xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง “เงื่อนไข” และ “กับดัก” ของการสุมไฟใต้ที่อาจจะเป็นความรุนแรงระลอกใหม่ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พิธีฝังศพปลัด อ.สะบ้าย้อย ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิต (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ผู้คนที่ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มใจชื้น และค่อนข้างมั่นใจว่า สถานการณ์ที่ลดความรุนแรงลงในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาคือ “สัญญาณบวก” ที่บอกเหตุว่า ปัญหาความไม่สงบกำลัง “ลดอุณหภูมิ ลงแล้ว และหนทางข้างหน้าของการ “ดับไฟใต้ กำลังมีความหวัง
 
ถึงแม้ว่าจะไม่สดใสกาววาวเหมือนท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆดำ แต่ก็เป็นท้องฟ้าที่เริ่มจะเห็นแสงดาวระยิบระยับมากขึ้น หลังจากที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว
 
แต่เหตุการณ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเหตุเกิดขึ้นค่อนข้างจะถี่ยิบในพื้นที่ จ.ปัตตานี กับ จ.นราธิวาส และที่ประปรายใน จ.ยะลา และการปลิดชีพปลัดอำเภอสะบ้าย้อยที่ อ.เทพา จ.สงขลา กลับกำลังสร้างความหวั่นไหว และความไม่มั่นใจว่า สถานการณ์ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาที่การก่อเหตุลดลงนั้น เกิดจากความเข็มแข็งของเจ้าหน้าที่ นโยบายและแผนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประสบความสำเร็จ หรือเป็นเพราะ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน และ “กลุ่มสุดโต่ง” ในพื้นที่หยุดการปฏิบัติการ (พักรบ) ด้วยสาเหตุของขบวนการเอง
 
แน่นอนว่าไม่มีใครที่จะตอบในเรื่องข้อสงสัยของการที่แนวร่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ชะลอการก่อเหตุในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา แม้แต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ว่า เป็นเพราะแนวร่วม “รอจังหวะ” ในการเคลื่อนไหว หรือเป็นเพราะเกิด “อาการขี้เกียจ หรือเป็นเพราะ “รอสัญญาณ” จากกลุ่มแกนนำนอกประเทศที่พยายามสร้างความได้เปรียบในการพูดคุยกับฝ่ายรัฐไทย
 
แต่ที่แน่ชัดหรือไม่ต้องมีหน่วยข่าวความมั่นคงออกให้ข่าวคือ กำลังของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังคงมีความสามารถในการเคลื่อนไหวเพื่อการก่อเหตุร้ายตามคำสั่งของแกนนำ หรือบางกลุ่มอาจจะออกมาปฏิบัติการเอง เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐที่จับกุม ทำลายฐานที่มั่น และยึดอุปกรณ์ในการก่อวินาศกรรมของพวกพ้อง
 
แสดงถึงขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังสามารถ “เคลื่อนไหว” และ “ก่อเหตุ เพื่อสร้างความสูญเสียให้เจ้าหน้าที่รัฐ และ “สร้างข่าว ให้เห็นว่าขบวนการยังมีขีดความสามารถในการต่อกรกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ รวมถึงการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง การใช้อาวุธในการโจมตี และติดตามเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปลิดชีพตามที่ต้องการ
 
การส่งแนวร่วมติดตามปลิดชีพปลัดเทศบาลของ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ต่าง “อยู่ในสายตา ของแนวร่วมในพื้นที่ และเมื่อแนวร่วมต้องการที่จะเอาคืนหรือตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐที่สร้างความสูญเสียให้แก่ขบวนการ เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ที่ขาดการระแวงระวัง เพราะเชื่อมั่นในพื้นที่ในตนเองก็จะกลายเป็นเหยื่อของสถานการณ์ในที่สุด
 
รวมทั้งเป็นยืนยันโดยไม่ต้องมีพยานว่า ณ วันนี้ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมทั้งอีก 2 อำเภอที่ไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงอย่าง อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา ยังไม่ใช่ “พื้นที่ปลอดภัย แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ขบวนการยังมีที่มั่น มีแกนนำ และมีแนวร่วมที่ยังมีความพร้อมในการปฏิบัติการ แม้จะเป็นการ “ตีหัวเข้าบ้าน แต่สุดท้ายความสูญเสียก็เกิดขึ้น
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเป็น “โจทย์” ที่หน่วยงานความมั่นคงต้องนำไป “วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุที่มาและการป้องกันเหตุ โดยเฉพาะทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการต่อขบวนการสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ตรวจยึดที่มั่น และยุทโธปกรณ์ว่าจะป้องกันการออกมาเอาคืนจากขบวนการฯอย่างไร
 
โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้อง “พูดคุย เพื่อหาแนวทางในการป้องกัน และเปิดเกมรุกอย่างไรเพื่อให้เป็น “พื้นที่ปลอดภัย อย่างแท้จริง เพราะนี่คือ “พื้นที่กันชน ของ อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา ที่เป็นฐานเศรษฐกิจของ จ.สงขลา
 
ถ้าพื้นที่ของ 4 อำเภอของ จ.สงขลาไม่ปลอดภัย ขบวนการยังเคลื่อนไหว และก่อเหตุใหญ่ๆ ได้ นั่นหมายถึง “ความง่อนแง่น ของความไม่ปลอดภัยทั้งของ อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดานั่นเอง
 
นั่นคือ “ไฟร้อนของไฟใต้ที่ทุกคนเห็นถึงภาพของ “กองไฟบนพื้นผิวที่ชัดเจน และหาวิธีดับไฟได้ไม่ยาก แต่ “ไฟร้อน” ที่ไม่ได้อยู่บน “พื้นผิวอีกหลายๆ เรื่องที่เป็น “ไฟสุมขอนและเป็น “เงื่อนไขเป็น “กับดัก เพื่อผสมผสานให้ความรุนแรงที่มีอยู่เพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไม่ควรประมาทก็มีอยู่หลายเรื่อง
 
เช่น เรื่องของการพยายาม “กระพือไฟ จากกลุ่มสุดโต่ง ทั้งที่เป็นพุทธ และมุสลิม ในเรื่องโครงการสร้างพุทธมณฑลใน จ.ปัตตานี หรือในที่ดินงอก หรือย้ายไปสร้างบริเวณอื่นๆ ซึ่งวันนี้ยังเป็นเรื่องของ “คลื่นใต้น้ำ ลูกใหญ่ที่ใช้ในการปลุกระดมของคน 2 ฝ่ายที่มีมุมมองของความเป็น “ชาตินิยม มากกว่าเหตุผล และหลักการที่ถูกต้อง
 
มีความพยายามที่จะนำเรื่องนี้ไปขยายผลไปยังพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศ เพื่อต่อต้านการสร้างศาสนสถานของมุสลิมในพื้นที่ที่ประชากรเป็นพุทธมากกว่า เพื่อเป็นการ “เอาคืนต่อการที่มีการต่อต้านการก่อสร้างพุทธมณฑลใน จ.ปัตตานี สิ่งที่เกิดขึ้นฝ่ายความมั่นต้องอย่านิ่งนอนใจว่าไม่มีอะไร ด้วยการ “คิดเอาเอง และไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่ ผู้บริหารประเทศรับรู้ถึงข้อเท็จจริง เพราะจะเป็นโทษอย่างมหันต์ต่อการดับไฟใต้ในอนาคต
 
แม้แต่เรื่องของ “ครอบครัวแวมะนอ ประกาศยุติการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ด้วยการไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีที่ศาลแพ่งพิพากษายึดที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนศาสนา หรือปอเนาะที่เป็นสถานที่ฝึกฝน และบ่มเพาะสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
นั่นก็ไม่ไม้หมายความว่าเรื่องของความขัดแย้ง หรือเรื่องกระบวนการยุติธรรมจะจบลงตามข้อกฎหมาย และเป็นความยินยอมของ “ครอบครัวแวมะนอ เพียงแต่ที่พวกเขายุติการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพียงเพราะเขาเชื่อใน “หลักศาสนา” และเขาเชื่อว่า “แผ่นดินตรงนั้นเมื่อเป็นของเขา” ทำไม่เขาจะต้องไปต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของความเป็นเจ้าของ
 
และนี่คือ “เงื่อนไข” คือ “กับดัก” ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำไปใช้ในการแสวงหาประโยชน์ และมวลชน ซึ่งหากหน่วยงานความมั่นคงยังมองว่าปัญหาเหล่านี้ไร้สาระ เช่นเดียวกับปัญหาความยุติธรรมอื่นๆ ที่แม้หน่วยงานของรัฐได้พยายามอย่างเต็มที่ในการ “สลายปัญหา” แต่ก็ยังมี “ช่องไฟ” ของความห่างที่ยัง “ถมไม่เต็ม” เกิดขึ้น ซึ่งล้วนเป็นเงื่อนไขที่รอการสุกงอมทั้งสิ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น