ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินงาน และใช้จ่ายงบประมาณโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโครงการทำท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายร้ายแรงหลายข้อ
วันนี้ (9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องขอให้ตรวจสอบการดำเนินงาน และการใช้จ่ายงบประมาณโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโครงการทำท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า
ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน ณ จังหวัดกระบี่ กำลังการผลิต 870 เมกะวัตต์ และโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่านหิน ณ บ้านคลองรั้ว อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญระดับชาติ และระหว่างประเทศ โดยใช้ถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นโครงการเข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2553) ซึ่งกำหนดให้โครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีขนาดกำลังผลิตตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป เป็นโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (ประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552) คือ ต้องจัดทำรายงาน EHIA โดยได้กำหนดให้การจัดทำและการพิจารณารายงานดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจากการพิจารณารายงานในโครงการ หรือกิจการทั่วๆ ไป
จากข้อกำหนดข้างต้น เจ้าของโครงการ คือ การไฟฟ้าฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่มีผลกระทบให้เข้าใจถึงรายละเอียดของโครงการ เรียนรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ และมาตรการและวิธีแก้ไขเยียวยา โดยการให้ความรู้แก่ประชาชนที่มีผลกระทบให้ครอบคลุมทุกด้านเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบโครงการ และมีโอกาสตั้งข้อกังวลต่อการดำเนินการของโครงการ และสามารถปกป้องชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุชนรุ่นต่อไป
แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินนั้น พบว่า กฟผ. ไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว กล่าวคือ ไม่ได้ให้ความรู้แก่ชุมชนผู้มีผลกระทบในข้อเท็จจริงในรายละเอียดของโครงการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และวิธีป้องกันผลกระทบ และแก้ไขเยียวยา แต่ในทางกลับกัน กฟผ. เพียงบอกว่า “ถ่านหินสะอาดไม่มีพิษภัยใดๆ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” และยังใช้งบประมาณไปในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการตามที่สมควรจะเป็นในหลายประการ
เช่น 1.การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐโดยการนำสื่อมวลชนและผู้นำท้องถิ่นไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง 2.การสนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครองท้องที่ในพื้นที่เพื่อจูงใจให้ผู้ได้รับประโยชน์ข้างต้นให้การสนับสนุนโครงการ 3.มีการใช้งบประมาณในการแจกจ่ายสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ชุมชน แทนที่จะให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน และลดผลกระทบจากโครงการถ่านหินทั้ง 2 โครงการ โดยการสนับสนุนกิจกรรมท้องถิ่นทุกรูปแบบล้วนแล้วแต่เป็นการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ให้โครงการสำเร็จตามประสงค์
4.มีการใช้จ่ายเงินในการขนชาวบ้าน และแจกจ่ายของตอบแทนในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการจัดเวทีรับฟังฯ ค.1 และ ค.3 ในการจัดทำ EIA, EHIA ซึ่งเป็นวิธีการที่ขัดแย้งต่อกฎหมาย โดยขัดแย้งเป็นการโน้มน้าว สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านหลงผิดในเนื้อหาสาระของโครงการฯ เพื่อเป้าประสงค์ให้มาสนับสนุนโครงการฯ
5.มีการดำเนินการรับ และเปิดข้อมูลการรับเหมาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ไปก่อนที่จะดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีการตามที่กฎหมายบัญญัติ ก่อนที่การศึกษาหรือการจัดทำงาน EHIA จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยขัดต่อกฎหมาย ก้าวข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้รับเหมาเอกชนที่ประมูลโครงการได้ อันเข้าข่ายความผิดตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยพัสดุ 2535 ประกอบ พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยขัดแย้ง
6.มีการสร้างความขัดแย้งให้เกิดในชุมชน สร้างหรือสนับสนุนงบประมาณให้มีกลุ่มสนับสนุนมาต่อต้านกลุ่มคัดค้านชาวบ้านในพื้นที่ อันเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักการใช้จ่ายงบประมาณของราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่ต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างประหยัด มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
7.มีการใช้เงินเพื่อโฆษณาถ่านหินทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนว่า ถ้าไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่มีไฟฟ้าใช้ อีกทั้งยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่รอบด้าน ให้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ถือเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองเกินความจำเป็น และเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน
การดำเนินการของ กฟผ. ข้างต้นจึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหลายฉบับ ขาดคุณธรรม จริยธรรม และขัดต่อการทำงานของหน่วยงานของรัฐที่พึงมีต่อประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล และขาดวินัยในการใช้งบประมาณของราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ เป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ ไม่เหมาะสมต่อโครงการ มีการใช้งบประมาณจำนวนโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการและบิดเบือนการใช้งบประมาณของโครงการ รวมทั้งใช้งบประมาณของโครงการก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชนที่มีผลกระทบ จึงเป็นการใช้งบประมาณที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน และประเทศชาติโดยรวม
ในฐานะประชาชนของประเทศไทยผู้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่รัฐบาล จึงใคร่ขอให้ท่านซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของราชการ และหน่วยงานของรัฐได้ใช้อำนาจหน้าที่ของท่านตรวจสอบการใช้งบประมาณ และการกระทำใดๆ ที่อันส่อไปในทาง “ทุจริตต่อหน้าที่” ตามที่กฎหมายกำหนดในโครงการดังกล่าวว่าได้มีการใช้งบประมาณตามระเบียบปฏิบัติและ หรือเป็นประโยชน์ต่อโครงการหรือไม่ และเป็นไปตามระเบียบราชการและได้ปฏิบัติตามระเบียบบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีได้ครบถ้วนหรือไม่
หากมีการตรวจพบว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ และหรือไม่เกิดประโยชน์แก่โครงการ และไม่เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ขอได้โปรดใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป
ทั้งนี้ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินขอรับทราบผลการตรวจสอบจากท่านตามเวลาอันสมควร ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2536 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 เครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ของชาติโดยพลัน และขอขอบคุณท่านล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วย