คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
ผู้เขียนรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษ ดูแลรายวิชาการสื่อสารทางการเมืองของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมาเรียนที่วิทยาเขตหาดใหญ่ สงขลา ทุกบ่ายวันเสาร์เป็นเวลาหลายสัปดาห์มาแล้ว โดยการประสานงานติดต่อของ ผศ.ดร.พิเชฐ แสงทอง อาจารย์หนุ่มผู้มีอนาคต และวิสัยทัศน์กว้างไกล ผู้สอน และผู้เรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นทางการเมืองตามที่ประสบพบเห็นกันมา พร้อมกับผู้เรียนนำเสนอบทความแสดงทัศนะเกี่ยวกับการสื่อสารทางการเมือง การโน้มน้าว บทบาทหน้าที่ของวาทกรรมทางการเมือง ฯลฯ แล้วมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
ย้อนหลังไปก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ การสื่อสารทางการเมืองของคนในสังคมไทยจะสื่อสารผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน และผ่านตัวบุคคลเป็นด้านหลัก การยึดอำนาจในสมัยนั้นคือ การยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงและยึดกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายไหนสามารถยึดสถานีวิยุกระจายเสียง หรือกรมประชาสัมพันธ์ได้ ฝ่ายนั้นก็เป็นฝ่ายชนะ ประชาชนทั่วไปก็รอฟังประกาศของคณะปฏิวัติผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ของกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี
หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” การสื่อสารทางการเมืองเปลี่ยนมาเป็นการสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สาย หรือ “มือถือ” ประชาชนไม่ให้ความเชื่อถือสื่อมวลชนของรัฐ โดยเฉพาะสถานีวิทยุกระจายเสียงในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ในกำกับของรัฐบาล การสื่อสารทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬใช้โทรสาร และโทรศัพท์มือถือเป็นสื่อหลัก ประชาชนไปรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือความจริงจากเวทีปราศรัยของแกนนำ ทั้งในส่วนกลาง และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
เหตุการณ์มวลมหาประชาชนขับไล่รัฐบาลทรราชเสียงข้างมากที่มาจากการเลือก ตั้งแต่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนสมัยรัฐบาลนอมินีจากพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา การสื่อสารทางการเมืองปรับเปลี่ยนมาใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการแจ้งข่าว นัดหมาย หรือการตอบโต้ข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่าย จนนำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” สุดท้ายเมื่อไม่มีทางออกของความขัดแย้งสองขั้ว อำนาจนอกระบบจึงเข้ามาจัดการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อล้มกระดาน และเริ่มต้นใหม่ โดยการปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้านก่อนไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อเริ่มต้นกระบวนการประชาธิปไตยตามวิถีสากลต่อไป
จะอย่างไรก็ตาม ในกระบวนการสื่อสารทางการเมืองมีองค์ประกอบสำคัญคือ หนึ่ง ผู้ส่งสาร หรือผู้สื่อสาร ซึ่งในสังคมไทยส่วนใหญ่คือ กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และผู้ใช้อำนาจรัฐ สอง สาร หรือข้อมูลข่าวสารที่ต้องการสื่อสารไปยังประชาชน สาม ช่องทาง หรือสื่อที่เป็นทางผ่านของข้อมูลข่าวสาร และ สี่ ผู้รับสาร คือประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม
ในส่วนของผู้สื่อสาร แม้เราจะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (โดยรูปแบบ) เป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว แต่วัฒนธรรมทางการเมืองของเรายังเป็นแบบคับแคบ-ไพร่ฟ้า คือ เป็นเรื่องของคนมีอำนาจวาสนา เป็นเรื่องของคนบางตระกูลที่เกิดมาเพื่อเป็นนักการเมือง ไม่ใช่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า-มีส่วนร่วม อย่างที่เราอยากให้เป็น สารที่สื่อออกมาจึงเพียงให้ประชาชนรับรู้ และทำตามความต้องการของฝ่ายที่มีอำนาจ ตามวาทกรรม “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” “มาลานำไทย” “ตาดูดาวเท้าติดดิน” “เปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า” “ทำสงครามกับความยากจน ยาเสพติด” เป็นต้น
ในส่วนของผู้รับสาร คนที่มีการศึกษาในระบบระดับสูงให้ความสนใจต่อการเมืองน้อยกว่าคนที่มีการศึกษาในระบบระดับต่ำกว่า เช่นเดียวกับผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ไม่มั่นคง มักจะมีความสนใจทางการเมืองสูงกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมมั่นคงกว่า เป็นต้น การเมืองไทยจึงตกอยู่ในมือของผู้มีบุญทางอำนาจวาสนา ในฐานะผู้นำทางการเมือง กับคนด้อยโอกาส ในฐานะฐานคะแนนเสียงผู้สนับสนุน ประชาชนผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสทำหน้าที่ไปเลือกตั้งนักการเมืองเสียงข้างมากมาจัดตั้งรัฐบาล แต่ประชาชนที่มีฐานะเป็นชนชั้นกลางในเมืองมักทำหน้าที่ถอดถอน หรือล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะมีความเห็นว่าขาดความชอบธรรม เนื่องจากมาจากการทุจริต ซื้อสิทธิ ขายเสียง และกระทำการทุจริตคอร์รัปชันฉ้อฉลจนเกินจะรับไหว
วัฏจักรของการเมืองไทยจึงวนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” ครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการปฏิวัติรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ทั่วโลกเขาหลุดพ้นจากวงจรนี้ไปมากแล้ว แต่ของเรายังมีแต่ความขัดแย้ง แตกแยก ไม่สมานสามัคคีปรองดองกันอย่างที่หลายคนปรารถนา แม้ว่าขณะนี้เรากำลังจะมีการออกเสียงประชามติ เพื่อจะบอกว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่เป็นไปตามกรอบของการปฏิรูป หรือ “โรดแมป” ที่วางไว้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีการบิดเบือนเจตนา หรือข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปตามที่แต่ละฝ่ายต้องการ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อชาติบ้านเมือง
บัดนี้ สังคมไทยได้ก้าวมาถึงทางตันของการแสวงหาทางออกให้แก่ความขัดแย้งที่ก่อตัวมานานนับสิบๆ ปี ภายใต้การสื่อสารทางการเมืองแบบทำลายล้างกัน เพียงเพื่อเอาชนะกันในสนามการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจไยดีต่อชะตากรรมของบ้านเมืองและลูกหลาน เราต่างมีข้อมูลคนละชุด เรานับถือพระเจ้า และศาสดาคนละองค์ และพร้อมจะทำลายล้างกันเพียงเพราะ “คิดต่าง เชื่อต่าง ทำต่าง และพูดต่าง” ทั้งๆ ที่เลือดเราสีเดียวกัน