xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “สถานการณ์รุนแรง” ที่จะตามมาจาก “ขาโต๊ะพูดคุยสันติสุข” ถูกหัก / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบก่อนสิ้นเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ก่อการร้าย ซึ่งชี้ชัดว่า เป็นการกระทำของ “แนวร่วมขบวนการก่อการร้ายบีอาร์เอ็นฯ” และพันธมิตรที่มีแนวคิดร่วมกันในการไม่รับการ “พูดคุยสันติสุขหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
ส่วนใหญ่เป็นการก่อการร้ายด้วยการใช้ “ระเบิดแสวงเครื่องไม่ว่าจะเป็นที่เทศบาลเมืองนราธิวาส หรือใน อ.ยะหา และอำเภออื่นๆ ใน จ.ยะลา อีกทั้งหลายเหตุการณ์ใน จ.ปัตตานี เรียกว่ามีการก่อการร้ายครบถ้วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
โดยเป้าหมายยังอยู่ที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นด้านหลัก ในขณะที่มี “ประชาชน” ถูก “ลูกหลง เพราะเผอิญอยู่ใน “พื้นที่สังหาร” ได้รับเคราะห์ บาดเจ็บ ล้มตาย ไปด้วยจำนวนหนึ่ง
 
สาเหตุของการก่อเหตุความรุนแรงอย่างต่อเนื่องใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลาคือ นาทวี เทพา จะนะ และสะบ้าย้อย หน่วยข่าวความมั่นคงมีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุมาจากในเดือนเมษายนที่ผ่านมามี “วันสัญลักษณ์” ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องการที่จะ “ตอกย้ำ” ให้ “สังคมมุสลิมทั่วโลก” ได้รับทราบ เพื่อให้เห็นถึงความ “ผิดพลาด” ของรัฐไทย
 
นั่นคือ ในวันที่ 26 เมษายน เป็นวันครบรอบเหตุร้ายในอดีตที่เรียกว่า “กบฏดุซงญอ ซึ่งเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 26 เมษายน 2491 ซึ่งมาถึงวันนี้นับได้ 68 ปีผ่านมาแล้ว เป็นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างคนมุสลิมในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 400 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 40 ราย ที่เหลือเป็นพลเรือน
 
รัฐไทยเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “กบฏดุซงญอ” หมายถึงคนในพื้นที่ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ก่อการเป็นกบฏต่อรัฐ แต่คนมุสลิมเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “เคบังอีตัน” แปลว่า “การลุกขึ้นต่อสู้”
 
ในปี 2491 เป็นยุคสมัยที่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรียกว่า จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และมีหลวงสินาดโยธารักษ์ (เชิด มั่นศิลป์) เป็นรัฐมนตรีตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
 
ซึ่งจะเห็นว่าเวลาอันยาวนานถึง 68 ปี ไม่ได้ทำให้ “บาดแผล” ที่เกิดขึ้นเลือนหายไปจากความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ เนื่องจากทุกๆ ปีของวันนี้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังนำเอาเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมา “ตอกย้ำ” ความรู้สึกของมุสลิมทั้งโลกให้รับรู้เรื่องที่เคยเกิดขึ้น เพื่อสร้างความ “เกลียดชัง” ให้เกิดขึ้นต่อเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด
 
ส่วนเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดที่ถูกขบวนการแบ่งแยกดินแดนขุดขึ้นมาเพื่อ “ตอกย้ำ อีกเรื่องคืน เมื่อวันที่ 28 เมษายนปี 2547 คือ การ “ตายหมู่ 32 ศพ ในมัสยิดกรือเซะ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี
 
อันเนื่องมาจากการที่คนในหลายพื้นที่กลุ่มหนึ่งถูก “ล้างสมองด้วยความเชื่อที่ผิดๆ ให้เป็น “ปรปักษ์” ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วจับอาวุธเท่าที่หาได้ เช่น ปืน และมีดเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ ก่อนจะถูกปิดล้อม “จนมุม” ใน “มัสยิดกรือเซะ” สุดท้ายเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้ “มาตรการเด็ดขาด หลังจากที่ผู้หลงผิดที่หลบอยู่ในมัสยิดไม่ยอมมอบตัว จนกลายเป็นการ “ตายหมู่ เกิดขึ้น
 
เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ได้กลายเป็น “บาดแผล” ที่ทุกวันที่ 28 เมษายน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะต้องนำบาดแผลที่เกิดขึ้นไป “ขยายผล” เพื่อสร้างความเกลียดชัง และให้มีผู้ที่เห็นต่างเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดใน 12 ปีที่ผ่านมา
 
แม้ว่าผู้ที่สูญเสียทั้งหมดในมัสยิดกรือเซะ จะได้รับการ “เยียวยาจากรัฐในวงเงินครอบครัวละ 4 ล้านบาทไปแล้ว และส่วนใหญ่ ณ วันนี้ครอบครัวของผู้สูญเสียมีความพอใจในการเยียวยาของรัฐ และไม่ได้ “ติดใจ ต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้น
 
