xs
xsm
sm
md
lg

สงขลา/สตูลเห็นพ้องปลูก “ผักเหลียง” เพิ่มรายได้ในวิกฤตยางพารา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรสวนยางพาราชาวสงขลา และสตูล แนะปลูกผักเหลียงร่วมสวนยางพารา เพิ่มรายได้ในช่วงราคายางตกต่ำ ใช้เวลาปลูกประมาณ 7 เดือน ก็สามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

วันนี้ (12 ม.ค.) จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หลายหน่วยงานได้ออกมาแนะนำอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตร เช่น ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา นายจำลอง ศรีไสย เกษตรอำเภอเมืองสงขลา เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางในอำเภอเมืองสงขลา ปลูกพืชร่วม หรือปลูกพืชแซมยางเสริม เช่น การปลูกผักเหลียง ใช้เวลา 1-2 ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 100 ต้น และขยายกอเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่องและขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60-80 บาท

และในขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางที่หันมาปลูกผักเหลียงแซมในสวนยาง เช่น ต.ทุ่งหวัง ต.เกาะแต้ว และ ต.พะวง มีรายได้เสริมจากการเก็บผักเหลียงส่งขายมาทดแทนรายได้จากยางพาราที่หายไปจากภาวะราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งสามารถอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก

ที่สำคัญขณะนี้ทางผู้ว่าฯ สงขลา ได้เข้ามาสนับสนุนให้พื้นที่หมู่ 6 เกาะแต้ว เป็นหมู่บ้านนำร่องปลูกผักเหลียงเชิงการค้า ซึ่งในปีนี้จะทำเต็มรูปแบบขยายเป็นแปลงใหญ่ ให้เป็นศูนย์กลางของการจำหน่ายผักเหลียงของ จ.สงขลา
 

 
ด้านเกษตรกรชาวสวนยางพาราในเขต อ.มะนัง จ.สตูล ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อนโยบายที่ทางรัฐบาล ได้เสนอว่าด้วยเรื่องการสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชน และคนในครอบครัว เนื่องด้วยเศรษฐกิจราคายางตกต่ำ จึงทำให้ชาวเกษตรกรสวนยางพารา ในชุมชนบ้านผัง 8 ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล หันมาสร้างรายได้เสริมโดยวิธีการปลูกผักแซมในสวนยาง คือ การปลูกผักเหลียง ผักที่คนใต้นิยมหาซื้อมารับประทาน และเป็นอาหารหลักที่ร้านอาหารรับซื้อไปขายจัดขึ้นโต๊ะในราคาจานละ 80 ถึงจานละ 100 บาท จึงทำให้ชาวเกษตรกรหันมาปลูกแซมในร่องสวนยางพารา

ด้าน นางอริศรา ยืนยง เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้ทำการปลูกผักแซมในสวนยางของตนเอง กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่สวนยาง 10 ไร่ และได้ปลูกผักแซมไปแล้วประมาณ 5 ไร่ คือ ปลูกผักเหลียงที่ขายได้ดี คนหาซื้อเยอะ พร้อมกับตนเองได้แนะนำเพื่อให้เป็นผักนำร่องให้แก่คนในชุมชนได้ดูเป็นตัวอย่าง และสอนวิธีให้คนหันมาปลูกสร้างรายได้ นอกจากปลูกผักเหลียงแล้ว ก็ยังได้ปลูกผักหนาม และพริก และผักพื้นบ้านอื่นๆ ปลูกแซมรอบนอกอีกด้วย

นางอริศรา ยืนยง กล่าวอีกว่า “ตามพระราชดำรัสเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางเราก็ได้เอามาเป็นแนวทางในวิถีชีวิตก็เลยนำมาใช้ที่หมู่บ้านมะนัง เหมาะกับว่าที่มะนัง เขาปลูกสวนยางกันเยอะก็น่าจะเสริมรายได้ในสวนยางพาราอีก ก็ได้นำผักเหลียงมาศึกษาระยะหนึ่ง ก็ได้ชวนญาติ และคนใกล้ชิดบอกว่าเรามาปลูกผักเหลียงเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางกันดีกว่า”
 

 
“แรกๆ ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไร ผ่านมาสักระยะหนึ่งก็เจอวิกฤตราคายางถูกมาก จากรายได้เสริมตอนนี้ก็มาเป็นรายได้หลัก คนที่ปลูกผักเหลียงในตอนนี้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยคนแถวนี้ให้ประกอบอาชีพอีกทางหนึ่ง การปลูกผักเหลียงเป็นสิ่งที่ไม่ยาก เราใช้วิธีการตอนกิ่ง ช่วงแรกเราซื้อกิ่งตอนมาแล้วก็ปลูกประมาณ 7 เดือน ก็สามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ช่วงแรกอาจจะไม่เยอะ พอหลายปีก็สามารถเก็บได้เยอะ เก็บมาแล้วก็จะทำเป็นมัดนำไปขายมัดละ 10 บาท ถ้าเราจะเอาเงินไปซื้อกับข้าวก็เก็บสัก 30 มัด เราก็จะได้ 300 บาท ก็สามารถนำไปซื้อได้แล้ว พื้นที่ที่ปลูกตอนนี้ประมาณ 5-6 ไร่ ที่จริงปลูกแปลงหนึ่งประมาณ 4 ไร่ รายได้ต่อเดือนประมาณ 3-4 พันบาท ส่งขายตามตลาดนัดใกล้เคียง ตลาดสีเขียวที่ศาลากลางในตัวเมืองสตูล” นางอริศรา ยืนยง กล่าว

ด้าน นายวิเชษว์ ป่านทอง เกษตรกรอำเภอมะนัง กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งผู้สนับสนุนในการปลูกผักเหลียงแซมในสวนยางเพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนบ้านผัง 8 สร้างรายได้ต่อวัน วันละไม่ต่ำกว่า 300-400 บาท เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 3-4 พันบาท ซึ่งเป็นราคาที่น่าพึงพอใจกว่าราคายาง 

นอกจากนี้แล้ว ผักเหลียงยังเป็นที่ต้องการตามท้องตลาด เพราะเป็นพืชผักที่หาทานได้ยาก ผักเหลียงซึ่งเป็นเพียงพืชผักสีเขียวที่อาจจะดูแล้วไม่มีราคาสักเท่าไร แต่ชาวบ้านบ้านผัง 8 ไม่ได้มองข้ามพืชผักสีเขียวเหล่านี้เลย พวกเขาได้ทำการปลูกผักเหลียงเพื่อสร้างเป็นอาชีพหลักทดแทนยางพารา
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น