คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเดือน ก.ย.ต่อเนื่องถึง ต.ค. ซึ่งเป็นห้วงเวลาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ยังคงมีเหตุการณ์รุนแรงแบบที่ต้องเรียกว่าเป็น “ปกติ”
นั่นคือ ยังมีการซุ่มโจมตี หรือลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นด้านหลัก ซึ่งในส่วนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตคงไม่ต้อง “พิสูจน์ทราบ” เพราะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าคือ “เหยื่อ” ของสถานการณ์
ส่วนการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เกิดขึ้นทุกวันนั้นยังต้องมีการพิสูจน์ทราบด้วยการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง เนื่องจากมีตั้งแต่การล้างแค้นในเรื่องส่วนตัว หักหลังในวงการค้ายาเสพติด และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกจิปาถะ แต่หลายรายก็มาจากฝีมือ “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ที่ต้องการกำจัด “สายข่าว” ของเจ้าหน้าที่
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยกย่อง “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า” คือ วันนี้หัวเมืองทางเศรษฐกิจในชายแดนใต้เป็นพื้นที่ “ปลอดภัย” จากการโจมตีจากระเบิดแสวงเครื่อง ทั้งในรูปแบบของคาร์บอมบ์และ จยย.บอมบ์ ทำให้ผู้คนหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น
เมื่อสถานการณ์การก่อเหตุร้ายใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ลดความความรุนแรงลง ก็คงจะถึงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี จะกลับมาจัดการต่อการจัดโครงสร้างใหม่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาความไม่สงบ
นั่นคือ การปรับโครงสร้าง “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “ศอ.บต.” ซึ่งโครงสร้างของ ศอ.บต.ในยุคสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ทำคลอด “พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือมักเรียกกันว่า “พ.ร.บ.ศอ.บต.” ไว้ในปี 2553
ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า พ.ร.บ.ศอ.บต.มีข้อความหลายมาตราที่ “ซ้ำซ้อน” และ “ทับซ้อน” กับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งกองทัพไม่เห็นด้วยต่อการเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น
หน่วยงานของกองทัพได้แสดงความไม่เห็นด้วย และพยายามที่จะผลักดันให้รัฐบาลทั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และของพรรคเพื่อไทยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากมีการทำหน้าที่ทับซ้อน และซ้ำซ้อนกันจนเกิดการ “ขบเกลียว” ระหว่าง “ผู้บริการระดับหัวแถว” ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ จนกลายเป็นการไร้ซึ่งเอกภาพในการปฏิบัติภารกิจดับไฟใต้
ปัญหาแผนงานซ้ำซ้อนของ “2 พระเอก” ที่มีงบประมาน และมีหน้าที่เหมือนกัน ทำให้เกิดความไม่พอใจ จนยากที่จะเกิดความ “กลมเกลียว” ของทั้งฝ่ายกองทัพ และพลเรือน
แค่ปัญหา “เลขาธิการ ศอ.บต.” ที่เป็นถึง “ซี 11” เทียบเท่า “ปลัดกระทรวง” กับ “แม่ทัพภาคที่ 4” ซึ่งมียศแค่ “พล.ท.” ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เดียวกัน ก็กลายเป็นประเด็นปัญหาจนยากที่จะทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการร่วมทำหน้าที่
ดังนั้น เมื่อ คสช.เข้ามาบริหารเพื่อปฏิรูปประเทศ การปรับโครงสร้าง ศอ.บต.จึงเป็นงานแรกๆ นั่นคือ การออกคำสั่งให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐาน ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้มีอำนาจโดยตรงในการดับไฟใต้
ต่อด้วยการปรับโครงสร้างใหม่แบบถาวร โดยให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. ปรับตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.ให้เล็กลง กล่าวคือ “ยกเลิกตำแหน่งเลขาธิการ” โดยอาจจะให้มีแค่ “หัวหน้าหัวหน้าสำนักงาน” หรือ “ผอ.” ที่เป็นข้าราชการระดับ ซี 8-9 แทนเลขาธิการที่สูงถึงระดับ ซี 11
รวมถึงยกเลิกข้อกฎหมาย และการบังคับบัญชาที่ซ้ำซ้อนกันกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 ยกเลิก “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “กพต.” แล้วให้มาเป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร”
ทั้งนี้ โครงสร้างใหม่ของ ศอ.บต.หากมีการปรับตามนโยบายของ คสช.แล้ว สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเป็นผู้ทำนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้มีนโยบายด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนา
กอ.รมน.จะเป็นผู้ที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของ ศอ.บต.
