กระบี่ - กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามัน 8 องค์กร ยื่นคัดค้านปรับแก้ประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หลังพบเอื้อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (28 ก.ค.) กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน นำโดย นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่าย 8 องค์กร เช่น นายอาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลจังหวัดกระบี่ นายอัครเดช ฉากจินดา กลุ่มอนุรักษ์เมืองกระบี่ และสมาชิกฯ รวม 10 คน ได้เดินทางไปที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คัดค้านการปรับแก้ประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ โดยมี นายวีระศักดิ์ กราปัญจะ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมท้องที่จังหวัดกระบี่ ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ซึ่งระยะเวลาผ่านมาร่วม 8 เดือนเศษ หลังจากที่ประกาศฉบับเดิมหมดอายุก็ยังไม่มีการประกาศใหม่ นับเป็นการปฏิบัติราชการล่าช้าจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่สาธารณะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และทราบว่า มีความพยายามของผู้แทนกระทรวงพลังงาน ในการขอปรับแก้ข้อความให้สามารถสร้างโครงการถ่านหินกระบี่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ได้
และผู้แทนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้คัดค้าน เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ทราบด้วยว่า กระทรวงพลังงาน สามารถปรับแก้ข้อความในร่างประกาศ โดยเพิ่มข้อความที่เอื้อให้สามารถสร้างโครงการถ่านหินกระบี่ได้ ซึ่งร่างประกาศมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมีการระบุในข้อ 8 (จ) ยกเว้นให้ดำเนินโครงการตามนโยบายเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งโครงสร้างที่เป็นองค์ประกอบในกระบวนการผลิต และขนส่งได้ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศใช้
นายอมฤต กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำ และป่าชายเลน ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสขอป่าชายเลนไว้กับชาวกระบี่ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 ความว่า “อย่างที่กระบี่ ข้าพเจ้าขอกับชาวกระบี่ว่า ป่าไม้ป่าชายเลนนี้อย่าทำลายเลย ขอให้ข้าพเจ้าเถอะ ให้เห็นป่าชายเลนอย่างเดิม เพื่อความยังยืนของประเทศไทยเอง” หลังจากนั้น ชาวกระบี่ ได้ยุติการเผาถ่านและบุกรุกป่าชายเลน เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บัดนี้ผ่านมา 15 ปีแล้ว ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention) ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฎิบัติตามอนุสัญญาข้างต้น พื้นที่นี้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ถูกคุกคาม และใกล้สูญพันธุ์
เจตนารมณ์ในการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้น ประกาศเพื่อป้องกันและยับยั้งการดำเนินการตามโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ บำรุง รักษา คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ได้อย่างสมดุลตามระบบนิเวศ ธรรมชาติ และคงความสมบูรณ์เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ใช้ต่อไปในอนาคต ดังนั้น การแก้ไขข้อความประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ที่เอื้อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงขัดต่อเจตนารมณ์ที่กระทรวงฯประกาศไว้ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงขอให้รัฐมนตรีพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองพื้นที่ ดังนี้
ขอคัดค้านการลงนามในประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ฉบับปรับแก้ เพราะเนื้อหาข้อมูลในประกาศฉบับใหม่เอื้อให้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และก่อผลกระทบต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อีกทั้งในเนื้อหาสาระของประกาศฉบับใหม่มีเนื้อหาความแตกต่างจากประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เคยประกาศบังคับใช้ ซึ่งไม่เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 และเพื่อไม่ให้พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ขาดการบังคับใช้ทางกฎหมาย ขอให้ประกาศต่ออายุของประกาศฉบับเดิมไปก่อนเพราะมีเนื้อหาสาระที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่แล้ว และถือเป็นภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าว