xs
xsm
sm
md
lg

สุดชุ่ย! “กรมพัฒนาชุมชน มท.” ปฏิบัติการให้ชาวสงขลากรอกข้อมูล จปฐ.แบบแสนจะมักง่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวสงขลา สุดปวดหัวต่อเจ้าหน้าที่ “กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย” ที่ใช้วิธีฝากเอกสารให้ “ยามประจำหมู่บ้าน” จัดการให้ครัวเรือนนำไปกรอกข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน เผยเป็นคำถามที่ทั้งยาก และเยอะ แถมต้องใช้ความเข้าใจ และการตีความขั้นสูง แต่กลับปฏิบัติหน้าที่แบบมักง่ายอย่างที่สุด
 
วันนี้ (27 ม.ค.) นางคีตาญชลี แสงสังข์ มีอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว และมีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ ม.6 ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ติดต่อขอร้องเรียนต่อ “MGR Online ภาคใต้” เกี่ยวกับการทำหน้าที่แบบ “มักง่าย” ของเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการจัดเก็บ “ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน” ซึ่งคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องต่อการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนเพื่อใช้ในการทำสำมะโนประชากรครั้งใหม่
 
นางคีตาญชลี เปิดเผยว่า ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่าตนไม่ได้มีความรู้โดยตรงเรื่องการทำแบบสอบถาม แต่คิดว่าแนวคิดที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้ชาวบ้านกรอก “ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน” ด้วยตัวเองนั้น เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาชุม กระทรวงมหาดไทย มั่นใจศักยภาพของพลเมืองมากมายเกินไปไหม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ใกล้เคียงคำว่า “มักง่าย” เท่านั้นเอง
 
“แม้ดิฉันจะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้เป็นนักวิชาการอิสระ เพียงเคยผ่านกระบวนการร่ำเรียนเกี่ยวกับทำแบบสอบถามมาบ้างเล็กน้อย จนอาจจะเหมือนสอนจระเข้ว่ายน้ำ แต่อย่างไรด้วยความที่เป็นพลเมืองไทย และเห็นความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของท่าน จึงอยากขอแนะนำบางสิ่งบางอย่าง หวังว่าท่านคงจะรับฟังประชาชนตัวเล็กๆ ที่ประสบเหตุดังนี้”
 

 
นางคีตาญชลี กล่าวว่า ประมาณวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา หรืออาจคลาดเคลื่อนหนึ่งถึงสองวัน สามีตนได้รับแบบสอบถามที่ระบุว่า เป็นข้อมูล จปฐ.จากป้อมยามหน้าหมู่บ้าน พร้อมได้รับคำขอว่า ให้กรอกแบบสอบถามแล้วนำมาคืนที่ป้อมยาม เมื่อกลับถึงบ้านสามีก็นำมาให้ตน ผ่านไปสองวันตนจึงนำแบบสอบถามข้อมูล จปฐ.เล่มนั้นมาอ่าน เพื่อที่จะทำการกรอกข้อมูล แต่เมื่อเปิดอ่านภายในก็พบว่า มีข้อมูลจำนวนมากที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง และบางเรื่องต้องอาศัยความเข้าใจขั้นสูงมากจึงจะตอบแบบสอบถามได้
 
“พยายามไปอ่านที่คำอธิบายข้างท้ายแล้ว แม้กระนั้นก็ยากที่จะเข้าใจ อย่างคำถามบางข้อก็ต้องอาศัยการตีความ เช่น ในหน้า 13 ข้อ 17.2 ถามว่า เด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 14 ปี ทุกคนได้เรียนเข้าการศึกษาชั้น ป.1 ถึง ม.3 หรือการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีหรือไม่ ลูกดิฉันอายุ 6 ขวบ 2 เดือนตอนนี้อยู่ชั้นอนุบาล 3 ไม่ทราบว่าจะจ้องตอบว่าได้เรียนทุกคน หรือไม่ได้เรียน”
 
นางคีตาญชลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนมีความเข้าใจว่าควรจะตอบว่าได้เรียน เพราะการนับปีการศึกษาไทยนั้นไม่ได้นับตั้งแต่เดือน ม.ค.ของทุกปี แต่เริ่มที่เดือน พ.ค. ดังนั้น เรื่องอายุจึงต้องมีการตีความว่า หลังเดือน พ.ค.ไปแล้วลูกตนซึ่งเต็ม 6 ขวบ จะได้เข้าเรียน ป.1 ไหม
 
“แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ เพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์ในการถาม ขอถามท่านว่าจะได้รับคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่” นางคีตาญชลี กล่าวและว่า
 
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคำถามที่ต้องอาศัยการคำนวณเรื่องรายได้ต่อหัว รายได้หลัก รายได้เสริม ถามเรื่องต้นทุนการผลิต และค่าเฉลี่ยรายได้ครัวเรือน ถ้าไปเจอบ้านที่เขาไม่พร้อมในการอ่านการคำนวณ เขาจะตอบคำถามพวกนี้ได้หรือไม่
 
“ดิฉันมีความเห็นว่า แบบสอบถามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานฉบับนี้ถ้าจะให้ได้ข้อมูลที่ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่นั่นต้องอยู่บนพื้นฐานของ ‘ความเป็นจริง’ แบบสอบถามของท่านนั้น ‘ยากและเยอะ’ ดังนั้น ควรจะหาผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหามาเป็นผู้จัดเก็บ แทนที่จะให้ชาวบ้านอย่างดิฉันตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตัวเอง”
 
นางคีตาญชลี กล่าวอีกว่า ด้านหลังของแบบสอบถามนั้นมีข้อความระบุเอาไว้ว่า ‘คุณภาพข้อมูล จปฐ.สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยให้ทุกคนในครัวเรือน และทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน’ และ ‘ฉะนั้น..คนจัดเก็บข้อมูล จปฐ.จึงมีความสำคัญมากเป็นอันดับแรก’ ซึ่งเรื่องนี้ตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยความเคารพ ตนก็ยังไม่อยากจะเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลด้วยตนเองอยู่ดี
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น