xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามเรือใหญ่จับปลาในเขต 3 ไมล์ทะเล ทำอวนล้อมจับปลากะตักเดือดร้อนหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พังงา - ชาวประมงอวนล้อมปลาจับปลากะตักกลางวัน เกาะยาวใหญ่ เดือดร้อนหนัก หลังมีประกาศห้ามเรือขนาดใหญ่เกิน 10 ตันกรอส จับปลาในเขต 3 ไมล์ทะเล ระบุไม่สามารถออกจับปลาได้ ส่งผลขาดรายได้ วอนจังหวัดเร่งเสนอแก้ปัญหายกเลิก พ.ร.ก.ขอจับปลาในเขต 1.5 ไมล์ทะเล

เมื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ (6 พ.ค.) ที่บริเวณท่าเทียบเรือแหลมใหม่ หมู่ที่ 7 ต.พรุไน อ.เกาะยาว จ.พังงา ชาวประมงพื้นบ้านอวนล้อมปลากะตักกลางวัน และชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งเด็กๆ ประมาณ 300 คน รวมตัวกันเรียกร้องขอให้ทางจังหวัดเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้านเรืออวนล้อมจับปลากะตักกลางวัน ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศห้ามเรือขนาด 10 ตันกรอส จับปลาในเขต 3 ไมล์ทะเล เนื่องจากที่ผ่านมา เรือประมงดังกล่าวจะจับปลากะตักอยู่ในบริเวณเขต 3 ไมล์ทะเล ทำให้หลังมีประกาศออกมาเรือทั้งหมดประมาณ 30 กว่าลำไม่สามารถออกจับปลากะตักได้ โดยการเรียกร้องในครั้งนี้ได้มีการชูป้ายข้อความต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาล และทางจังหวัดเร่งช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่กระทบเป็นลูกโซ่ โดยมี นายบุรี ธรรมรักษ์ นายอำเภอเกาะยาว พร้อมด้วยตัวแทนจากประมงอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียน

นายทิวากร ทองเกิด ประธานกลุ่มประมงอวนล้อมปลากะตักกลางวัน เกาะยาวใหญ่ กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศห้ามเรือขนาด 10 ตันกรอส ทำการประมงในเขต 3 ไมล์ทะเล ทำให้เรือจับปลากะตักซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 กว่าลำ ในพื้นที่เกาะยาว ไม่สามารถออกทำการประมงได้ ซึ่งขณะนี้ต้องหยุดจับปลามาแล้วประมาณ 1 เดือน ชาวบ้านในพื้นที่หลายร้อยครัวเรือนกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะเรือจับปลากะตักมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งระบบ ทั้งเรือจับปลา การแปรรูป และอื่นๆ เมื่อไม่สามารถออกจับปลาได้ผลกระทบเลยเกิดขึ้นทั้งระบบ ที่ผ่านมา ทางชาวบ้านได้ร้องขอไปยังจังหวัดให้แก้ไข พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการประมงระดับจังหวัดก็เห็นด้วย แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งพวกตนไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานขนาดไหน เพราะขณะนี้ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนมาก จึงอย่างให้ทางจังหวัดเร่งดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเร็ว หรือให้ชะลอการจับกุมเรือประมงที่ออกไปจับปลาก่อนในระหว่างที่กำลังรอการแก้ไขกฎระเบียบ

ส่วนสาเหตุที่ทางชาวประมงต้องขอให้มีการแก้ไขเรื่องของพื้นที่การจับปลากะตัก ก็เนื่องจากปลากะตักเป็นปลาชายฝั่ง จะอาศัยอยู่ในเขตระยะประมาณ 3 ไมล์ทะเลเท่านั้น ข้างนอกออกไปอาจจะมีบ้างแต่จำนวนน้อยมากไม่คุ้มต่อการออกจับปลาในแต่ละครั้ง ส่วนเรือของชาวประมงที่ต้องทำให้ขนาดใหญ่ขึ้นก็เนื่องจากต้องการประหยัดต้นทุน เดิมเวลาออกไปจับปลาต้องใช้เรืออย่างน้อย 2 ลำ แบ่งเป็นเรือจับปลา เรือต้มปลา แต่ตอนนี้เพื่อประหยัด และลดต้นทุนจึงทำเรือให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งจับปลา และต้มปลาอยู่ในเรือลำเดียวกัน จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ นายบุรี ธรรมรักษ์ นายอำเภอเกาะยาวใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านนั้น ทางอำเภอ และทางจังหวัดทราบเรื่องดี ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว และที่ประชุมก็เห็นด้วยที่จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.ก.เพื่อให้ชาวบ้านสามารถทำการประมงได้ แต่ขณะนี้กำลังอยู่ในการขั้นตอนของการดำเนินการซึ่งจะต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งในวันที่ 11 พ.ค.นี้ นายณรงค์ พิพัฒน์ชัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางลงมาพื้นที่ที่เกาะยาว พร้อมด้วยคณะเพื่อมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านอีกครั้งเพื่อหาทางออก และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น