xs
xsm
sm
md
lg

วาระชุมชน “สวย-สร้าง-สุข” นำคนปากตรังสู่ “ศูนย์กลางดาวเรือง” แห่งภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  ถนอม  ขุนเพ็ชร์
 
“บ้านปากตรัง” ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนท่ามกลางธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่ใกล้เขื่อนรัชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน)
 
500 กว่าครัวเรือนที่นี่เคยทำสวนยาง และปาล์มน้ำมัน เมื่อหันมาปลูกดาวเรืองเป็นอาชีพเสริม ภายใต้แนวคิด “สวย สร้าง สุข” สิ่งที่ได้มากกว่าความสวย ความสุข และรายได้นั้น ยังค้นพบกระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่
 

 
วัชรินทร์ นาคบำรุง ผู้รับผิดชอบโครงการดาวเรืองสร้างสุขคนปากตรัง ที่รับการสนับสนุนจาก สสส. บอกเล่าว่า ในปี 2551 ตอนนั้นเขาเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีการทำแผนชุมชน มีการวิเคราะห์ชุมชน พบว่า คนในชุมชนไม่ค่อยจะมีส่วนร่วม เนื่องจากความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คือ ชุมชนชนบทกำลังเปลี่ยนไปเป็นชุมชนเมือง ทำให้คนมุ่งทำมาหากิน มุ่งที่จะทำเรื่องส่วนตัว ไม่ได้มองภาพรวมของหมู่บ้าน
 
จึงเริ่มดำเนินการกิจกรรมโดยใช้ “ดอกดาวเรือง” เป็นสื่อ
 
มีการรวบรวมชาวบ้านไปศึกษาการปลูกดาวเรือง จากนั้นชาวบ้านราว 20 คน ก็กลับมาปลูก แล้วพัฒนามาเรื่อยๆ ทุกวันนี้สามารถขยายเครือข่ายออกไปต่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด
 
การตลาดของดอกดาวเรืองในภาคใต้กำลังรุ่ง เพราะขณะนี้เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต หรือสุราษฎร์ธานี ประกาศรับซื้อไม่อั้น จึงทำรายได้อย่างดีแก่เกษตรกรผู้ปลูก จะผลิตแบบลงถุง กระถาง ตัดดอก ร้อยมาลัย จัดดอกไม้บูชาพระ ทำพวงหรีด ก็สามารถจำหน่ายในวันสำคัญต่างๆ ทำรายได้เดือนละ 60,000 บาท จนหลายคนหันมาทำเป็นอาชีพหลัก
 
ดอกดาวเรืองบานสะพรั่งไปทั้งบ้านปากตรังเกือบตลอดปี ลูกค้าขาจรเดินทางเข้าไปซื้อหาไม่ขาดสาย
 
“ดาวเรืองสวยงาม ใช้ในทุกเรื่อง ทุกงาน ทุกกาลเทศะ ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานบวช งานแต่ง คำว่าสร้าง คือ สร้างอาชีพเสริม บางคนก็ยึดเป็นอาชีพหลัก สร้างคน สร้างมิตรภาพในครอบครัวจากการมาปลูกดาวเรืองร่วมกัน สร้างมิตรภาพกับคนอื่น สร้างเครือข่ายที่มีความสุข นอกจากนั้นคือ การสร้างให้คนรู้จักการจัดการตนเอง การจัดการกลุ่ม จัดการในชุมชนได้ อย่างเช่นว่าในการบริหารเงิน บริหารงาน สร้างมิตรภาพระหว่างเครือขายวิถีพอเพียง”
 

 
วัชรินทร์ ขยายความและว่า ดาวเรืองยังนำไปเชื่อมเรืองอื่นกับคนที่มาร่วม อย่างเช่น มิติเชิงวัฒนธรรม ถึงวันนี้เขาถือว่าบ้านปากตรัง เป็นแหล่งผลิตดาวเรืองแหล่งใหญ่ของภาคใต้ และกำลังผลักดันที่จะสร้างศูนย์เรียนรู้ดาวเรือง และสร้างตลาดกลางดาวเรืองขึ้นที่นี่
 
“เรามองว่า ดาวเรืองเป็นกลไกหนึ่งในการดึงคนมามีส่วนร่วม มาสร้างชุมชนน่าอยู่ พึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องต่อสิ่งที่ดำเนินมาอยู่แล้ว ที่ส่วนใหญ่พวกเราทำกันมาด้วยใจ การที่ สสส.มาช่วยเสริมก็ทำให้ทุกอย่างพัฒนาได้เร็วขึ้น”
 
การขับเคลื่อนสังคมโดยดอกดาวเรือง ตั้งแต่นำเสนอแนวคิดให้ชาวบ้าน เอาความรู้เดิมของกลุ่มดาวเรืองที่มีอยู่แล้วมาสอนชาวบ้านขยายออกไป มีการประชุมย่อยทุกวัน จนเป็นวิถีทำงานแบบกลุ่ม สามารถสร้างสัมพันธ์ในกลุ่มอย่างเหนียวแน่น มีการวางแผนการทำงาน ใช้ดาวเรืองเป็นตัวกิจกรรม หรือกลไกหนึ่งทำให้คนมามีส่วนร่วม
 
“การอบรมดาวเรืองในชุมชน 120 คน ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะกลับไปทำดาวเรือง แต่ในการจัดกิจกรรมทำให้ทุกคนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก็ย่อมสร้างความผูกพัน ความสมัครสมานสามัคคี มีส่วนร่วมในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ต่อไป พูดง่ายๆ เราใช้ดาวเรืองเป็นเครื่องมือ”
 
วัชรินทร์ เล่าว่า ขณะนี้ดาวเรืองกลายเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนปากตรังไปแล้ว ใครพูดถึงหมู่บ้านนี้ก็ต้องนึกถึงดาวเรือง เป้าหมายในอนาคตนอกจากเอาชุมชนมามีส่วนร่วมในการพัฒนาให้หมู่บ้านชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ยังใช้ดาวเรืองเป็นกิจกรรมข้อต่อให้ทุกคนมาร่วมด้วยช่วยกัน มาพัฒนาหมู่บ้านให้เข้มแข็ง ช่วยเหลือตนเองได้ และอยู่กันอย่างมีความสุข
 

 
เขามองว่าวันข้างหน้าชุมชนจะดีขึ้น ปัญหาหลายอย่างจะคลี่คลาย โดยดาวเรืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุข 
 
“ถ้าทุกคนต่างคนต่างอยู่เหมือนอดีตช่วงหนึ่งคงไม่เป็นผลดี เพราะการแก้ปัญหาทุกอย่างต้องร่วมกัน ไม่ว่า ยาเสพติด เศรษฐกิจ มลพิษ ลักเล็กขโมยน้อย การรวมคนได้และทำงานเป็นทีมย่อมประสบผลสำเร็จมากกว่า ดาวเรืองจึงเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือ”
 
เขาวางตำแหน่งของชุมชนว่า ต่อไปจะไปถึงการเป็นหมู่บ้านศูนย์รวมดาวเรืองของภาคใต้ มีแนวคิดท่องเที่ยวในการทำทุ่งดาวเรือง สร้างดาวเรืองยักษ์ เป็นที่ท่องเที่ยว ถ่ายรูป โดยเฉพาะที่นี่เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ทางผ่านไปเขาสก รวมถึงพังงา กระบี่ และภูเก็ต
 

 
ปราโมทย์ เพชรแก้ว คณะทำงานโครงการได้ช่วยขยายต่อแนวคิดว่า สวย สร้าง สุข คือเมื่อดอกดาวเรืองไปอยู่หน้าบ้านใคร หรือตามงาน ก็จะสร้างสีสันให้สวย สร้างความสุข สร้างเครือข่าย สร้างเพื่อน สร้างอาชีพ และยังสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน
 
“ดาวเรืองที่บ้านปากตรัง ต่างจากที่อื่นตรงที่เราไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างเดียว แต่มีการแจกจ่ายฟรีแก่งานศพ เป็นไปตามแนวคิดสวย สร้าง สุข”
 
ชาวบ้านปากตรัง เอาดาวเรืองมาเป็นตัวกลาง เป็นเครื่องมือ ตัวเชื่อม ตัวรวมพลที่ดี หากแนวคิด สสส.คือ การรวมคน และสร้างอาชีพ ตรงกับแนวคิดเรา เราเอาดอกไม้เป็นตัวเชื่อม เมื่อยางพาราราคาตกต่ำ สามารถทำดาวเรืองเป็นอาชีพหลักได้ อย่างคนหมู่ 2 ปากตรัง มองดาวเรืองเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ไปแล้ว
 
“ภาคีเครือข่ายตอนนี้ก็กว้าง มีทั้งผู้ให้ความรู้ ส่งเสริมการปลูก และจำหน่าย ที่ก็มีส่วนช่วยเหลือ เช่น เขื่อนรัชประภาเป็นลูกค้ารายใหญ่ สำหรับคนทั่วไปผมอยากเชิญชวนมาเที่ยวชม หรือหาความรู้สร้างความสุขที่จับต้องได้แบบนี้ ก็เชิญแวะมาที่นี่ได้ครับ”
 

