xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มวิศวะชาวพังงาเดินตามรอยพ่อหลวง ปลูกไผ่ตงสร้างรายได้เดือนเป็นแสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พังงา - อดีตหนุ่มวิศวกรเครื่องยนต์ ชาวจังหวัดพังงา ลาออกจากงานหันมาปลูกไผ่ลืมแล้งในสวนยางพารา และปลูกพืชผักสวนครัวตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา สร้างรายได้จากชำต้นไผ่ตงลืมแล้ง หรือไผ่กิมซุง ขายผ่านทางเฟซบุ๊ก สร้างรายได้เดือนละกว่าแสนบาท

วันนี้ (7 มี.ค.) นายบุญชู สิริมุสิก อยู่บ้านเลขที่ 142 ม.5 ต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา อดีตพนักงานบริษัท แผนกวิศวกรเครื่องยนต์ มีรายได้ประจำเดือนละหลายหมื่น แต่กลับลาออกจากงานเพียงแค่เห็นรายการในทีวีตามรอยพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงเกิดแรงบันดาลใจ และตัดสินใจลาออกจากงานมุ่งหน้ากลับบ้านเกิดที่จังหวัดพังงา พร้อมศึกษาเรื่องการทำเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงจัง เนื่องจากที่บ้านตนเองยึดอาชีพทำสวนยางพารา

จึงมีความคิดว่าสิ่งที่จะทำนั้นต้องง่าย ทำได้จริง และมีคนทำน้อย จึงได้ทดลองนำต้นไผ่ตงลืมแล้ง หรือไผ่ตงกิมซุง ที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อไผ่ตงหวานนั่นเอง คนที่นี่รู้จักดี ส่วนใหญ่ปลูกไว้กินเอง เลยนำมาทดลองปลูกในสวนยางพาราควบคู่กันไปในเนื้อที่ 5 ไร่ ซึ่งการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่ชนิดนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งกอ ไผ่ตงลืมแล้ง เมื่อโตเต็มที่ความสูงจะอยู่ที่ประมาณ 25 เมตร แต่ตนจะควบคุมความสูงโดยจะคอยตัดยอดให้อยู่ที่ความสูงประมาณ 4-5 เมตร เพื่อให้ไผ่ได้ออกหน่อเยอะๆ เมื่อเริ่มปลูกไปได้ประมาณ 1 ปี ไผ่ตงจะเริ่มออกหน่อไผ่แต่ยังออกไม่เยอะ เมื่อผ่านไปได้สักปีที่ 2-3 ปี ไผ่จะเริ่มออกหน่อเยอะมากขึ้น และเริ่มตัดหน่อไปขาย โดยเลือกหน่อที่มีขนาด 2-3 กิโลกรัม โดยขายให้แก่พ่อค้าที่มารับซื้อถึงที่กิโลกรัมละ 35 บาท แต่ถ้าช่วงหลังปีใหม่ไปถึงเดือนพฤษภาคม ราคาจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ40-50 บาท เนื่องจากไผ่ตงจะออกหน่อน้อย ส่วนลำต้นอ่อนของไผ่ตงจะมีพ่อค้ามารับซื้อเพื่อนำไปทำเป็นกระบอกข้าวหลาม ลำต้นชนิดนี้จะไม่ตัดยอด แต่จะปล่อยให้ลำต้นของไผ่ตงสูงเต็มที่ จากนั้นพ่อค้าจะมาตัดเอาเองโดยลำต้นหนึ่งของไผ่ตงเมื่อตัดเป็นกระบอกข้าวหลามจะได้ 10-15 กระบอก ขายในราคากระบอกละ 3 บาท หากลำต้นไหนที่แก่จัดก็จะตัดขายให้แก่ช่างที่ทำเฟอร์นิเจอร์ไม่ไผ่ โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ เตียงต่างๆ

เนื่องจากไผ่ตงมีความแข็งแรง ทนทาน เหมาะแก่การนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์มีคนมารับซื้อถึงที่เช่นกัน กิ่งของไผ่ตงที่นิยมนำมาเพาะชำขายจะตัดจากกิ่งที่แตกแขนงออกมาจากลำต้น จากนั้นตัดแล้วนำไปเพาะชำในถุงดำเพาะชำ ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ก็จะออกราก จึงเริ่มจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้ โดยทำการตลาดโดยเริ่มจากการประกาศขายไผ่ตงผ่านทางเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า สวนไผ่ “อาบู” ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก ถึงขั้นทำขายไม่ทันกันเลยทีเดียว และล่าสุด ตอนนี้ได้ขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่นิยมชื่นชอบปลูกไผ่ตง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีเช่นกัน จนต้องจำกัดการขายต้นพันธุ์เดือนหนึ่งไม่เกิน 400 ต้น เพราะต้องรักษาคุณภาพของต้นพันธุ์ไว้

ส่วนราคาหากลูกค้าสั่งเป็นจำนวนมากตนจะขายส่งในราคาต้นละ 50 บาท หากขายปลีกจะขายต้นละ 100 บาท แต่ถ้าชาวบ้านทั่วไปสนใจจะทดลองนำไปปลูกตนก็ยินดีให้ฟรี พร้อมให้คำแนะนำอีกด้วย ตอนนี้ตนมีรายได้ตกเดือนละ 4-5 หมื่นบาท นอกจากไผ่ตงแล้ว ยังปลูกไม้มะฮอกกานี ไม้เศรษฐกิจอีกชนิดที่ตลาดยังต้องการเนื่องจากนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้สวยงาม เพราะเนื้อไม้มีลวดลายที่สวยงาม ต้นผักเหมียง ผักพื้นบ้าน เลี้ยงไก่เบตงพันธุ์ลูกผสม โดยมีการแบ่งสันปันส่วนของต้นไม้แต่ละชนิดอย่างชัดเจน

นายบุญชู สิริมุสิก กล่าวว่า ตนรู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้เดินตามรอยเท้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำการเกษตรแบบผสมผสานตามพระองค์ท่าน และดีใจที่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง มีพ่อ แม่ พี่น้อง คอยให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจ อนาคตตนกำลังศึกษาทดลองนำลำต้นของไผ่ตงลืมแล้ง มาทำเป็นถ่านไบโอชา เนื่องจากสรรพคุณของถ่านไบโอชามีสารคาร์บอนด์สูง ดูดซับสารพิษ มีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อนำถ่านไบโอชาไปต้มกับน้ำร้อนดื่มจะช่วยดูดสารพิษในร่างกายเป็นอย่างดี เหมาะแก่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ แต่วิธีการผลิตเพื่อให้ได้ถ่านไบโอชาค่อนข้างยุ่งยากเนื่องจากต้องใช้เตาเผาพิเศษที่ให้ความร้อนสูงแต่ใช้เวลาในการเผาน้อยไม่กี่ชั่วโมงซึ่งตนกำลังศึกษาเริ่มทดลองทำอยู่ คงอีกไม่นานคงมีถ่านไบโอชาจำหน่ายอย่างแน่นอน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น