xs
xsm
sm
md
lg

อวสานรถบรรทุกเรือข้ามฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน เหตุถูกจำกัดสิทธิทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุมพร - อวสานรถบรรทุกเรือข้ามฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ชาวประมงโวยถูกจำกัดสิทธิทำกิน กรมประมงออกกฎให้เลือกจับปลาได้ทะเลเดียว

วันนี้ (7 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีชาวประมงในพื้นที่ จ.ชุมพร ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่กรมประมงได้ออกประกาศเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงพาณิชย์ พ.ศ.2558 โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ที่ใช้เรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องทำเครื่องหมายประจำเรือ ให้เรือแต่ละประเภทเลือกทำการประมงได้เฉพาะทะเลอ่าวไทย หรืออันดามันฝั่งใดฝั่งหนึ่งเท่านั้น โดยเรือที่ขออนุญาตทำการประมงทะเลอ่าวไทย ให้ขึ้นเลขทะเบียน และใช้หมวดอักษรภาษาอังกฤษนำหน้าเป็นตัว T ส่วนทะเลอันดามัน ใช้อักษร A พร้อมกับเรือทุกลำต้องมีคิวอาร์โค้ตประจำเรือ โดยให้ติดไว้ที่ห้องควบคุมเรือที่มองเห็นชัดเจน ตรวจสอบได้ง่าย ซึ่งการขออนุญาตดังกล่าวมีอายุคราวละ 2 ปี ทำให้ชาวประมงจากฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ขนย้ายเรือไปจับปลาฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถไปทำการประมงตามฤดูกาลได้เหมือนที่ผ่านมา เพราะจะถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งประกาศกรมประมงฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2558 แต่ได้ผ่อนผันให้เรือพาณิชย์ทุกประเภทดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าวจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา เมื่อพ้นกำหนดจะจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดนั้น

นายณรงค์ศักดิ์ แซ่อึ้ง อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 113/6 หมู่ 10 ตำบลนากระตาม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เจ้าของเรืออวนล้อมจับหรือเรืออวนดำชื่อ “อ.นาวานำโชค 999” กล่าวว่า ตนทำการประมงอยู่ฝั่งทะเลอ่าวไทยมานาน และขณะออกประกาศฉบับดังกล่าวตนได้จ้างรถบรรทุกนำเรือไปจับปลาอยู่ฝั่งทะเลอันดามันด้าน จ.ระนอง แต่ตอนนี้ได้ขนย้ายเรือกลับมาจอดอยู่ที่สะพานปลาแล้ว ไม่สามารถออกจับปลาได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลปิดอ่าว 3 เดือน ซึ่งมีเรือทั้งหมดที่ทยอยย้ายกลับมาแล้วนับ 100 ลำต้องขาดรายได้ เสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาหาร ค่าแรงงานลำละ 3-5 แสนบาท ที่ผ่านมา มีการจัดระเบียบเรือประมงตน และเรือทั้งหมดทำตามเงื่อนไขตามความต้องการของกรมประมงทุกประการ แต่ตนไม่เห็นด้วยต่อกฎระเบียบที่ต้องให้เลือกจับปลาได้ทะเลใดทะเลหนึ่ง เหมือนเป็นการแบ่งแยกจำกัดสิทธิปิดกั้นการทำมาหากิน พวกเราอพยพขนย้ายเรือข้ามไปมาตามฤดูกาลมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว

ด้าน นายไตรฤกษ์ มือสันทัด นายกชาวประมงปากน้ำตะโก จ.ชุมพร กล่าวว่า อาชีพชาวประมงในทะเลอ่าวไทยด้านตะวันตก พวกเราได้อพยพขนย้ายเรือทางรถยนต์พ่วงสาลี่จากฝั่งทะเลอ่าวไทย ข้ามไปจับปลาฝั่งทะเลอันดามันด้าน จ.ระนอง โดยนำเรือไปลงที่คอคอดกระ แม่น้ำกระบุรี จ.ระนอง เป็นการอพยพไปทำกินตามฤดูกาลมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว เนื่องจากทะเลอ่าวไทยด้านตะวันตกทุกปีตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค.เป็นช่วงประกาศปิดอ่าวห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนรวม 3 เดือน และช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออีก 3 เดือน สรุป 1 ปี ชาวประมงจะทำการประมงได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น แล้วช่วง 6 เดือนที่ปิดอ่าวกับลมมรสุมจะให้พวกเราไปทำมาหากินที่ไหน นอกจากนี้ การขนย้ายเรือข้ามฝั่งดังกล่าวถือเป็นสีสันอันซีนของภาคใต้มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ จ.ชุมพร

นายมีศักดิ์ ภัคดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการจัดระเบียบเรื่องการทำประมงให้เรือพาณิชย์ต้องระบุเครื่องมือทำการประมง และต้องเลือกทำการประมงเฉพาะทะเลฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้คราวละ 2 ปี เมื่อมีการขออนุญาตใหม่ก็สามารถเลือกพื้นที่ทำการประมงใหม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการกำหนดให้เรือประมงพาณิชย์จะต้องแจ้งการเข้าออกเรือ และจำนวนปริมาณปลาที่จับได้ในแต่ละครั้งต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทราบถึงปริมาณปลา และสัตว์น้ำแต่ละฝั่งทะเลว่า แต่ละปีมีปริมาณมากน้อย หรือเพิ่มหรือลดลงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการที่จะมีผลต่ออนาคตของชาวประมงเอง ซึ่งปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวตนจะนำไปเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น