ยะลา - รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวสวนยางยะลา สนับสนุนอาชีพเสริมให้ชาวสวนยาง เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก สร้างรายได้เสริม ผ่านนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยสร้างศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ฐานเรียนรู้เกษตรผสมผสานในสวนยางพารา หมู่ 2 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินการตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกร หลังราคายางพาราตกต่ำ โดยมี นายไพศาล แสงหิรัญ รักษาราชการแทนในตำแหน่งเกษตรและสหกรณ์ จ.ยะลา นายโชคดี วิรุณกาญจน์ รักษาราชการแทนเกษตร จ.ยะลา นายธัญญา แก้วเจริญ เกษตรกร หัวหน้าศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ให้การต้อนรับ
นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ในการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ลงมาดูตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน ในเรื่องของภัยแล้ง หรือปัญหาราคายาง การดูแลพี่น้องชาวสวนยางให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ในเรื่องแรกของนโยบายของกระทรวงเกษตร นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เน้นย้ำว่าพี่น้องชาวสวนยางจะต้องเติบโตจากรากฐาน จึงให้ความสำคัญต่อศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์ตัวอย่างที่พี่น้องเกษตรกรสามารถมาเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเจ้าของศูนย์ก็คือ เกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ และเพื่อที่จะให้พี่น้องชาวเกษตรกรสวนยางในพื้นที่มาศึกษา เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาความยากจนได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนของรายได้ในอนาคต
“ศูนย์ฯ เหล่านี้ถือเป็นการสร้างอาชีพเสริม เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การลดต้นทุนการทำปุ๋ยใช้เอง ทำแก๊สธรรมชาติใช้เอง การปลูกพืชเสริม การเลี้ยงสัตว์เสริม ซึ่งสามารถผสมผสานในสวนยางได้ พี่น้องชาวเกษตรกรจะมีเวลาในช่วงกลางวันค่อนข้างมาก ก็สามารถใช้เวลาที่ว่างดำเนินการสิ่งเหล่านี้ได้ เพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจจะมีการรวมกลุ่มของพี่น้องเกษตรกรในการลดต้นทุนต่างๆ เช่น ปุ๋ย ถ้าสามารถรวมตัวกันได้ ก็จะสามารถซื้อปุ๋ยครั้งละจำนวนมากๆ ราคาก็จะถูกลง รวมทั้งการได้ผลผลิตยางพารา จากการรวมตัวกันก็จะสามารถต่อรองราคากับพ่อค้า หรือเอกชนที่จะมารับซื้อได้” รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
นายโอภาส ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องของนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง รัฐบาลก็เป็นห่วงว่าในขณะนี้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,500 บาทนั้น ก็ยังมีปัญหา จึงได้กำหนดให้การยางแห่งประเทศไทย เร่งรัดในการเบิกจ่ายภายในเดือนมกราคม 59 นี้ ซึ่งทางการยางฯ ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ สำหรับจังหวัดยะลา หลังจากที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าในส่วนที่เป็นเจ้าของสวนเอง และกรีดยางเอง ก็จะได้รับเงินในวันที่ 24-25 ม.ค.59 นี้ ส่วนที่มีการจ้างแรงงานก็คงจะต้องมีส่วนที่รับรองสิทธิ แต่อย่างไรก็ตาม จังหวัดยะลา ก็จะดำเนินการจ่ายให้ได้จำนวนมากกว่าเดิม จากพื้นที่ทั้งหมดกว่า 3 แสนไร่ พี่น้องที่มีสิทธิ จำนวนกว่า 23,000 ราย ก็กำลังเร่งรัดเบิกจ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นภาพรวมของการช่วยเหลือในเร็ววันนี้ ส่วนการรับซื้อยางแผ่นของรัฐบาลในราคา 45 บาทต่อ กก.นั้น ทราบว่า จังหวัดยะลา มีความพร้อม เนื่องจากมีศูนย์ยางเดิมก็จะสามารถดำเนินการได้เลย
ด้าน นายธัญญา แก้วเจริญ เกษตรกรชาวสวนยาง เปิดเผยว่า จากราคายางพาราตกต่ำทำให้เกิดผลกระทบเรื่องรายได้ลดลง จึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพเสริมขึ้นมา จึงมีการเลี้ยงปลาดุก การเพาะเห็ด ไก่ไข่ เป็ดไข่ แล้วก็สุกรพื้นเมือง ใช้มูลสัตว์ทำก๊าซชีวภาพนำมาใช้ในครัวเรือนก็พอเพียง ในแต่ละเดือนก็เพียงพอแล้วหาวัสดุจากท้องถิ่นที่เหลือใช้มาดัดแปลงในการทำปุ๋ยมาผสมกับมูลสัตว์ทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อลดต้นทุน ส่วนที่สร้างรายได้มากคือ การเลี้ยงปลาดุก รายได้ก็ 2 หมื่นบาทต่อ 2 บ่อ จากการเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละแสนกว่าบาท ดีกว่าตอนที่ไม่ได้ทำอะไร แบ่งเนื้อที่เป็นโซนนิ่ง เป็ด ไก่ สุกร การบริหารน้ำก็จะง่าย เพราะที่นี่มีน้ำน้อย โดยใช้ท่อเล็กวิ่งได้รอบ
ที่ผ่านมา ชาวบ้าน หน่วยงานราชการมาเรียนรู้ ตอนนี้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือแล้ว เข้ามาส่งเสริม ทำให้มีแรงบันดาลใจที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน จะได้นำ และสอนเพราะตอนนี้มีห้องเรียน รองบประมาณที่จะสร้างฐานเรียนรู้ในแต่ละฐาน เช่น การเพาะเห็ดใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต