พัทลุง - พัทลุงจัดมอบเงินให้แก่เกษตรกรสวนยางไร่ละ 1,500 บาท พร้อมแนะให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนยางให้มากขึ้น เพื่อให้มีรายได้เสริมแทนการทำยางพาราเพียงอย่างเดียว ขณะชาวสวนยางครวญเงินกู้เสริมอาชีพระยะสั้นถูกธนาคารหักจนไม่สามารถนำไประกอบอาชีพได้
วันนี้ (13 ม.ค.) นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าฯ พัทลุง เป็นประธานมอบเงินให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางของรัฐบาลที่จัดขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าของสวนยาง และคนกรีดยาง ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ โดยให้เจ้าของสวนได้รับไร่ละ 900 บาท และคนกรีดยาง ไร่ละ 600 บาท โดยจะทยอยจ่ายให้ครบถ้วนภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้
ทั้งนี้ จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ปลูกยางพารารวมทั้งสิ้น 879,438.69 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 621,791.50 ไร่ เกษตรกร 61,546 ครัวเรือน เฉลี่ยการถือครองรายละ 14.29 ไร่ ส่วนผลผลิตรวมทั้งปีอยู่ที่ 163,306.17 ตัน มีผลผลิตต่อไร่ต่อปี 261.54 กิโลกรัม
สำหรับโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดพัทลุง มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 54,222 ครัวเรือน จำนวน 96,618 แปลง เนื้อที่ปลูก 490,934.75 ไร่ โดยมีการจ่ายเงินให้การช่วยเหลือไปแล้วก่อนหน้านี้ที่ ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา และมีการมอบเงินให้เกษตรชาวสวนยางพาราในวันที่อีก 3 แห่ง คือ ที่ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน ต.โคกสัก อ.บางแก้ว และ ต.คลองเฉลิม อ.กงหรา ส่วนที่เหลือทางคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง ได้จัดส่งรายชื่อเกษตรกรให้แก่ ธ.ก.ส. เพื่อโอนจ่ายเงินเข้าบัญชีของเกษตรโดยตรงให้ครบถ้วนภายในวันที่ 15 มกราคมนี้
ในการนี้ ผู้ว่าฯ พัทลุง กล่าวว่า โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ที่รัฐบาลจัดสรรเงินมอบให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และคนกรีดยางไร่ละ 1,500 บาทครั้งนี้ เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในหลายๆ มาตรการที่รัฐบาลมีความพยามยามที่จะแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวสวนยางพาราทั้งระบบ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการนำยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ภายในประเทศ แทนการส่งออกเพียงอย่างเดียว ซึ่งมักถูกกำหนดด้วยกลไกราคา และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของต่างประเทศ อันทำให้ราคายางพาราผันผวน และตกต่ำมาเป็นเวลานาน แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเดือดร้อนในระยะยาว และเป็นทางเลือกสำหรับอนาคต เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของสวนยางควรปรับระบบการผลิตให้สวนยางพาราสามารถเกิดมูลค่าเพิ่มด้านอื่นๆ เช่น การปลูกพืชเสริม ซึ่งในจังหวัดพัทลุง มีพืชหลายชนิดสามารถปลูกในสวนยางพาราได้ และสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ผักเขลียง ผักกูด ตาหมัด และสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ในสวนยางพาราก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วย
และในส่วนของเงินกู้ยืมเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ได้อนุมัติให้เกษตรชาวสวนยางกู้ได้แล้วเช่นกัน โดยผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เกษตรกรบางรายได้กู้นำไปประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในวงเงินกู้ 100,000 ต่อราย แต่จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรที่กู้ยืมไปลงทุนในอาชีพระยะสั้นนั้นต้องถูกหักค่าประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่ทางธนาคารรายละ 3,900 บาท และธนาคารยังหักค่าดอกเบี้ยเงินกู้ในสัญญากู้เงินที่เกษตรกรค้างอยู่ก่อน แม้จะไม่ถึงกำหนดการจ่ายรายปีในช่วงเดือน มิ.ย.ของทุกปีก็ตาม ทำให้เกษตรกรบางรายเริ่มออกมาโอดครวญว่า กู้เงินไป 100,000 บาท ไปประกอบอาชีพเสริม บางรายได้เงินสดไปแค่ 30,000-60,000 บาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือธนาคารหักหมด ทำให้ไม่สามารถนำมาประกอบอาชีพเสริมได้ผลสำเร็จเท่าที่ควร
และเช่นเดียวกัน ในวันพรุ่งนี้ทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง นำโดย นายปรีชา ขาวสังข์ แกนนำเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง ได้เชิญชวนชาวเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง ออกมาร่วมกันนำบันทึกปัญหาของเกษตรกรต่อสถาบันการเงินในพื้นที่ ลงบนฝืนแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ แล้วนำไปติดไว้บริเวณริมถนนสายเอเชีย ตรงแยกโพธิ์ อ.ควนขนุน เพื่อเป็นสื่อกลางให้รัฐบาลทราบปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกร พร้อมร้องขอให้รัฐบาลพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อสู้ต่อวิกฤตยางพาราตกต่ำในขณะนี้