แล้วถามว่าเมื่อ กอ.รมน.เข้ามาทำหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์แทน แล้ว ศอ.บต.จะไปทำหน้าที่อะไร ซึ่งในแผนการปรับโครงสร้าง คสช.มอบให้ ศอ.บต.จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหมายความว่า “เนื้องาน” ของ ศอ.บต.จะน้อยลง และจะต้อง “ยุบ” ทั้งตำแหน่ง หน้าที่ หน่วยงาน หรือสำนักต่างๆ ที่มีอยู่ 9-10 สำนักให้เหลือเพียงไม่กี่สำนัก หรือไม่กี่กอง
ใน พ.ร.บ.ศอ.บต.ปี 2553 นั้น ในมาตรา 9 กำหนดให้มี “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.)” ที่มาจากการเลือกตั้งของตัวแทนทุกสาขาอาชีพ 44 คน และนายกฯ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน รวมแล้วสภานี้จะมีสมาชิกทั้งสิ้น 49 คน
สำหรับหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ ในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ศอ.บต.นั้นมีอยู่ค่อนข้างจะ “หลากหลาย” แม้จะเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง แต่ก็สามารถทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบทั้งปัญหา และเงื่อนไขต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่มีส่วนในการกระทำ รวมทั้งการตรวจสอบแผนงาน งบประมาณ เสนอแนะ และอะไรต่ออะไรอีกจิปาถะ ซึ่งหลายเรื่อง “สร้างความไม่พอใจ” ให้แก่หน่วยงานความมั่นคงมาโดยตลอด
ในการปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ครั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงให้ความเห็นว่า ให้คงมีสภาที่ปรึกษาฯ ไว้ตามเดิม โดยให้ทบทวนบทบาท โครงสร้าง อำนาจหน้าที่บางประเด็นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ซึ่งในคณะกรรมการพิจารณาปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ให้ความเห็นในการคงไว้ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ ว่า การปรับเปลี่ยนสภาที่ปรึกษาฯ ควรดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะมีผลจิตวิทยาพื้นที่ เพราะสภาที่ปรึกษาฯ เป็นภาพลักษณ์ที่ดี เนื่องจากเป็นตัวแทนที่มาจากประชาชนโดยตรง
แต่สภาที่ปรึกษาฯ ในความต้องการของหน่วยงานความมั่นคงนั้น ต่อไปจะประกอบด้วยสมาชิก 75 คน หรืออาจจะมากกว่านั้น และจะเป็นการ “สรรหา” จากหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งเป็นลักษณะเหมือน “ถอยหลัง” กลับไปสู่ยุคที่ยังเป็น “สภาเสริมสร้างสันติสุข” ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงของ ศอ.บต.ในอนาคต อันเป็นความต้องการของหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งจะตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่หรือไม่นั้นคงจะต้องหาคำตอบกันต่อไป
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าปรับโครงสร้าง ศอ.บต.แล้วทำให้ความเป็น “ปึกแผ่น” ของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้น เป็นการสร้าง “เอกภาพ” ในการดับไฟใต้ได้ผลอย่างแท้จริง เชื่อว่าคงจะไม่มีใครที่จะออกมาคัดค้าน
ทว่า จะเป็นจริงได้หรือไม่นั้น วันนี้คงจะไม่มีการ “ติเรือทั้งโกลน” แต่อีกไม่นานกาลเวลาจะทำการพิสูจน์ให้สังคมได้รับรู้แน่นอน