ยะลา - นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา เผยภัยแล้งปีนี้ส่งผลกระทบทำให้ดอกดาหลาซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นออกดอกน้อยลง
วันนี้ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมดาหลา ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ซึ่งมีแปลงเพาะปลูกดอกดาหลา จำนวนกว่า 15 ไร่ มีการเพาะพันธุ์ดอกดาหลามากกว่า 5 สายพันธุ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ดอกดาหลา ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ โดยพบมากที่ อ.บันนังสตา อ.ธารโต อ.เบตง จ.ยะลา และในพื้นที่บางส่วนของ จ.นราธิวาส โดย “ดาหลา” นั้นเป็นพืชที่มีความเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น
ซึ่งที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมดาหลา ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา กรมวิชาการเกษตร อ.ธารโต จ.ยะลา มีดาหลาหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นดาหลาทั่วไป ดาหลาป่า ดาหลาลูกผสม และมีการเพาะขยายพันธุ์ออกมาหลากหลายชื่อ เช่น กุหลาบสยาม ซึ่งเป็นดาหลาพันธุ์ผสมระหว่าง ดาหลาถ้วย กับดาหลาแดงป่า บัวชมพู แดงดกธารโต บัวแดงเล็ก ดาหลาขาวธารโต และบานเย็น
น.ส.หาสนะห์ หีมล๊ะ นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ซึ่งเป็นผู้ดูแลเพาะพันธุ์ดาหลา เปิดเผยว่า ในปีนี้พบปัญหาจากความแห้งแล้งที่ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาหลายเดือน แม้ว่าในพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา จะเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุก แต่ในปีนี้ก็เกิดปัญหาความแห้งแล้ง ส่งลกระทบทำให้ดอกดาหลาในแปลงเพาะปลูกนั้นมีดอกน้อย และดอกไม่บานเป็นจำนวนมาก ต่างจากปีที่ผ่านมา
อีกทั้งอุณหภูมิความร้อน ทำให้ใบของต้นดาหลาไหม้ แห้งเฉาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งได้มีการแก้ปัญหาด้วยการต่อท่อน้ำติดสปริงเกอร์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้แก่แปลงดอกดาหลา เพื่อคงความชุ่มชื้น และไม่ให้แปลงขาดน้ำ ทั้งนี้ ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ดอกดาหลาในปีนี้ แม้จะบานแต่ก็ไม่มีความสวย บานไม่เต็มที่ บางต้นเมื่อดอกเริ่มตูมก็แห้งเหี่ยวไปเพราะขาดน้ำ ซึ่งปกติแล้วดอกดาหลาจะบานในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน แต่เมื่อเกิดความแห้งแล้งในปีนี้ทำให้ดอกดาหลาบานน้อยลง
ดาหลา ถือเป็นพืชสัญลักษณ์ของอำเภอธารโต จ.ยะลา เพราะเป็นพืชที่พบมากในพื้นที่ จึงได้มีการเพาะพันธุ์เพื่อทำการอนุรักษ์ไว้ ซึ่งดอกดาหลา นอกจากดอกจะมีความสวยตามแต่ละสายพันธุ์แล้ว ดอกดาหลา พันธุ์พื้นเมืองยังจะสามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ เช่น ข้าวยำ เนื่องจากกลิ่นของดอกดาหลาที่มีกลิ่นหอม เมื่อนำมาประกอบกับข้าวยำ พร้อมกับพืชชนิดอื่นทำให้มีกลิ่นชวนน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น