ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แม่ทัพภาค 4 เชิญเครือข่ายต้านถ่านหินนำเสนอข้อมูลเหตุผล และผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้านผู้เห็นต่างเผย ต้องการให้จัดตั้งเวทีพูดคุยที่ไม่ปกปิดข้อมูลใดทั้งสิ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึงพลังงานทางเลือกอื่นแทนถ่านหิน
วันนี้ (12 เม.ย.) ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ผอ.รมน. ภาค 4 ได้เชิญเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร่วมพูดคุยเพื่อให้ทางเครือข่ายนำเสนอข้อมูลเหตุผล และผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีแม่ทัพภาค 4 รองแม่ทัพ ศอ.บต. และเครือข่ายภาคประชาสังคมใน จ.ปัตตานี กว่า 200 คน ร่วมรับฟัง
ด้าน น.ส.ลม้าย มานะการ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า วันนี้ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ผอ.รมน. ภาค 4 ได้เชิญเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาแระ จ.ปัตตานี ไปพูดคุยแ ละให้นำเสนอข้อมูลผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน และผลกระทบ โดยนำเสนอข้อมูลให้ทางแม่ทัพ รองแม่ทัพ และผู้ร่วมรับฟังจำนวนกว่า 200 คน ได้รับทราบว่า กรณีผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่รับฟังเสียงที่แตกต่าง ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนโปร่งใส จึงเป็นต้นเหตุที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน มีการเดินหน้าผลักดันโครงการโดยปิดกั้นการมีส่วนร่วม ปิดกั้นข้อมูลที่เป็นจริงถึงผลกระทบที่จะเกิด คนในพื้นที่ก็มีความสามารถมากพอที่จะค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง เนื่องจากโลกปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้ามากมาย อย่างเช่น งานวิจัยผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งชาวบ้านรับรู้ถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจึงออกมาคัดค้าน
การจัดเวที ค.1, ค.2, ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนถ่านหินมีการแจกสิ่งของให้ฝ่ายที่สนับสนุน แต่คนที่คัดค้านถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศห้ามคนที่มีความคิดเห็นต่างเข้าร่วมแสดงความคิด หากขัดขืนคำสั่งประกาศผู้ว่าฯ จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และได้นำเสนอแม่ทัพ ว่า ทางแม่ทัพควรจะเปิดเวทีพูดคุยข้อมูลในข้อกังวลกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในทุกประเด็น และต้องมีความชัดเจนโปร่งใส รอบด้าน ทั้งภาควิชาการ และคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง และโดยอ้อม ไม่ใช่ทำเพียงการแค่เปลี่ยนวาทกรรมเป็นถ่านหินสะอาด
น.ส.ลม้าย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีเครือข่ายฯ ได้เดินรณรงค์หยุดถ่านหินจากปัตตานี-เทพา เมื่อวันที่ 8-10 เม.ย.ที่ผ่านมา จากการพูดคุยกับผู้คนตลอดเส้นทางที่เดินผ่าน ได้รับรู่ว่า คนไม่รู้ว่าจะมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่รับรู้ว่าจะมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ไม่รู้ถึงพิษภัย และผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการกว่า 100,000 ล้านบาท แต่มีการปกปิดข้อมูลไม่ให้เกียรติคนที่จะได้รับผลกระทบ และมีพลังงานที่เป็นทางเลือกพลังงานสะอาด และปลอดภัยให้เลือกมากกว่าถ่านหิน
หลังจากนำเสนอข้อมูลจบ ทางรองแม่ทัพ รับว่า จะเปิดเวทีพูดคุยกันหลังจากนี้ โดยจะจัดเวทีพูดคุยกันให้ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยจัดกันมา จะสร้างหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องจัดเวทีพูดคุยกันก่อน
ด้าน ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า พลังงานจากโซลาร์เซลล์ เป็นพลังงานที่สะอาด สะดวก และต้นทุนต่ำ แก้ปัญหาความขัดแย้ง ทุกบ้านสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าในบ้าน แต่อาจจะมีการตั้งคำถามว่า จะกำจัดแบตเตอรี่กันอย่างไรล่ะ มันเยอะนะ ก็เลยเสนอต่อว่า ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ก็ได้ เปิดเสรีให้ต่อไฟฟ้าเข้าระบบสิครับ ราคาต้นทุนถูกลงได้อีกครับ แล้วจัดระบบเน็ตมิเตอริงมาด้วยเลย
นักวิชาการบางคน บอกว่า พลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดเป็นเพียงแค่อาหารเสริม คนเราต้องกินอาหารหลัก คือ ต้องกินพลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิล หรือถ่านหินนั่นเอง แต่เราก็กลับมองว่า พลังงานจากถ่านหินเป็นเพียงอาหารเคมี แต่พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานชีวจิต หรืออาหารอินทรีย์ปลอดสารพิษ รัฐบาลท่านบอกว่า สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทำไมท่านไม่ลองประกาศใช้ ม.44 ให้ต่อเข้าระบบสายส่งได้บ้างล่ะครับ นอกจากจะทำให้เรื่องผังเมือง และสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ปลดล็อกต่างๆ ให้มันง่ายขึ้น ผมว่าท่านต้องพิจารณาให้สมดุลนะครับ
“ดูเหมือนว่า พลังงานหมุนเวียนจะเดินไปได้อย่างช้ามากๆ แนวคิดของพลังงานหมุนเวียนนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐจะต้องลงทุนเองทั้งหมดครับ เพียงแค่ส่งเสริมอย่างจริงจังเชิงประจักษ์ ว่าทำได้ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง รัฐบาลทำในระบบหน่วยงานเป็นตัวอย่าง นายกฯ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งที่บ้านรัฐมนตรีทุกคน รมว.ทุกกระทรวง อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้ว่าราชการทุกจังหวัดที่รักษ์ และมีหัวใจสีเขียวลองทำดูนะครับ ผมว่าท่านจะได้เรียนรู้ว่า ปัญหา กฎระเบียบมันติดอยู่ตรงไหน ท่านจะทราบเลยว่า ที่ประชาชนต้องการทำแบบที่ไม่ยุ่งยากนั้นทำได้อย่างไรให้สะดวก และง่าย ส่งเสริมให้ตลอดวงจร เชื่อว่า การรวมพลังแบบนี้จะช่วยภาพรวมของประเทศได้ครับ” ดร.สมพร ช่วยอารีย์ กล่าว
ดร.สมพร กล่าวอีกว่า สำหรับผมไม่ได้นำเสนอแนวคิดอย่างเดียว แต่ผมทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ผมทำมา 2 ปี ก็รับรู้กันแค่วงแคบๆ เท่านั้นครับ และอยากให้นักวิชาการที่สนับสนุนถ่านหินลองทำดูด้วยครับ อย่าคิดแต่ว่ามันแพง ไม่คุ้ม เป็นไปไม่ได้ อย่าเอาความแพงมาให้คนอื่น เผื่อท่านอาจจะได้เข้าใจศักยภาพของพลังงานทางเลือกในช่วงชีวิตนี้ วันหนึ่งท่านอาจจะคิดได้ว่า ท่านรู้สึกเสียดายแดดในช่วงที่เทคโนโลยีมันไปถึงแล้ว
ทางรอดของประเทศไทย คือ การนำพลังงานทางที่เป็นไปได้มาใช้ก่อนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หายใจด้วยรูจมูกตัวเองก่อน การใช้ถ่านหินนำเข้านั้นถือว่าเป็นการยืมจมูกเพื่อนบ้านหายใจเช่นกัน การนำเข้าไฟฟ้าจากลาว แม้ว่าราคาจะต่ำก็จริง แต่มันก็มีการสูญเสียทรัพยากรของเขาเช่นกันครับ
เรื่องการอนุรักษ์พลังงานเราไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกันมากนักครับ มักจะเป็นเพียงแค่ฤดูกาล หรืองานแฟชั่นเฉพาะกิจมากกว่า ตามกระแสโลก ลองปรับมาเป็นกระแสวิถีชีวิตดูครับ คงไปได้ไกลมากกว่านี้ครับ
ถ้าเราบริหารจัดการได้ ในสภาวะตอนนี้ประเทศไทยยังไม่วิกฤตทางพลังงานไฟฟ้า เพียงแต่การเร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความจำเป็นต้องแซงหน้าพลังงานทางเลือกไปก่อนคือ ให้สร้างให้ได้ เพราะหากปล่อยไว้นานไปพลังงานในรูปแบบใหม่จะออกมามากเกินไป จะทำให้ธุรกิจการขายถ่านหินไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ในขณะที่หลายๆ ประเทศพยายามหาทางลดสัดส่วนลง สำหรับท่านที่เสนอให้ใช้ถ่านหินในระดับวัยเกษียณอาจจะมีโอกาสได้เห็นภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนเกิน 20% ได้น้อยลง
พลังงานไฟฟ้า พอหรือไม่พอเป็นเรื่องของทุกคน อย่ามาบังคับให้พื้นที่ที่โครงการโรงไฟฟ้าลงมาต้องหมดทางเลือก และมิใช่ของคนในหมู่บ้านนั้นๆ มีความผิดที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่าไปกดดันให้เขาต้องย้อนยุค หรือข่มเหงน้ำใจด้วยการยกภูมิปัญญาในอดีตมา ถามว่า ชุมชนอื่นๆ ทำไมไม่ถูกเลือกในขณะที่โอกาสจะถูกเลือกก็มีเช่นกัน ถ้าไม่ให้เกียรติคนเห็นต่างด้วยก็ยากนะครับที่จะพัฒนาไปต่อได้ หากเป็นแบบนี้ท่านจะคืนความพอดีให้แก่สังคมได้อย่างไร?
“ลงมาเช็กคราบน้ำตาคนที่เห็นต่างบ้างนะครับ น้ำตาของคนเหล่านี้อาจจะซึมเข้าไปในหัวใจท่านผู้มีอำนาจด้วยบ้างครับ การครองคนจำเป็นต้องครองใจ และครองงาน และครองการมีส่วนร่วมด้วยในยุคนี้ครับ” ดร.สมพร ช่วยอารีย์ กล่าว