xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.พรึ่บ! ประตู 4 ทำเนียบ จี้นายกฯ เลิก ม.44 หยุดกฎหมายเอื้อนายทุน ตัวการสร้างความแตกแยก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ภาคประชาชนร่วมแสดงพลังหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล คัดค้านการใช้อำนาจ ม.44 ของนายกรัฐมนตรี และคำสั่ง คสช.ฉบับ 3 และ 4 เปิดทางให้มีการแก้ไขผังเมือง เอื้อทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ชี้เป็นตัวการทำลายทรัพยากร และสร้างความแตกแยกของคนในชาติ ด้านเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน อัดกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ หวังเปิดทาง กฟผ.ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขัดแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำโลก ไม่เป็นไปตามพระราชเสาวนีย์พระราชินี

วันนี้ (4 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศได้เดินทางไปชุมนุมกันที่บริเวณหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงออกคัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3 และ 4/2559

นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า การแสดงออกในวันนี้เพื่อต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศคำสั่ง หรือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน แต่กลับเปิดช่องให้แก่นายทุนเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ของประเทศชาติ

“ผมกลับไปอ่าน ม.44 ในรัฐธรรมนูญอีกรอบเพื่อดูว่าการใช้อำนาจ ม.44 ด้วยการประกาศคำสั่งฉบับ 3 และ 4 มันออกมาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พบสาระสำคัญ คือ 1.การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ 2.เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน แล้ว ม.44 ฉบับ 3 และ 4 ที่ยกเลิกผังเมือง และเปิดทางให้กระทำการในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี่มันเป็นไปตามข้อไหน ผมกลับมองว่า ฉบับ 3 และ 4 คือ การสร้างความแตกแยก สร้างรอยร้าว เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อพื้นฐานการพัฒนาประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ตกลง คสช.ออกประกาศ ฉบับ 3 และ 4 มาขัดต่อหลักการของตัวเอง ใช่หรือไม่”
 

 
ด้าน นายอัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า วันนี้ภาคประชาชนได้เดินทางมาแสดงพลังที่บริเวณหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยเพื่อทวงถามความชัดเจนในการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จ.กระบี่ หลังจากที่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/ 2559 กรณีที่รัฐบาลจะแก้กฎหมายให้พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

โดยระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบในประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก โดยมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยในลำดับที่ 4 มีเนื้อที่ประมาณ 133,120 ไร่ รวมถึงพื้นที่ป่าโกงกาง และหญ้าทะเลที่เกาะศรีบอยา มีพื้นที่ 62,500 ไร่ โดยมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยในวันที่ 13 กันยายน 2551 ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของอนุสัญญา และมีผลบังคับใช้ตามพันธกรณีอันเกี่ยวเนื่องต่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ คือ ประเทศภาคีอนุสัญญาแรมซาร์จะต้องกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ให้ความเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการปกป้องคุ้มครอง และรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ มิให้ผู้ใด หน่วยงานใดเข้าไปบุกรุก ทำลาย ทำให้เสียประโยชน์ หรือกระทบต่อความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และคุณสมบัติทางพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

เมื่อประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับละเลยการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และปล่อยให้มีการแก้ไขข้อความเปิดทางให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

การตัดสินใจให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระของกฎหมายพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ โดยการยินยอมให้มีการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นการกระทำซึ่งถือเป็นการละเมิดเจตนารมณ์อย่างร้ายแรงที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ และกฎหมายคุ้มครองพื้นที่สิ่งแวดล้อม เพราะกิจการที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการขนส่งถ่านหินได้รับการพิสูจน์ในทางวิชาการ และปฏิบัติจากจากทั่วโลกว่าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และมนุษย์อย่างยิ่ง

เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ประกาศเมื่อ 17 มีนาคม 2550 มีระยะเวลาการบังคับใช้ 5 ปี และสิ้นสุดลงเมื่อปี 2555 หลังจากนั้นมากระบวนการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการปฏิบัติ แม้จะมีการดำเนินการเพื่อให้เกิดการประกาศเขตคุ้มครองพื้นที่สิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานรัฐ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลับปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 5 ปี เป็นช่วงเวลาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตพยายามทำงานมวลชน และดำเนินการเพื่อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว และเมื่อปรากฏร่างพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะประกาศใช้กลับปรากฏข้อความให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ มีข้อสังเกตว่า ทั้งช่วงเวลาที่ไม่ประกาศ และเนื้อหาการประกาศใหม่กลับสอดคล้องต้องกันเพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น

คำถามคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังคิดอะไรอยู่ หากรัฐมนตรี และข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ทำหน้าที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ขอให้ลาออกไปทำหน้าที่อื่น เพราะประเทศนี้ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอันเหลือเฟือให้พวกคุณทำลายได้อีกต่อไป เจตนาอันส่อไปในทางทำลายสิ่งแวดล้อมนี้เราไม่สามารถรับได้ และเราจะปกป้องพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างถึงที่สุดเพื่อถวายแด่พระราชินี ตามที่พระองค์ทรงตรัสไว้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 ว่า “อย่างที่ข้าพเจ้าไปขอกับชาวกระบี่ว่าป่าชายเลนอันนี้อย่าทำลายเลย ขอให้ข้าพเจ้าเถอะ ขอให้เป็นป่าชายเลนอย่างเดิม เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยเอง”

เราไม่อาจปล่อยให้รัฐบาลทหารสมคบคิดกับนายทุนอุตสาหกรรมเพื่อทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศในขณะนี้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น