xs
xsm
sm
md
lg

จับตาการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจาก “บอร์ดดับไฟใต้” ไปเป็น “บอดดับไฟใต้” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------

 
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ “แนวร่วม ขบวนการแบ่งแยกดินแดน “ยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง” อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และต่อเนื่องด้วยการ “วางบอมบ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กว่า 10 จุด ชนิดที่เจ้าหน้าที่ต้อง “ปิดเมือง” เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
 
ล่าสุดคือ เหตุการณ์ที่แนวร่วมจับ 2 สามีภรรยา แล้วยึดรถยนต์ไปประกอบเป็น “คาร์บอมบ์ในบัดเดี๋ยวนั้น ก่อนที่จะบังคับให้สามีขับคาร์บอมบ์ไปก่อวินาศกรรมกลางเมืองยะลา แต่เดชะบุญที่เจ้าของรถยนต์ตัดสินใจไม่ทำตามคำสั่งของโจร จึงทำให้การก่อวินาศกรรมเมืองยะลาด้วยระเบิดแสวงเครื่องขนาด 180 กิโลกรัมล้มเหลว
 
สมมติว่าถ้าแนวร่วม หรือโจรใต้ทำสำเร็จตามแผนคือ คาร์บอมบ์ถูกนำจอดที่ปั๊มน้ำมันเชลล์ตามที่มีการ “ล็อกเป้า เอาไว้ และเกิดระเบิดขึ้นจริง ระเบิดที่มีน้ำหนักถึง 180 กิโลกรัม เมื่อบวกกับการระเบิดของปั๊มน้ำมันอะไรจะเกิดขึ้นกับเมืองยะลา
 
สิ่งที่น่าสนใจในความเปลี่ยนแปลงของแนวร่วมคือ การใช้วิธีการทำคาร์บอมบ์ด้วยความรวดเร็ว เช่น ปล้น หรือจี้ได้รถยนต์แล้วทำการประกอบเป็นคาร์บอมบ์แล้วนำไปก่อวินาศกรรมในทันที โดยทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ทันตั้งตัว
 
รวมทั้งการบังคับให้ “เจ้าของรถยนต์” ขับรถที่ประกอบเป็นคาร์บอมบ์ไปยัง “เป้าหมาย” ที่ต้องการให้เป็น “จุดสังหาร” ซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นครั้งแรก
 
รวมทั้งการผลิต “เสื้อบอมบ์” บังคับให้คนขับคาร์บอมบ์ใส่เพื่อข่มขู่ให้ทำตามคำสั่ง หากไม่เชื่อฟังก็จะทำการจุดระเบิด ซึ่งแน่นอนว่า หากทำสำเร็จเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวก็จะกลายเป็นผู้ทำความผิดแทนกลุ่มคนร้าย
 
โดยเฉพาะวิธีการปล้นชิงรถยนต์แล้วจับตัวเจ้าของรถเอาไว้โดยไม่มีการฆ่าทิ้ง เพื่อป้องกันมิให้เจ้าของรถยนต์ไปแจ้งความว่าถูกปล้น หรือชิงรถยนต์ต่อเจ้าหน้าที่ สิ่งนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ระมัดระวังในการตรวจสอบรถยนต์ที่ถูกนำไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์ ซึ่งในอนาคตถ้าแนวร่วม หรือโจรใต้ใช้วิธีการแบบนี้อีก เจ้าหน้าที่จะต้องพร้อมในการ “ตั้งรับ เพราะเราคงจะไม่ “โชคดี ทุกครั้งเสมอไป
 
หรือแม้กระทั่งยุทธวิธีที่เป็น “วิถีเถื่อนด้วยการยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง เพื่อใช้เป็น “ที่มั่น และ “ป้อมปืน ยิงถล่มฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาล และการใช้อาวุธหนักอย่างเครื่องยิงระเบิด เอ็ม 79 และปืนกลหนัก เอ็ม 60 ต่อฐานปฏิบัติการของทหารพราน
 
นั่นแสดงให้เจ้าหน้าที่ต้อง “ตระหนัก ไว้ว่าในอนาคตแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะต้องมี “ยุทธวิธืใหม่ๆ” และ “โหดเหี้ยม” มากขึ้นเพื่อใช้ปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อสร้างความสูญเสีย และเพื่อข่มขู่ “มวลชนในพื้นที่” ให้อยู่ใน “ความกลัว หรือให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขบวนการ
 
ส่วนการพัฒนา หรือการปฏิรูปของหน่วยงานความมั่นคงซึ่งรับผิดชอบในการ “ดับไฟใต้” นั้น ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวมาโดยตลอดจะพบว่า นับตั้งแต่มี “คสช.” เข้ามาปฏิรูปประเทศไทย ในส่วนของการแก้ปัญหา “ไฟใต้”
 
เริ่มแรกของความเปลี่ยนแปลงคือ การใช้ “ม. 44” สั่งการให้ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต)” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มี พ.ร.บ.เป็นของตนเองรองรับ มี “เลขาธิการระดับ 11” (เทียบเท่าปลัดกระทรวง) ไปขึ้นกับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เพื่อให้การดับไฟใต้มีความเป็น “เอกภาพโดยมี “แม่ทัพภาคที่ 4” เป็นผู้ใช้อำนาจสั่งการอย่างเบ็ดเสร็จแต่ผู้เดียว เพื่อการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน
 
มีการสานต่อภารกิจในการ “พูดคุย กับกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ หรือตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมี “รัฐบาลมาเลเซีย” เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ซึ่งนโยบายการพูดคุยนี้เป็นของรัฐบาลชุดเก่า หรือของ “พรรคเพื่อไทย” ในชื่อ “การพูดคุยสันติภาพแต่รัฐบาล คสช.เปลี่ยนเป็น “การพูดคุยสันติสุข โดยมี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะกรรมการพูดคุย
 
ทั้งนี้ 2 ปีที่ผ่านไปการพูดคุยสันติสุขระหว่างตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้ง 6 กลุ่ม ในนามของ “กลุ่มมาราปาตานี” กับตัวแทนของรัฐบาลไทยก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
 
และที่สำคัญ เวทีการพูดคุยสันติสุขอาจจะต้อง “ชะงักงัน อีกครั้งก็เป็นไปได้ เมื่อกลุ่มมาราปาตานียื่นข้อเสนอก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 ให้มีการผนวกเอาพื้นที่ของ “อ.สะเดา จ.สงขลา” และพื้นที่ทั้ง “จ.สตูล” รวมเข้ากับแผ่นดินไฟใต้ หรือพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อย
 
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นพื้นที่ของการ “แบ่งแยกดินแดน” เต็มรูปแบบ ซึ่งคงจะเป็น “เงื่อนไขที่ทางรัฐบาลไทยรับไม่ได้ และอาจจะทำให้การพูดคุยหยุดชะงักไปอีกครั้งนั่นเอง
 
ล่าสุด มีการทำให้เปลี่ยนแปลงในกระบวนการดับไฟใต้ของ คสช.อีกคราครั้ง คือ การใช้ ม.44 สั่งให้งดใช้ “พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “พ.ร.บ.ศอ.บต.” ในมาตราที่ 19, 20, 21, 23 (1) (3) (5) (6) (7) และ (9) และมาตรา 26 กับ 27
 
อันเกี่ยวข้องต่อ “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มาจาก “การเลือกตั้ง” ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต. โดย “หัวหน้า คสช.” ให้เหตุผลในการงดใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ และเพื่อให้การแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริการและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นมาทำหน้าที่แทน
 