 
นบภา โสภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้นยวน กล่าวว่า อบต.ต้นยวน ได้อยู่เคียงข้างกลุ่มดาวเรืองมาตลอด มองว่าเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง
 
“อบต.ต้นยวน สนับสนุนหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานของคนที่เดินทางมาตำบลต้นยวน กลุ่มดาวเรืองก็จะเป็นจุดแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดมา ที่ผ่านมา บทบาท อบต.ได้ให้ความรู้ และงบประมาณส่วนหนึ่งก็ได้สนับสนุนให้ไปแก่กลุ่ม”
 
เขากล่าวและว่า จากการได้ประชุมปรึกษาหารือกับสมาชิก จึงได้กำหนดแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มดาวเรืองแข็งแรง เพื่อเป็นกลุ่มรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต
 
“หลังจากได้คุยกับทุกภาคส่วนมาแล้ว ในโอกาสต่อไปทาง อบต.ต้นยวน จะเปิดตลาดชุมชน จุดรวมสินค้า OTOP สำหรับดาวเรืองก็จะมีจุดจำหน่ายของกลุ่ม ตอนนี้มีการเตรียมสถานที่แล้ว”
 

 
พัชรีรัตน์ ทองจันทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอพนม เล่าว่า การที่สำนักงานเกษตรเข้ามาร่วมสนับสนุน เพราะมองเห็นจุดเด่นหลักๆ คือ ชาวบ้านมีความเข้มแข็งในเรื่องการผลิต สามารถให้ผลผลิตดอกใหญ่ จึงมีการสนับสนุนต่อยอดในเรื่องการตลาด การวางแผนกลุ่มให้เป็นระบบหาออเดอร์ให้ล่วงหน้าป้องกันปัญหาทางการตลาด
 
“ทุกวันนี้มีการแปรรูปไปเป็นดอกไม้ไหว้พระ ทำพวงหรีด ต่อไปจะมีการพัฒนาในเรื่องการจัดดอกไม้ในงานพิธีต่างๆ ซึ่งคนในชุมชนไม่ต้องหาทรัพยากรมาจากที่อื่น คนในชุมชนสามารถมีส่วนร่วมช่วยได้ด้วยตนเอง เราก็จะส่งเสริมให้เขายืนได้ด้วยตัวเองต่อไป”
 
เธอเล่าว่า กลุ่มดาวเรืองที่นี่เข้มแข็ง เพราะไม่ได้มีการทำลำพังเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่มีการเกื้อกูลช่วยเหลือกัน ทั้งเรื่องการปลูก การจำหน่าย ในแง่เศรษฐกิจถือว่าไปได้ดีมาก มีตลาดรองรับมาก จนไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการ แต่เป็นพืชที่ต้องการการเอาใจใส่
 
“ดอกไม้ไม่ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่สำหรับดาวเรืองจะทำหน้าที่ดึงคนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน จากสภาพที่เป็นอยู่ยังเห็นว่าคนพากันเครียด แต่ดอกไม้ทำให้คนอารมณ์ดีขึ้น การที่ได้มาทำกิจกรรมดอกไม้ ไม่ว่าจัดดอกไม้ ทำพวงหรีด เวลาที่ได้พูดคุยหยอกล้อนี่เองจะเป็นตัวหลอมคนในชุมชนกลับมาทำกิจกรรมกันอีกครั้ง เหมือนในอดีตที่อยู่กันมา” เธอเล่าและเพิ่มเติมว่า
 
“หลายคนอาจคร่ำเครียดต่อการหาเงิน แต่พอทำดาวเรือง คนในครอบครัวตื่นขึ้นมาเห็นดอกไม้ ก็สบายใจ หรือการออกไปส่งดอกไม้ด้วยกัน ทั้งหมดล้วนไม่ได้ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ตอบโจทย์ทางจิตใจด้วย ในส่วนนี้ก็มองว่าเป็นพืชที่ตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง”
 
วิชัย เพ็งจันทร์ เจ้าหน้าที่ CSR การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีกิจกรรมส่งเสริมกลุ่มดาวเรืองด้วย มองว่า กลุ่มดาวเรือง และชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็ง จุดเด่นคือ ความสามัคคี โดยผู้นำชุมชนเป็นแกนหลักในการดึงลูกบ้าน ดึงกลุ่มต่างๆ เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยอาศัยดาวเรืองในการร่วมกิจกรรมกลุ่ม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น