ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นักวิชาการใต้ชื่อดังโพสต์เฟซบุ๊กย้ำชัดจุดยืนอยู่ข้างความถูกต้องเป็นธรรมของภาคประชาชน ไม่อิงข้าราชการ ทหาร หรือนักการเมือง หลังถูกข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน กรณีร่วมออกแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”
วันนี้ (27 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจรูญ หยูทอง หนึ่งในนักวิชาการนักคิดกวี และนักเขียนที่ถูกแจ้งข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน หลังจากร่วมกันออกแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ใจความว่า ผมอยู่ที่ไหนในวันที่ “มวลมหาประชาชน” ถูกลอบฆ่า ทันทีที่ผม และเพื่อนๆ ถูกข้อหา “ขัดคำสั่ง คสช.” คนส่วนหนึ่งที่ชื่นชมในทหารก็ตะคอกถามว่า “คนเหล่านี้อยู่ที่ไหนในวันที่ประชาชนที่ประท้วงขับไล่รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” คล้ายๆ กับว่าผมเลือกเข้าข้างรัฐบาลเผด็จการพลเรือน
คนอื่นผมไม่รู้ แต่สำหรับผมตอบได้ว่า “ผมอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านการเข่นฆ่าประชาชนของรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้น ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค” ในหลายสถานะ หลายบทบาท บทบาทหนึ่ง ผมเขียนบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในผู้จัดการออนไลน์/โฟกัสภาคใต้ และสมิหลาไทมส์ ทุกสัปดาห์ แล้วนำมารวมเล่มพิมพ์เผยแพร่ ชื่อหนังสือ “เลาะเลียบสนามรบ มวลมหาประชาชน” เผยแพร่ในมวลหมู่กัลยาณมิตร และส่วนหนึ่งจำหน่ายเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนใน อ.รัตภูมิ เพื่อร่วมกับ กปปส.ที่ กทม.
สอง - ผมขึ้นปราศรัยทางการเมืองบนเวทีที่วงเวียนน้ำพุ หาดใหญ่ เวทีหน้าที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ และเวทีหลังสถานีรถไฟหาดใหญ่ โดยไม่ได้อยู่ในสังกัด กปปส.หรือ ปชป.แต่อย่างใด สาม - ผมขึ้นปราศรัยช่วยเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เวที คปท.ข้างทำเนียบรัฐบาล 2 รอบ และนอนอยู่หลังบังเกอร์สองคืน ขณะที่แกนนำทุกคนต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุน เพราะมีการลอบยิงเกือบทุกคืน
สี่ - ในวันชัตดาวน์กรุงเทพฯ ผมกับน้องชายที่ทำมาหากินอยู่ใน กทม.ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ตระเวนไปทั่วทุกเวทีเพื่อซึมซับบรรยากาศของการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนในวันนั้น ผมจึงถูกเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ศรัทธาในระบอประชาธิปไตย และเกลียดเผด็จการทหารประณามว่า เป็นพวกกวักมือเรียกทหาร ไม่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย บางคนแสดงออกผ่านสื่อ หลายคนนินทาอยู่บ่อยๆ ด้วยความสนุกสนาน
สำหรับผมเชื่อว่าประเทศนี้ไม่เคยมีฝ่ายไหนเป็นประชาธิปไตย เรามีอำนาจรัฐแบบเผด็จการพลเรือน สลับกับเผด็จการทหารเท่านั้น วันที่ผมตัดสินใจออกต่อต้านรัฐบาลเผด็จการพลเรือน ผมมีเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะให้รัฐบาลในขณะนั้นหมดอำนาจลงเพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตลงด้วยน้ำมือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากผมพอจะมีความอุ่นใจอยู่บ้างในการเข้ามาของทหารก็เพียงช่วยยับยั้งความรุนแรงที่มีต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น
ส่วนสถานการณ์หลังจากนั้นผมไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่ผู้นำ และคณะ คสช.เพราะผมเชื่อว่าการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุ และเป็นเพราะการเมืองในระบบมันล้มเหลวในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และทุจริตคอรัปชัน การโดนคดีของผมในครั้งนี้ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมไทย คนไทย วิธีคิด สติปัญญา ฯลฯ เป็นอย่างดี
1.มันทำให้ผมรู้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรู้สึก ไม่ใช่สังคมแห่งความรู้ คนไทยส่วนใหญ่ใช้ความรู้สึกในการตัดสินปัญหา ตัดสินใจเชื่อ และตัดสินคน ไม่นิยมใช้ความรู้ ข้อมูล ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ 2.สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม ไม่ใช่สังคมแห่งเหตุผล หลักการ ใครมีอำนาจเป็นฝ่ายชนะ ผู้นั้นถูกต้อง ส่วนผู้แพ้ หรือไม่มีอำนาจกลายเป็นผู้ผิดตลอดกาล
3.สังคมไทยมีทางเลือกกับทุกปัญหาเพียง 2 ทางมาตลอด ไม่มีทางเลือกที่ 3 เช่น ถ้าไม่ใช่ฝ่ายทหาร ก็เป็นฝ่ายนักการเมือง เอาโครงการกับไม่เอาโครงการ 4.สังคมไทยนิยมความเด็ดขาด รุนแรงกับคนอื่นแต่ถ้าเกิดกับตัวเองจะนิยมให้ประนีประนอม ให้อภัย ฯลฯ
ตลอดชีวิตที่ผ่านมาจนจะเกษียณอายุราชการในปี 2559 ผมยืนเคียงข้างผู้เสียเปรียบในสังคมและเป็นปฏิปักษ์ต่อความอยุติธรรมมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นนักกิจกรรม และนายกองค์การนิสิต มศว สงขลา เป็นประธาน ครป.นครศรีธรรมราช เลขาธิการสมาพันธ์ครูร่อนพิบูลย์ ประธานสมัชชาจังหวัดสงขลาเพื่อนปฏิรูปการเมือง รวมทั้งการทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลทหารโดยการเป็นกรรมาธิการวิสามัญจังหวัดสงขลา รับฟังความคิดเห็นประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2558 ที่ผ่านมา
จุดยืนของผมคือ ประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ผมไม่พิงพรรคการเมือง ผมมีเพื่อนและคนที่เคารพนับถือในทุกพรรค ทุกกลุ่มสี ผมทำหน้าที่สื่อมวลชนจัดรายการวิทยุ เป็นคอลัมนิสต์ เป็นวิทยากรบรรยายทางการเมือง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (สมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการจัดทำแผนแม่บทเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จัดเวทีเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น ฯลฯ
ผมตอบคำถามว่า “คุณอยู่ที่ไหนในวันนั้น...” ได้แค่นี้แหละครับ ใครอยากรู้ก็เข้าไปในกูเกิลแล้วพิมพ์ชื่อ “จรูญ หยูทอง” หรืออ่านสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ ปี 2542 ก็คงพอจะมีข้อมูลอยู่บ้าง ก่อนจะพิพากษาผมแบบเถื่อนถ่อยสถุลเช่นที่ผ่านมาครับ คำให้การของผู้ต้องหาศาลเตี้ยภาคประชาชน