“สภาที่ปรึกษาฯ” ที่เป็นของเดิมนั้นได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนใน 9 กลุ่มสาขาอาชีพ เช่น ตัวแทนฝ่ายปกครองท้องถิ่น ตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัด  ตัวแทนภูมิปัญญาท้องถิ่น ตัวแทนทางการศึกษา ตัวแทนสถาบันปอเนาะ ตัวแทนสตรี ตัวแทนหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม ตัวแทนสื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีอีก 5 คน รวมเป็น 49 คน
 
ส่วน “คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ” ที่หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ตั้งขึ้นใหม่นั้น ให้มาจาก “การแต่งตั้ง” หรือ “สรรหา” ของคณะกรรมการที่มาจาก “กอ.รมน.” และ “ศอ.บต.” จำนวน 45 คน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีอีก 5 คน รวมเป็น 60 คน
 
บริบทของสภาที่ปรึกษาฯ ที่ถูกยกเลิกไปนั้น มีหน้าที่ค่อนข้างกว้างขวาง เช่น ให้ความเห็นในนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสนอสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และร่วมมือกับ ศอ.บต. รวมถึงการตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.
 
อย่างการให้ความเห็นแผนบริหารและพัฒนาจังหวีดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สภาความมั่นคงจัดนโยบายความมั่นคง ให้คำปรึกษา เสนอแนะ ประสานงานกับ ศอ.บต. และรายงานให้เลขาฯ ศอ.บต. และนายกรัฐมนตรีรับทราบ
 
หรืออย่างให้ความเห็นในเรื่องที่นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต.เห็นว่า ควรรับฟังความเห็นจากสภาที่ปรึกษาฯ แสวงหาข้อเท็จจริง ข่าวสาร เพื่อใช้ดำเนินการตามหน้าที่ เสนอความเห็นต่อเลขาธิการ ศอ.บต.เพื่อพิจารณาสั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนออกจากพื้นที่ตามมาตรา 12 พิจารณาคำร้องของประชาชนในเรื่องความไม่เป็นธรรม และอื่นๆ เป็นต้น นี่คือหน้าที่หลักๆ ของสภาที่ปรึกษาฯ ที่ผ่านมา
 
ส่วนคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ที่มาจากการแต่งตั้งตามคำสั่ง คสช. 60 คน ซึ่งมีการกล่าวขานกันว่าเป็นเหมือน “บอร์ดดับไฟใต้นั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นกรอบของรายละเอียดว่า คณะกรรมการในการแต่งตั้งประกอบด้วยใครบ้าง และบริบท หรือหน้าที่ที่ชัดเจนเป็นอย่างไร อีกทั้งในการแต่งตั้ง หรือสรรหานั้นจะสรรหาจากบุคคลทุกสาขาอาชีพหรือไม่
 
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีความชัดเจน และประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ จึงจะเกิดประโยชน์ที่สูงสุดในการที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างได้ผล.
 
จึงหวังว่าความเปลี่ยนแปลงจาก “สภาที่ปรึกษาฯ” ไปเป็น “คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ” ในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นไปตามเสียงร่ำลือที่ว่าเกิดจากความต้องการ “ลดบทบาทประชาชน” ที่มีตัวแทนมาจาก “การเลือกตั้ง แล้วไปตั้งกลุ่มคนที่เป็น “คนของรัฐ” หรือ “คนของหน่วยงาน” ขึ้นมาแทนที่ หรือเพียงเพื่อให้เห็นว่ามี “ที่ปรึกษา แล้ว
 
ทั้งๆ ที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างต้องการเห็น “บอร์ดดับไฟใต้” ที่เป็นตัวแทนของภาคประชาชนแบบ “ตัวจริง” และ “เสียงจริง” ไม่ได้ต้องการที่จะได้ “บอดดับไฟใต้” แบบที่กำลังจะเกิดขึ้น
 
เนื่องเพราะที่ผ่านมา ในหลายยุคหลายสมัยผู้คนในพื้นที่ต่าง “คุ้นชิน” ต่อ “บอด” ที่มีหน้าที่ในการดับไฟใต้มามากเกินพอแล้ว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น