ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “พัฒนาการ อ.หาดใหญ่” รุดชี้แจงกรณีเกิดการร้องเรียนเรื่องการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ที่ใช้วิธีนำไปฝากไว้ที่ป้อมยามหมู่บ้าน แล้วให้ครัวเรือนนำไปกรอกก่อนนำกลับมาส่งป้อมยาม ยอมรับเป็นความบกพร่องของอาสาสมัครที่ระดับเทศบาลจัดตั้งขึ้นจริง แต่ได้หาทางแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นแล้ว
วันนี้ (4 ก.พ.) นายประสิทธิ์ สุวรรณประสม พัฒนาการอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เข้าชี้แจงต่อ “MGR Online ภาคใต้” กรณีมีการลงข่าวเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับข้อร้องเรียนของ นางคีตาญชลี แสงสังข์ ที่มีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ทั้งที่เป็นข้อมูลสำคัญ และเข้าใจยาก แต่ทำแบบไม่เป็นระบบ อันแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ โดยนำเอกสารไปฝากไว้ที่ป้อมยามหมู่บ้านแล้วให้ส่งมอบต่อไปยังแต่ละบ้านให้ไปกรอกข้อมูลครัวเรือนก่อนนำมาคืนที่ป้อมยาม
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า จากข่าวที่เกิดขึ้นตนยอมรับว่าเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ดังกล่าวจริง เพียงแต่อยากทำความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องความผิดพลาดของกรมพัฒนาชุมชนแต่อย่างใด แต่จากการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความผิดพลาดของระดับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครในการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว แล้วก็อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมาย
แต่ละปีกรมพัฒนาชุมชนจะมีการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.เพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แล้วนำข้อมูลที่ได้รับเหล่านี้ส่งผ่านไปให้กระทรวง และหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องชี้เป้าหมายของการพัฒนา โดยเฉพาะนำไปใช้วางแผนงาน หรือมาตรการในการแก้ปัญหาในระดับครัวเรือน ชุมชน รวมไปถึงระดับชาติ ซึ่งการเก็บข้อมูลจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ 3 หน่วยงานหลัก คือ นอกจากของกรมพัฒนาชุมชนเองแล้ว ก็มีกรมการปกครอง และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น
นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การเก็บข้อมูล จปฐ.ก็จะอาศัยผู้นำชุมชนเป็นหลัก ทั้งที่เป็นผู้นำชุมชนอย่างทางการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย และสารวัตรต่างๆ รวมถึงผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของชุมชน ซึ่งในระดับเทศบาลไม่ว่าจะเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล รวมถึง อบต.ด้วย โดยจะมีการมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ รับไปช่วยดำเนินการ ซึ่งเขาอาจจะไปจัดหาอาสาสมัครมาช่วย แต่ก็ต้องมีการอบรมทำความเข้าใจในกระบวนการต่างๆ พร้อมๆ กับมีงบประมาณสนับสนุนด้วยจำนวนหนึ่ง
“จริงๆ แล้วในส่วนของงบประมาณก็ไม่ได้มากมายอะไรเลย กรณีที่เกิดขึ้นทางเทศบาลเมืองคอหงส์ ก็จัดหาอาสาสมัครไปดำเนินการ แต่น่าจะเป็นเพราะหมู่บ้านของคุณคีตาญชลี อาจจะเข้าถึงยาก คือ เป็นชุมชนที่ค่อนข้างมีฐานะ แล้วกลางวันไม่ค่อยจะอยู่บ้านกัน เจ้าหน้าที่อาสาสมัครเลยใช้วิธีไปฝากเอกสารไว้ที่ป้อมยาม แทนที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง เรื่องนี้เราได้ทำความเข้าใจ และหาทางแก้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกต่อไปแล้ว ก็ต้องขอบคุณสื่อที่ชี้ให้เห็นช่องโหว่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ทำงานแบบชุ่ยๆ แต่อย่างใด”
นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนในฐานะตัวแทนกรมพัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ อ.หาดใหญ่ อยากให้สื่อมวลชน และสังคมเข้าใจด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนพยายามปฏิบัติงานด้วยความพยายามเต็มที่เสมอมา แต่เมื่อต้องเกี่ยวข้องต่อคนจำนวนมาก และภาระรับผิดชอบค่อนข้างยิ่งใหญ่ และสำคัญ ขณะที่บุคลากรก็มีอย่างจำกัดจำเขี่ย ความขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดจะมีบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อเป็นข่าวไปแล้วตนก็ต้องขอโทษ และจะพยายามแก้ไขเพื่อปิดช่องโหว่ให้ดีที่สุด
“เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ในการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ครั้งนี้คือ สำนักงานพัฒนาชุมชน อ.หาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่แค่ 7 คน แต่ต้องรับผิดชอบ 1 เทศบาลนคร 6 เทศบาลเมือง และ 7 อบต. เอาเฉพาะพื้นที่ที่มีการร้องเรียน คือ เทศบาลเมืองคอหงส์ มีครัวเรือนที่ตั้งเป้าจัดเก็บข้อมูลสูงถึง 12,981 ครัวเรือน จากจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 1.7 หมื่นครัวเรือน บางครั้งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครก็เข้าไม่ถึงบ้าง หรือเข้าไปถึงแล้วเขาก็ไม่พร้อมจะให้ข้อมูล ผมก็เลยแนะนำไปว่า ถ้าลำบากจริงๆ ไม่ต้องก็ได้ เอาให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายประสิทธิ์ กล่าว