กระบี่ - กลิ่นน้ำเสียหึ่งทั่วเกาะพีพี เหตุน้ำเสียเกินขีดบำบัด และยังมีการปล่อยให้ไหลลงชายหาด ด้านนายก อบต.อ่าวนาง ยอมรับ ปัญหาน้ำเสียเกินขีดความสามรถของท้องถิ่นเนื่องจากใช้งบประมาณสูง วอนรัฐบาลช่วยเหลือด่วน
วันนี้ (2 มี.ค.) ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่บนเกาะพีพี ม.7 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ใกล้กับบ่อบัดบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหากลิ่นเน่าเหม็นที่โชยมาจากบ่อดังกล่าว เนื่องจากมีปริมาณน้ำเสียไหลมาจำนวนมากจนล้นบ่อบำบัด นักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปมาจำต้องทนต่อกลิ่น ทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยว พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยไว้ก็จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของเกาะพีพีในระยะยาว
ล่าสุด ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านระบบนิเวศทางทะเล โพสต์ภาพน้ำเสียชายหาดลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ปัจจุบัน บนเกาะพีพีดอนมีน้ำเสียวันละ 1,800 ลบ.ม. จากสถานประกอบการ ที่พัก โรงแรมต่างๆ ที่ไม่ผ่านการบำบัดไหลลงทะเล เนื่องจากปัจจุบันบ่อบำบัดน้ำเสียที่ทางประเทศเดนมาร์กสร้างให้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ สามารถบำบัดได้วันละ 300 ลบ.ม.เท่านั้น หรือแค่ 17 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แต่ละวันมีน้ำเสีย 1,500 ลบ.ม.ไหลลงทะเล ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังรอบเกาะพีพีด้วย
ด้าน นายพันคำ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง กล่าวยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวเกินอำนาจขององค์กรกครองส่วนท้องถิ่นที่จะดำเนินการสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ใหม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า 300 ล้านบาท ไม่รวมงบประมาณบริหารจัดการ ที่ผ่านมา ได้เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนแต่อย่างใด จึงเรียกร้องผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐบาลเร่งหาทางช่วยเหลือด่วน
เนื่องจากปัจจุบัน มีสถานประกอบการ ที่พัก โรงแรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในอนาคตหากยังไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหา เกาะพีพีก็จะกลายเป็นเกาะร้างอย่างแน่นอน เพราะธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรมลงไปทุกที ซึ่ง อบต.อ่าวนาง เป็นหน่วยงานเล็กๆ ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการแก้ปัญหาในส่วนนี้ และนอกจากนี้ ปัญหาน้ำเสียไม่เฉพาะเกาะพีพี ในพื้นที่ชายหาดอ่าวนางก็กำลังประสบอยู่ และเคยเสนอโครงการไปหลายครั้งแล้วก็ไม่ได้รับการพิจารณา และว่าเป็นเรื่องแปลกมาก แหล่งท่องเที่ยวชายหาดอ่าวนาง และเกาะพีพีในแต่ละปีสร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละนับหมื่นล้านบาท แต่เงินที่จะนำมาแก้ไขปัญหาน้ำเสียจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายได้ แต่กลับไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด