xs
xsm
sm
md
lg

ทัพเรือภาคที่ 3 จับกุมเรือเบ็ดราวทูน่านอกน่านน้ำ ทำผิดกฎหมายประมง-ขัดคำสั่ง คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทัพเรือภาคที่ 3 จับกุมเรือประมงเบ็ดราวทูน่าที่ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำโดยไม่แจ้งเข้า-ออก ทำผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง และขัดคำสั่ง คสช.

เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (14 ก.พ.) ที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศรชล.เขต 3) พร้อมด้วย พ.ต.อ.กิติพงศ์ คล้ายแก้ว ผกก.สภ.วิชิต นายสาคร ปู่ดำ นักวิชาการชำนาญการ เจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต เจ้าหน้าที่ประมง เจ้าหน้าที่ตรวจด่านสัตว์น้ำ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รายงานเรือเข้า-ออก (ศูนย์ PIPO) ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมเรือประมงนอกน่านน้ำที่เดินทางกลับจากการทำประมงในมหาสมุทรอินเดีย จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือ YU LONG 6 และเรือ YU LONG 125 ซึ่งเป็นประมงเบ็ดราวทูน่า

พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวถึงการจับกุมครั้งนี้ ว่า สืบเนื่องจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) สั่งการให้ ทัพเรือภาคที่ 3 ศูนย์ประสานการปฎิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 (ศรชล.เขต 3) ให้ดำเนินการควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำที่เดินทางกลับจากการทำประมงในมหาสมุทรอินเดีย จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือ YU LONG 6 และเรือ YU LONG 125 ซึ่งเป็นประมงเบ็ดราวทูน่า โดยมีพฤติกรรมในการทำการประมงผิดกฎหมาย IUU ซึ่งเบื้องต้น ทำผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 และขัดคำสั่ง คสช.ที่ 10/2558 จึงถูกเพิกถอนทะเบียนเรือ และให้เดินทางกลับเข้ามาดำเนินการตามกฎหมายที่จังหวัดภูเก็ต จากนั้นจึงสั่งการให้เรือหลวงแกลง และเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 991 เดินทางไปควบคุมเรือทั้ง 2 ลำดังกล่าว เมื่อเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย สนับสนุนด้วยการลาดตระเวนทางอากาศด้วยเครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 (DO-228) จากหมวดบินเฉพาะกิจ กองเรือปฎิบัติการ ทัพเรือภาคที่ 3 จนในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 13 ก.พ.59 สามารถควบคุมเรือทั้ง 2 ลำได้ และให้เดินทางมายังท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต

เมื่อเรือทั้ง 2 ลำเดินทางมาถึงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ตรวจคนเข้าเมือง แรงงานจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศูนย์การควบคุมแจ้งเข้าออกเรือประมง PIPO ภูเก็ต ได้ดำเนินการตรวจสอบ หากพบการกระทำความผิดกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบก็จะดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป” พล.ร.ท.สายันต์ กล่าวและว่า

การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทำการประมง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และมีมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยการบังคับใช้กฎหมายถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมีความจริงจัง

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เรือ YU LONG 6 มีกัปตันชื่อ HSIA CHIEN JEN อายุ 50 ปี สัญชาติไต้หวัน และลูกเรือรวม 15 คน และเรือ YU LONG 125 มีกัปตันชื่อ CHEN TAI SHAN อายุ 52 ปี สัญชาติไต้หวัน และลูกเรือรวม 15 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ โดยตั้งข้อกล่าวหาเบื้องต้นมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 ขัดคำสั่ง หน.คสช.ที่ 10/2558 ที่กำหนดให้มารายงานตัว และไม่ได้นำเรือมารายงานตัวตามกำหนด ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น