คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
ระเบิดที่เกิดขึ้นถี่ๆ ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ประกอบด้วย เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อย ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าสถานีรถไฟ อ.จะนะ หรือที่ร้านชำ ใกล้สถานีรถไฟบ้านตาแปด อ.เทพา รวมทั้งก่อนหน้านี้ ที่มีการกราดยิงร้านก๋วยเตี๋ยวเรือในตลาด อ.สะบ้าย้อย นับเป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ “ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย” ของหน่วยงานความมั่นคง
เพราะหน่วยข่าวความมั่นคงล้วนทราบดีว่า “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน” นอกจากมีเป้าหมายในการก่อการร้ายในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาแล้ว ยังพยายามที่จะก่อการร้ายในพื้นที่ของ “อ.หาดใหญ่” และ “อ.สะเดา” อีกด้วย
สาเหตุที่แนวร่วม หรือที่มักเรียกกันว่า “โจรใต้” เลือกเอาพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นที่ก่อการร้าย เพราะเป็น “พื้นที่เปราะบาง” ที่มี “จุดอ่อน” และมี “ช่องว่าง” ให้แนวร่วมสามารถปฏิบัติการได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ “ฝ่ายปกครอง” และ “ตำรวจ” เป็นหลัก โดยมีกำลังของ “ทหาร” เป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนในการปฏิบัติการ
รวมทั้งการปฏิบัติการรุกคืบของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่ใช้นโยบายทั้งด้าน “การทหาร” และ “การเมือง” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” จนเกิดความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ในด้านของ “การข่าว” ที่คนในพื้นที่ได้ให้ “เบาะแส” ความเคลื่อนไหวของแนวร่วม จนทำให้แนวร่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ถูกปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม จนทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิบัติการต่อเป้าหมายทำได้ไม่สะดวกเหมือนเดิม
จึงเลือกที่จะก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนั้น การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นถี่ๆ ใน 4 จังหวัดยังมาจากการร่วมมือกันของ “ผู้เสียผลประโยชน์” อีก 2 กลุ่มที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รุกไล่ตามนโยบายปราบปราม “ภัยแทรกซ้อน” คือ การปราบปรามพวกขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และธุรกิจเถื่อนอื่นๆ อีกทั้งขึ้น “บัญชีดำผู้มีอิทธิพล” ในจังหวัด ตามนโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จึงเป็นที่รู้กันว่า ขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และธุรกิจเถื่อนอื่นๆ คือ “กระเป๋าเงิน” ที่สนับสนุนให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมี “ทุน” ในการก่อการร้าย
ส่วน “ผู้มีอิทธิพล” ในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย นักการเมือง ผู้นำท้องที่ คนในเครื่องแบบ และนายทุนทั้งผู้รับเหมา เจ้าของธุรกิจสีเทา ที่มีความแนบแน่นกับ “มาเฟีย” และนักการเมืองในส่วนกลาง เมื่อคนเหล่านี้เสียผลประโยชน์จากปฏิบัติการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็น “ความร่วมมือเพื่อสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น” เพื่อให้สังคมเห็นว่าเป็น “ความล้มเหลว” ของรัฐในการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้
สถานการณ์ไฟใต้ในช่วงเวลานี้ นอกจากจะมีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจาก “แรงบวก” ของผู้ที่สูญเสียประโยชน์จากการรุกคืบหน้าของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทั้งในเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในเรื่องของขบวนการภัยแทรกซ้อน และในเรื่องของรายชื่อตามบัญชีดำในแต่ละจังหวัดแล้ว
สิ่งที่จะตามามาคือ “แรงเฉื่อย” ของอีกหลายหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น “ท้องถิ่น” และ “ท้องที่” รวมทั้ง “ข้าราชการ” ที่เสียผลประโยชน์ที่ “ใส่เกียร์ว่าง” ในรูปแบบต่างๆ
ทั้งหมดทั้งปวงยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะถือเป็น “เรื่องประจำถิ่น” หรือเป็น “โรคประจำร่าง” ที่คนในพื้นที่มีความ “ชาชิน” และร่างกายมี “ภูมิต้านทาน”อย่างเพียงพอ
รวมทั้งวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีอำนาจอย่าง “เบ็ดเสร็จ” ในการที่จะจัดการต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่า พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 มีความรู้ ความเข้าใจ และมีวิธีการในการดำเนินการ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาตามลักษณะของคำว่า “ราชการ”
แต่ปัญหาที่ต้องจับตามองด้วยความ “เป็นห่วง” ต่อสถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องของการก่อการร้าย แต่เป็นเรื่อง “เกมการเมือง” ของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani ; BRN) ที่หยิบเอาประเด็นที่ “อ่อนไหว” มาเล่น
นั่นคือ เรื่องของ “ปอเนาะญีฮาด” ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งถูกศาลแพ่งพิพากษายึดเป็นของแผ่นดินตามคำฟ้องของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพราะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งนี้ถูกใช้เป็นที่ “บ่มเพาะ” และ “ฝึกอาวุธ” ให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
โดยบีอาร์เอ็นฯ อาศัยเงื่อนไขทางศาสนาว่า ที่ดินของปอเนาะญีฮาดเป็น “ที่ดินวากัฟ” ดังนั้น การที่กระบวนการยุติธรรมของไทยยึดที่ดินแห่งนี้เป็นของรัฐ จึงเป็นการขัดต่อหลักศาสนา ซึ่งเท็จจริงอย่างไร ผู้รู้ทางศาสนาจะเป็นผู้วินิจฉัย
แต่ในขณะที่ยังไม่มีการวินิจฉัย ปรากฏว่า “มุสลิม” ส่วนหนึ่ง “เห็นชอบ” ต่อการปลุกระดมของบีอาร์เอ็นฯ ไปแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ขณะนี้บีอาร์เอ็นฯ ได้ส่งประเด็นของปอเนาะญีฮาดกรณีที่ดินวากัฟไปยัง “ซาอุดีอาระเบีย” ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่เป็นสมาชิกของ “องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of the Islamic Cooperation (OIC)” เพื่อให้ชี้ว่า การดำเนินการของรัฐไทยขัดต่อหลักการของอิสลาม
นี่อาจจะเป็น “ประเด็นใหม่” ที่เกิดขึ้นจากความพยายามอย่างยิ่งของ “เครือข่าย” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องใช้ “เงื่อนไข” ของปอเนาะญีฮาดในการ “กระพือลม” ให้ไฟใต้ที่ยังลุกไหม้อยู่ให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้น
และขณะนี้เงื่อนไขของปอเนาะญีฮาดแห่งนี้กำลังจะเป็น “ฟืนท่อนใหญ่” ที่อาจจะ “ลุกโชน” ทั้งในพื้นที่ และนอกประเทศ จึงอยู่ที่ว่า “กอ.รมน.” จะดำเนินการ “ชักฟืนออกจากเตา” ด้วยวิธีไหนที่จะทำให้ไฟไม่ลุกลาม จนรัฐไทยต้อง “เพลี่ยงพล้ำ” ในเวทีโลก
การประชุมของ OIC ที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งฝ่ายไทยต่าง “กระดี๊กระด๊า” ว่าที่ประชุมไม่มีการหยิบยกเอาเรื่องของ “กลุ่มมาราปาตานี” เป็นหัวข้อในการประชุม อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่จะดีอกดีใจได้อีก
เพราะถ้าพิจารณาคำพูดของ OIC ให้หมดทุกถ้อยคำ จะเห็นว่า มีการให้ความสำคัญต่อกลุ่มมาราปัตตานีไม่น้อย เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนคำพูดให้มาให้เป็นเรื่องของภาคประชาสังคมเพื่อให้ “ดูดี” แต่ “แสดงใจ” ตามวิธีการการพูดแบบการทูตเท่านั้น
และแม้กระทั่งการปลด พล.ท.นักรบ บัวบุญทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ถือเป็น “คีย์แมน” คนสำคัญในกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” จากทุกตำแหน่ง เพื่อไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นี่ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เกิดจากปัญหาของกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ไม่เป็นไปตามอย่างที่รัฐไทยต้องการ
และนอกจากไม่เป็นตามที่รัฐไทยต้องการแล้ว ยังพบว่า เป็นการ “เพิ่มบทบาททางการเมือง” ให้แก่กลุ่มมาราปาตานีให้มีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ในพื้นที่ที่จัดว่า “มีน้ำหนัก” ของกลุ่มมาราปาตานีไม่ได้มีมากมายอย่างที่มีการกล่าวถึง แต่กลายเป็นว่า “บทบาท” และ “น้ำหนัก” ในพื้นที่กลับเป็นของกลุ่มบีอาร์เอ็นฯ ที่ยัง “กุมสภาพ” และ “สร้างปัญหา” ให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และมีความ “ชัดเจน” ที่ปฏิเสธการ “ดับไฟใต้” ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติสุขอย่างที่กลุ่มมาราปาตานีต้องการ
วันนี้ สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะสุดท้ายแล้วเชื่อว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีวิธีการในการ “รับมือ” และ “รุกกลับ” ต่อแนวร่วมในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ “สถานการณ์นอกบ้าน” ที่ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” พยายามใช้ประเด็นในการโจมตีกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย เพื่อสร้าง “ความได้เปรียบในเวทีโลก” ต่างหาก ซึ่งฝ่ายความมั่นคงต้องมีวิธีการรับมือด้วยความไม่ประมาท