ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กสม.” ร่อนหนังสือด่วนถึง “ก.ยุติธรรม” ให้ชะลอการบังคับคดีชาวเลหลีเป๊ะ จ.สตูล ไว้ก่อน เผยเคยมีการตรวจสอบพบพิรุธมากมายในการออกเอกสารสิทธิ โดยมีข้อมูลเสนอให้ยกเลิกเอกสารสิทธิทับที่ชาวบ้าน
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เปิดเผยว่า ในวันนี้ (4 เม.ย.) ตนได้ลงนามในหนังสือถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้พิจารณาชะลอการบังคับคดีของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ภายหลังได้รับแจ้งจาก พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีข้อพิพาทที่ดินระหว่างเอกชนกับชาวเล
ทั้งนี้ ทางเอกชนจะมีการไล่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน ทาง กสม.จึงได้ทำหนังสือส่งไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อสั่งการให้สำนักงานบังคับคดี จ.สตูล ระงับคำสั่งก่อน จนกว่าจะมีการไกล่เกลี่ย และตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่ง กสม.ชุดปัจจุบันจะวางแผนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ดินเกาะหลีเป๊ะต่อไป โดยใช้มติ กสม.ชุดเก่ามาอ้างอิง
ด้าน นายหัตติเริง พระอ๊ะ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า คดีความของตนเป็นข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมานาน แต่ตนยืนยันว่า ที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะนั้นชาวเลทุกคนมีการทำประโยชน์มาโดยตลอด แต่การลงนามยอมความในปี 2558 นั้น ตนไม่รู้เรื่องว่าเป็นการยอมความเพื่อให้อำนาจแก่นายทุน ต่อมาในปี 2559 นายทุนก็ได้เดินทางมาพร้อมกับพนักงานสำนักบังคับคดี กรมบังคับคดี เพื่อมาสั่งการให้ไล่รื้อสิ่งปลูกสร้าง โดยมีกำหนดการไล่รื้อเป็นวันที่ 5 เม.ย.นี้ โดยทางครอบครัวยืนยันว่าไม่ยินยอมจะย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว และจะสู้คดีให้ถึงที่สุด
ขณะที่ น.ส.ฉัตรพร พระอ๊ะ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ผู้เป็นน้องสาวของนายหัตติเริง กล่าวว่า ตนและครอบครัวได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เพื่อขอข้อมูลแผนที่เปรียบเทียบที่ดินที่อุทยานเคยตรวจสอบ และอุทยานเคยระบุแล้วว่า ที่ดินแปลงที่ตน และครอบครัวอาศัยอยู่ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ น.ส.3 ของนายทุนที่ตนพิพาทด้วย
“ตอนนี้เราก็หวังว่า กสม.จะสามารถเจรจาไกล่เกลี่ย และยุติข้อพิพาทได้ ซึ่งหากผลการตรวจสอบออกมาชาวเลไม่ผิด เราก็อยากจะเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิที่ดินทำกินแก่ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะทุกคน” น.ส.ฉัตรพร กล่าว
อนึ่ง กรณีข้อพิพาทดังกล่าวมีข้อมูลในเอกสารจากสำนักงานบังคับคดี จ.สตูล ระบุว่า เป็นคดีความระหว่าง นายณรงค์ศักดิ์ ปัทมปาณีวงศ์ เป็นโจทก์ฟ้องความแพ่งขับไล่ นายหัตติเริง พระอ๊ะ จำเลยที่ 1 นายลาโป๊ะ หาญทะเล (บิดาของนายหัตติเริง) โดยนางละม้าย พระอ๊ะ (มารดาของนายหัตติเริง) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2
ทั้งนี้ มูลนิธิชุมชนไท ซึ่งติดตามปัญหาชาวเลมาอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า มูลนิธิได้ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องพบว่า ในสมัย ศ.เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน กสม.ได้มีการตรวจสอบกรณีที่ดินเกาะหลีเป๊ะ แล้ว 1 ครั้ง ในปี 2547 โดยมีการสรุปมติ กสม.ไว้อย่างละเอียดถึงลำดับเหตุการณ์ และสิทธิในการทำประโยชน์ของชาวเลแต่ละตระกูล โดยมีทั้งรายชื่อผู้แจ้งครอบครองแบบ ส.ค.1 และ น.ส.3
ที่สำคัญ กสม.พบความผิดปกติในการเอกสารหลายประการ เช่น มีรายงานผลการตรวจสอบที่ 81/2549 เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กรณีเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล พบว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แปลงต่างๆ บนเกาะหลีเป๊ะทั้ง 19 แปลง โดยเปรียบเทียบกับการทำรายการบ้าน และบุคคลในทะเบียนบ้าน จากสำนักทะเบียนกลาง และสำเนาทะเบียนราษฎร ที่ว่าการอำเภอเมือง จ.สตูล มีข้อพิรุธอันเป็นการส่อให้เห็นว่า การออกเอกสารสิทธิดังกล่าวน่าจะไมชอบด้วยกฎหมาย
ในเอกสารของ กสม.ชุดเดิมได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1.กระบวนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) กลายเป็นบุคคลภายนอกของเกาะหลีเป๊ะทั้งสิ้น 2.กระบวนการออกหนังสือการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทั้ง 19 แปลง ระบุได้มอบอำนาจให้ นายบรรจง อังโชติพันธุ์ (อดีตกำนันในพื้นที่) หรือนายเส่ง แซ่อั้ง (พี่ชายนายบรรจง) เป็นผู้ดำเนินการ และเมื่อออกเป็น น.ส.3 แล้ว ได้มีการจดทะเบียนขายแก่นายบรรจง หรือนายเส่ง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ชาวเลระบุตรงกันว่า ที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะนั้นมีการทำประโยชน์โดยชาวเลมานานต่อเนื่อง กสม.จึงมีข้อเสนอถึงกระทรวงมหาดไทย ว่า ควรเพิกถอน น.ส.3 แปลงดังกล่าว และเร่งรัดออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