โดย... สุนทร รักษ์รงค์ แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางสมาคมเกตษรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้
แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางและสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ด้วยการติดป้ายประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ดังนี้
1.ให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างของราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่จดทะเบียนต่อการยางแห่งประเทศไทย
2.ให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการกองทุนข้าวสาร เหมือนเอายางมาแลกข้าว
3.ให้รัฐบาลชะลอการตัดโค่นยางพารา ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า และให้ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.66/2557 เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคนจน และเกษตรกรรายย่อย
ต่อมา วันที่ 10 มกราคม 2559 แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ได้มีข้อเรียกร้องราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท ที่ จ.สุราษฎร์ธานี การแก้ปัญหาของรัฐบาลในปัจจุบัน
1.) อนุมัติโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง มติ ครม. เมื่อ 3 พ.ย.58 ให้พิจารณาเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิด้วย
2.) ซื้อยางชี้นำตลาดกิโลกรัมละ 45 บาท โดยกรอบของ ครม.ไม่แบ่งแยกยางจากพื้นที่ใด
3.) การนำยางมาใช้ในประเทศ
4.) แจกข้าวสาร 4 ล้านถุง
แต่ที่สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ต้องไปทวงถาม เมื่อ 20 มกราคม 2559 ไม่ได้เสนอเรื่องใหม่ พอให้ กยท.ลงรายละเอียด ปรากฏว่า พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่เดือดร้อนที่สุด ก็ต้องอดอีกตามเคย และถูกตัดสิทธิออก เพราะไม่มีทะเบียนเกษตรกร เราจึงต้องเรียกร้องให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยได้ ซึ่งจะทำให้เขาได้รับสิทธิ และผลประโยชน์ข้างต้น
ดังนั้น ที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า มีกลุ่มเกษตรกรเรียกร้องแล้ว เรียกร้องอีก จึงไม่เป็นความจริง เราตามเรื่องเดิมที่รัฐบาลเคยอนุมัติกรอบเอาไว้ แต่ผู้ปฏิบัติไม่ทำตามนโยบายนั้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
ส่วนกรณีเกษตรกรกลุ่มใดจะเรียกร้องเรื่องคณะกรรมการ ตำแหน่ง หรือเรื่องผลประโยชน์ส่วนตน ทางเรามิอาจทราบได้ เพราะแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางและสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ไม่เคยมีข้อเรียกร้องในประเด็นเชิงอำนาจ แต่เราอุทิศตัวเป็นผู้รับใช้เกษตรกรชาวสวนยางชายขอบ คนจน คนยากไร้
โดยร่วมชะตากรรมกับพวกเขา ไม่ทำแทน แต่พาพวกเขาเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อให้เขาลืมตาอ้าปาก เข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และตื่นรู้ เพื่อข้ามผ่านหุบเหวแห่งความทุกข์ ด้วยศาสตร์ของพระราชา นั้นคือ “ทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง”