ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ผอ.สคร.9” ชี้การเสียชีวิตของ “ปอ ทฤษฎี” ดาราดัง ทำประชาชนตื่นตัวระวังไข้เลือดออกมากขึ้น ขณะสถิติป่วยปี 58 อีสานใต้พุ่ง 1.5 หมื่นราย ตาย 18 ราย เพิ่ม 3 เท่าตัว คาดปีนี้รุนแรงหากไม่ป้องกันจริงจัง เผยแค่ไม่ถึงเดือนพบผู้ป่วยแล้ว 170 ราย ชี้ผู้ใหญ่ป่วยมากขึ้น เตือนประชาชนไม่ให้ยุงลายกัดและทำความสะอาดบ้านเรือนตัดวงจรยุงพาหะนำโรค
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ถ.ราชสีมา-โชคชัย อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากกรณีนักแสดงชื่อดัง “ปอ ทฤษฎี สหวงษ์” ป่วยโรคไข้เลือดออกและเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทำให้สังคมไทยเกิดการตื่นตัวมากขึ้นกับการระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก
ล่าสุดจากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 ปี 2558 พบผู้ป่วยทั้งสิ้นจำนวน 15,165 ราย มีผู้เสียชีวิต 18 ราย โดย จ.นครราชสีมาพบผู้ป่วยมากสุด 7,294 ราย มีผู้เสียชีวิต 13 ราย รองลงมาคือ จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 3,040 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 2,816 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 2,015 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (ยังไม่รวมกรณีการเสียชีวิตของดาราดัง) เพิ่มจากปี 2557 ประมาณ 3 เท่าตัว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอายุมากกว่า 14 ปีขึ้นไปมีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้น จากเดิมมักจะมีผู้ป่วยเป็นเด็ก
สำหรับปี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1-19 ม.ค. 2559 เพียงไม่ถึงเดือนพบผู้ป่วย 170 รายแล้ว ได้แก่ นครราชสีมา พบผู้ป่วย 67 ราย จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 48 ราย จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 29 ราย และ จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 26 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ เพื่อความไม่ประมาท ประชาชนควรรู้เท่าทันอันตรายของโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจัง เพื่อระมัดระวังป้องกัน ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าโรคไข้เลือดออกที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นเพียงหนึ่งในสายพันธุ์เชื้อของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “เดงกี” (Dengue) มีอยู่ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ เรียกชื่อเรียงกันง่ายๆ ว่า สายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 โดยไวรัสเดงกีมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ทำให้โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยยุงชนิดนี้พบอยู่มากในแถบอากาศร้อนชื้น มียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะยุงตัวเมีย
สิ่งที่น่าสนใจและควรให้ความสำคัญคือ ต้องมีการรณรงค์กำจัดยุงลายอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงต้นปี และต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อตัดวงจรยุงลาย ซึ่งนักวิชาการคาดการณ์ว่าในปี 2559 จะมีการระบาดของไข้เลือดออกรุนแรงเท่ากับปี 2558 หากทุกคนยังไม่ตระหนักหรือป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะช่วงนี้มีฝนหลงฤดูตกลงมาทำให้ยุงลายขยายพันธุ์มากขึ้น