แต่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ก็ยังคงใช้ “กลยุทธ์เดิมๆ” นำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือในการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ที่ยังได้ผลในเวทีโลก และในพื้นที่ แม้คนส่วนหนึ่งได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ว่าเกิดจากอะไร และใครผิด ใครถูก
 
นั่นคือสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน และถูกวิเคราะห์ว่า สาเหตุของความรุนแรงมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ ซึ่งอาจหมายรวมถึงสาเหตุอื่นๆ ทั้งมาจากการตอบโต้ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้ “ยางแรงทั้งต่อการเปิดเกมรุกเข้าใส่แนวร่วม ทั้งที่อยู่ใน “หมู่บ้านและใน “เทือกเขา หลังหมู่บ้าน การปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย และการขึ้นบัญชีดำผู้มีอิทธิพล
 
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว สาเหตุของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น 2 เหตุการณ์ในอดีต เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุความรุนแรง แต่ไม่ใช้ทั้งหมด เพราะถึงจะไม่มี 2 เหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่าเป็น “สัญลักษณ์ในเดือนเมษายน สถานการณ์ความรุนแรงก็ยังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ดี
 
เนื่องจาก “ธงของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีบีอาร์เอ็นฯ เป็นผู้นำนั้น ต้องการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนวิธีการที่ใช้คือ การ “เกาะติดเจ้าหน้าที่รัฐในทุกพื้นที่ เมื่อมี “ช่องว่าง ให้ปฏิบัติการด้วยอาวุธได้ตรงไหนก็จะปฏิบัติการตรงนั้น
 
ทั้งนี้เ พราะต้องการรักษา “สถิติ” ในการก่อเหตุ และเพื่อให้ “มวลชน” เห็นว่าข บวนการยังมีความสามารถในการปฏิบัติการ
 
โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประกาศให้เป็นพื้นที่ “อำเภอสันติสุข จังหวัดละ 1 อำเภอ นั่นคือ เป้าหมายหลักของขบวนการก่อการร้าย เพราะการทำลายอำเภอสันติสุขอย่าง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ได้ผลในทาง “จิตวิทยา มาก ถือว่าเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำ เพราะไม่สามารถทำให้พื้นที่ “สันติสุข ได้อย่างที่ประกาศ
 
ดังนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องระวังคือ เมื่อประกาศให้พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่สันติสุขแล้ว ต้องสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้จริง จึงจะเป็นการทำ “นโยบาย” ให้ “เป็นจริง” ได้
 
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าไม่มองแต่ด้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นด้านหลัก เหมือนกับการ “ติดกับความรุนแรง และมองไปยังการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการพิจารณาจาก “เนื้องานในการแถลงข่าวในรอบ 6 เดือนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึงมีนาคม 2559 จะพบว่า มีส่วนที่น่าจับตามองอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน
 
หนึ่งคือ จากการรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่  ซึ่งพบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่น และมีทัศนคดีเชิงบวกต่อนโยบายของรัฐสูงขึ้นร้อยละ 85.76  และมีประชาชนให้ความร่วมมือในด้าน “การข่าวและการมี “ส่วนร่วม” ในการแก้ปัญหามากขึ้น
 
และอีกหนึ่งคือ ในการป้องกันเหตุร้าย มี “ภาคประชาชนออกมาร่วมมือ” ในการรักษาความสงบความปลอดภัยต่อกองกำลัง 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และพลเรือนถึงวันละ 26,000 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
 
อันเป็นตัวเลขที่น่าพอใจว่า ในอนาคตถ้าประชาชนให้ความร่วมมือในการออกมาดูแลพื้นที่ ซึ่งเป็น “มาตุภูมิ” ของตนเอง เหตุร้ายที่เกิดขึ้นอาจจะลดลง
 
ในขณะที่งานด้านการพัฒนา ด้านการป้องกัน และปราบปราบยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนหนักใจ และต้องการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการเป็นอันดับ 1 และภัยอื่นๆ ที่เป็น “ภัยแทรกซ้อน มีการปฏิบัติการที่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
 
ถ้าทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ “สื่อมวลชนไม่ติดกับของสถานการณ์ความรุนแรง โดย “สาละวน อยู่แต่เรื่องของระเบิดแสวงเครื่อง และสถานการณ์รายวันที่เกิดขึ้น แล้วมองดู “สิ่งดีๆจะพบว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยัง “ไม่ว้าเหว่ ชนิดที่มองทางออกไม่พบ หาทางออกไม่เห็นแต่อย่างใด
 
แต่ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ และ กอ.รมน.ต้องเตรียม “รับมือ” ให้ได้ คือ หลัง “ความล้มเหลว” ของการ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่าง “กลุ่มมาราปาตานี” กับทีมพูดคุยสันติสุขของรัฐไทย ซึ่งจะต้องส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้นตามมาอย่างแน่นอน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น