่อนจะออกเดินทางจากด่านเมืองหงสา (ระยะทาง 40 กม.) ถึงเมืองหงสา ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา (ถ่านหิน) เดินทางจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาไปเมืองไชยะบุรี (ระยะทาง 80 กม.) ถึงเมืองไชยะบุรี
หลังจากนั้น ในวันเสาร์ที่ 7 พ.ค. เดินทางศึกษาดูงานในการสร้างเขื่อนไชยะบุรี ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ (ระยะทาง 40 กม.) เสร็จออกเดินทางจากเขื่อนไชยะบุรี กลับเมืองไชยะบุรีผ่านทางด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ (ระยะทาง 190 กม.) กลับจังหวัดลำปาง
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 เริ่มจ่ายไฟจากโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1-2 จำนวน 982 เมกะวัตต์ ภายในเดือนพฤษภาคม 2558 และโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 3 จะจ่ายไฟฟ้า 491 เมกะวัตต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
โรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกใน สปป.ลาว ที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินจากเหมืองในเมืองหงสา ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท Lao Holding State Enterprise ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว วิศวกร และเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกือบทั้งหมดเป็นคนไทยจาก กฟผ.แม่เมาะ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,878 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม แม้โรงไฟฟ้าหงสาจะก่อสร้างในประเทศลาว แต่การใช้ไฟฟ้าของประชาชนลาวกลับมีน้อยมาก บางพื้นที่จะเห็นว่าไม่มีการใช้ไฟฟ้าเลย ชาวบ้านยังใช้ชีวิตตามวิถีเดิมๆ แต่โรงไฟฟ้าหงสากลับขายไฟฟ้าให้ไทยมากกว่า คือใช้ในรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเพียง 100 MW จำหน่ายให้ กฟผ.แห่งประเทศไทย 1,473 MW
นายสมศักดิ์ สิทธินามสุวรรณ MD และนายลิขิต พงศ์พงัน Social development เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการที่โรงไฟฟ้าหงสา ได้ใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง กฟผ.แม่เมาะมาเป็นต้นแบบในการก่อสร้าง สิ่งไหนที่เคยเกิดปัญหาก็ต้องแก้ไขให้จบก่อน เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และหลังจากเดินเครื่องแล้วจะต้องตรวจสอบทุก 5 ปี จึงทำให้การทำงานไม่มีประชาชนต่อต้านเลยแม้แต่คนเดียว
ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินงานก่อนการก่อสร้าง 2 ปี สำรวจพื้นที่ที่จะอพยพ ตรวจสอบข้อมูลของชาวบ้าน หลังจากนั้นหน่วยงานชาวบ้าน ภาครัฐก็จะมาหาข้อสรุปร่วมกัน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จบ จะไม่มีการต่อต้านเรียกร้องใดๆ เกิดขึ้นอีก
“สิ่งที่ชาวบ้านที่จะต้องอพยพได้รับมากกว่าที่อยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังใหม่ที่ดีกว่าเดิมมี 3 ระดับ คือ T1 T2 T3 หากบ้านเดิมประเมินค่าแล้วน้อยกว่า T1 ก็ให้ใช้ T1 หากบ้านเดิมมูลค่ามากกว่า T3 ส่วนที่เกินก็ชดเชยเป็นเงินแทน พร้อมที่ดินทำกินอีกคนละประมาณ 12.5 ไร่ ระบบสาธารณูปโภคพร้อมสรรพ ก่อนที่จะอพยพเข้าอยู่ในพื้นที่ ดังนั้น ประชาชนจึงไม่มีปัญหา และให้การสนับสนุนโครงการ และที่สำคัญคือ ทุกอย่างในแขวงจะจบที่เจ้าแขวงหมด ส่วนกลางจะสนับสนุนในบางเรื่องหากเจ้าแขวงไม่สามารถทำได้เท่านั้น”
ส่วนที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำไชยะบุรี ตั้งอยู่ในแขวงไชยะบุรีของ สปป.ลาว เป็นการสร้างเขื่อนทดน้ำบนแม่น้ำโขงเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น โดยไม่มีการผันน้ำออกจากแม่น้ำโขง และไม่มีการกักเก็บน้ำเหมือนเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำทั่วๆ ไป การสร้างเขื่อนทดน้ำจะทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นเฉพาะช่วงแขวงไชยะบุรีไปถึงตอนใต้ของเมืองหลวงพระบาง โดยมีระดับน้ำใกล้เคียงกับระดับน้ำสูงสุดในฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติ ส่วนตอนล่างของแม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำปกติตามธรรมชาติ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำไชยะบุรีมีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 810 เมตร ความสูงหัวน้ำใช้งาน (Rated Net Head) 28.5 เมตร มีการติดตั้งประตูระบายน้ำเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 10 บาน โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย และขนาด 60 เมกะวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่ สปป.ลาว รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 7,370 ล้านหน่วย
เมื่อโครงการไชยะบุรีก่อสร้างแล้วเสร็จจะส่งพลังไฟฟ้าให้ประเทศไทยจำนวน 1,220 เมกะวัตต์ ที่จุดส่งมอบไฟฟ้าชายแดนไทย-ลาว เป็นระยะเวลา 29 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณปีละ 6,929 ล้านหน่วย โครงการฯ มีอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก และยังเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ
นายอนุภาพ วงศ์ลคร ผช.กรรมการ ผจก.บจก.ไชยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งก็เป็นวิศวกรคนไทยเช่นเดียวกัน เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมีการก่อสร้างได้มีการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมย้อนกลับไปตั้งแต่เคยเกิดน้ำท่วม สอบถามปัญหาชาวบ้านที่เคยใช้แหล่งน้ำ ซึ่งก็มีความเป็นห่วง 2-3 เรื่องใหญ่ๆ คือ กลัวปลาสูญพันธุ์ ทางโครงการจึงได้ทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของปลาและทำทางสำหรับปลาโดยเฉพาะ ทำที่ขึ้นลงเรือหางยาวของชาวบ้านเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ และเพิ่มลดระดับน้ำให้เรือขนส่งขนาดใหญ่วิ่งผ่านช่องที่ทำไว้ให้ได้ โดยใช้ระบบแบบลิฟต์ในการเพิ่มระดับน้ำ ยกเรือ ซึ่งโครงการนี้ดำเนินงานไปแล้วกว่า 70% และไม่มีปัญหาด้านมวลชนเช่นกัน
ด้าน นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าฯ ลำปาง เปิดเผยว่า จากการฟังการบรรยายเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหงสาที่ไม่มีประชาชนต่อต้านเลย 100% จะเห็นว่าส่วนหนึ่งเนื่องจากระบบการบริหารงานของประเทศลาวที่ให้อำนาจเจ้าแขวง หรือจังหวัด ตัดสินใจได้เบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นข้อคิดที่ดีที่จะนำไปเสนอ เพื่อให้ลำปางสามารถที่จะแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับชาวแม่เมาะให้ลุล่วงไปได้