โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
บ่ายของวันพุธที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักวิทยบริการ ร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลและวัฒนธรรมอเมริกัน ม.อ.ปัตตานี จัดบรรยายสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดทางด้านเทคโนโลยี (Technology) การศึกษา (Education) พลังงาน (Energy) สิ่งแวดล้อม (Environment) และการพัฒนา (Development) หรือ TEEED Talks ครั้งที่ 3 ในหัวเรื่อง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พัฒนาจริงหรือ คุณคือผู้ร่วมตัดสินใจ” ณ อาคารเรียนรวม ม.อ.ปัตตานี
โดยวิทยากรประกอบด้วย ดร.สมพร ช่วยอารีย์ รอง ผอ.สำนักวิทยบริการและผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการหาดใหญ่ นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามัน และ อ.ดิเรก เหมนคร ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องสงขลา-ปัตตานีจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เป็นที่น่าสังเกตว่า เวทีวิชาการในรั้ว ม.อ.ปัตตานีครั้งนี้ทางทีมผู้จัดตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีอย่างรอบด้าน จึงได้ทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการส่งไปถึง “ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” รวมถึงประสานงานไปในหลายช่องทางถึงบุคลากรของ กฟผ.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ส่งผู้รู้ หรือตัวแทนมาให้ข้อมูลในเวทีด้วย แต่ปรากฏว่า ไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคณะผู้จัดเวทีวิชาการครั้งนี้บอกเล่าต่อวิทยากรที่เข้าร่วมในลักษณะอย่างไม่เป็นทางการว่า ก่อนจัดเวทีมีการประสานงานไปยัง นายวีระชัย ยอดเพชร วิศวกรระดับ 11 ของ กฟผ. ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นพิเศษให้ดำเนินการขับเคลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ให้ประสบผลโดยเร็ว คำตอบที่ได้รับกลับมาเป็นที่เข้าใจได้ในทำนองว่า...
“เวทีวิชาการของ ม.อ.ปัตตานีครั้งนี้ไม่เป็นประโยชน์สำหรับ กฟผ.”
สำหรับเนื้อหาที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนเวทีวิชาการดังกล่าว แม้จะยังคงเป็นไปในลักษณะของการให้ข้อมูลในหลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยเฉพาะในประเด็นว่า พัฒนาจริงหรือไม่ แต่กลับขาดข้อมูลของฝ่าย กฟผ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าของโครงการ รวมถึงข้อมูลจากฟากรัฐบาลที่มีนโยบายผลักดันเร่งรัดให้ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่โตมโหฬารนี้
“จากสถานการณ์โลกในอดีตที่เคยบูมการพัฒนาจากทวีปยุโรป แล้วมีการขุดคลองสุเอชเพื่อให้การขนส่งสินค้า และน้ำมันไม่ต้องอ้อมครึ่งโลก ตามด้วยทวีปอเมริกามีการขุดคลองปานามา จนถึงตอนนี้ทิศทางของการพัฒนาได้หันมาสู่ฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะมีการเสนอให้ “ขุดคอคอดกระ” หรือ “คลองไทย” ที่ในประเทศไทย จึงไม่แปลกที่ทุนระดับมหาอำนาจของโลกทั้งอเมริกา หรือแม้กระทั่งจีนได้พยายามจับจ้องเพื่อยกระดับ และพลิกแผ่นดินไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่ทั่วทั้งพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทยในที่สุด”
นายปิยะโชติ อินทรนิวาส เปิดมุมมองไว้ในเวทีด้วยการชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระดับโลก หรือมองให้เห็นอย่างเข้าใจในป่าทั้งป่า ก่อนที่จะเชื่อมโยงลงมาสู่การเร่งรุกให้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ของรัฐบาลในภาคใต้ โดยเฉพาะ “สะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล” ที่จะมี ท่าเรือน้ำลึก หัวท้ายทั้งที่ฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน มี ถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ และ ระบบท่อน้ำมันและก๊าซเชื่อมเข้าหากัน ซึ่ง “โรงไฟฟ้าถ่านกินเทพา” คือหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ที่ต้องเตรียมไว้รองรับการปลุกปั้นศูนย์กลางพลังงานโลกนั่นเอง
ขณะที่รัฐบาลพยายามผลักดัน และเร่งรัดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเวลานี้นั้น นายประสิทธิชัย หนูนวล ให้ข้อมูลว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก เพราะเข้าใจว่าไทยกำลังพัฒนาแบบถอยหลังในเรื่องนี้ เนื่องจากกระแสโลกได้เริ่มประกาศยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เรื่องนี้มีงานวิจัยอยู่มากมายรองรับว่า “ถ่านหินไม่มีวันสะอาด” และมีผลกระทบรวมทั้งสารพิษต่างๆ มากมาย ซึ่งทั่วทั้งโลกได้ประจักษ์แล้วว่า “ถ่านหินเป็นสิ่งทำลายโลก” จึงหันมาผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติทั้งลม น้ำ แสงแดด เป็นต้น
“เพราะฉะนั้นเราทั้งหมดต้องร่วมกันต้องตั้งโจทย์ใหม่คือ เราจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างไร ไม่ใช่การตั้งโจทย์ว่าจะนำถ่านหินมาใช้ได้อย่างไร” นายประสิทธิชัยเสริมว่า ในพื้นที่ภาคใต้ความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 3,000 เมกะวัตต์ต่อปี แต่ในอนาคตไทยกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านเทพา 2,200 เมกะวัตต์ และอีกหลายโรงไฟฟ้าที่จะสร้างในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะผลิตกระแสได้ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ต่อปี คำถามคือ ไฟฟ้าที่เหลือจะเอาไปใช้อะไร
ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นมลพิษที่ได้จากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด อย่างที่ กฟผ.กล่าวมาตลอด ซึ่งที่จริงแล้วไม่มีถ่านหินสะอาดบนโลกใบนี้ ถึงจะผ่านเทคโนโลยีทันสมัยมาอย่างไรก็ตาม มิเช่นนั้นหลายประเทศจะประกาศยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างนั้นหรือ เพราะเค้าได้ทราบ และตระหนักดีแล้วว่า มันส่งผลเสียต่อประชากรภายในประเทศของเค้าอย่างไร
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ว่าด้วยเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระทบทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ เพราะในถ่านหินมีสารพิษจำพวกไนโตรเจน ปรอท ฝุ่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฯลฯ เมื่อแพร่สู่ดิน น้ำ พืชก็ซับเอาไว้ มนุษย์กับสัตว์ก็จะไปเก็บพืชมากิน ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหาร แน่นอนทุกสิ่งทุกอย่างก็จะได้รับผลเสียด้วยกันทั้งหมด ไหนจะมลพิษทางอากาศที่เราใช้หายใจอีก
ส่วนในกรณีการกำหนดค่ามลพิษไม่ให้เกินระดับมาตรฐานนั้น ประเทศไทยใช้ค่ากำหนดที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ และอีกอย่างสารพิษที่สะสมในร่างกายไปนานๆ ถึงแม้จะแค่เล็กๆ น้อยๆ แต่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนขึ้น ในขณะที่ถ้าหันกลับมามองตัวบุคคลสุขภาพร่างกายแต่ละคนนั้นก็ต่างกัน มีทั้งคนแข็งแรง อ่อนแอ และคนป่วย
“โดยเฉพาะคนป่วยขนาดเจอควันอินโดนีเซียแค่ไม่กี่วันยังต้องคอยดูแลตัวเองเป็นพิเศษ แทบไม่ต้องพูดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเลยด้วยซ้ำ” นพ.สุภัทร กล่าวและว่า เมื่อกลับมามองดูในพื้นที่ คนเทพา กับคนปัตตานี ซึ่งเชื่อได้เลยว่าชะตากรรมเดียวกันแน่ ผืนดิน ผืนน้ำ ผืนฟ้าเดียวกัน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดนี้จึงเป็นของทุกคนไม่เฉพาะแค่คนในพื้นที่หยิบมือหนึ่งเท่านั้น
“หากรักแผ่นดินเกิด รักบ้านเมือง รักวัฒนธรรม รักการดำรงชีวิตที่เป็นอยู่ การนำมาซึ่งโรงฟ้าถ่านหินเทพายังไม่ใช่คำตอบ และทางออกใดๆ คนในพื้นที่ และใกล้เคียงจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญของกันและกันที่จะสามารถลุกขึ้นเรียกร้องขอพัฒนาไปในแนววิถีที่ต้องการเพื่อแหล่งอาศัย ทำมาหากิน และมีไว้ให้ลูกหลานได้สืบสานกันต่อกันไป มีความสุขบนแผ่นดินปลายด้ามขวานทอง ต้องร่วมใจกันให้ข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน ชัดเจน รวมกันให้ได้ และต่อให้ต้องสู้กับอำนาจมืดฝ่ายรัฐที่เข้มแข็งแค่ไหนก็ตาม พลังประชาชนนี่แหละจะเป็นสิ่งตัดสิน และนั่นคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนแผ่นดินไทยผืนนี้”
ด้าน ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ชี้ประเด็นว่า ถ่านหินที่จะนำมาใช้นั้นมาจากอินโดนีเซีย โดยผ่านการขนส่งบรรทุกจากเรือขนาดใหญ่ ซึ่งเชื้อเพลิงที่ใช้จะไม่ต่ำกว่า 23 กิโลกรัม หรือเท่ากับ 1,000 รถบรรทุก เท่ากับการเทถ่านหินขนาดหนึ่งรถบรรทุกนี้เข้าไปในเตาเผาทุกหนึ่งนาทีตลอด 24 ชั่วโมง และตลอดเวลา 30-40 ปีของอายุโครงการ ผลกระทบจากการเผาไหม้นี้ก่อให้เกิดมลพิษจำนวนมหาศาลซึ่งจะกระจายไปตามทิศทางลม และพื้นที่หนองจิก โคกโพธิ์ ยะหริ่ง ยะรัง และอำเภอเมือง จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ก่อนที่ อ.ดิเรก เหมนคร จะให้ข้อมูลเสริมในฐานะคนในพื้นที่อำเภอเทพาอีกว่า นอกเหนือจากผลกระทบที่หลายท่านได้ชี้ให้เห็นแล้ว ยังมีผลกระทบทางจิตใจ และที่ยึดเหนี่ยว เฉกเช่น มัสยิด สุเหร่า กุโบร์ (หลุมฝังศพ) ที่อยู่ใจกลางโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และอยู่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ คำถามคือ จะเอาสิ่งเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน และ กฟผ.จะจัดการได้อย่างไร? โครงการพลิกแผ่นดินปลายด้ามขวานทั้งหมดนี้จะนำไปสู่หายนะแห่งการสูญเสียทั้งทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และอื่นๆ ตามมาอีกมากในอนาคต