xs
xsm
sm
md
lg

“ยุทธการเผาที่นาราษฎร ยักยอกเสบียงให้คหบดีโดยเปิดเผย” จำอวด! พ.ร.ก.ประมงใหม่ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
 
(1) เปลี่ยนบุญเป็นบาป เปลี่ยนขาวเป็นดำ พระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ ซึ่งออกโดยฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) เพียงฝ่ายเดียว ให้ใช้แทนพระราชบัญญัติการประมงฉบับเดิมที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อต้นปี 2558 ได้กำหนดไว้ชัดเจนใน มาตรา 34 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง” สามารถเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนหลักการเดิมไปโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่ท่านทั้งหลายควรรู้ร่วมกันก่อนในเบื้องต้น คือ แต่เดิมนั้นการกำหนดแนวเขตการประมงชายฝั่งนั้น เจตนาเพื่อหวงห้ามการใช้เครื่องมือประมงที่มีศักยภาพสูง หรือมีสภาพการทำประมงที่มีลักษณะทำลายล้างทรัพยากรมากเกินไป มิให้เข้ามาทำการประมงในแนวเขตชายฝั่ง เช่น การประมงอวนลาก, อวนรุน, ปั่นไฟจับปลาตัวเล็กในเวลากลางคืน เป็นต้น

บางพื้นที่กำหนดไว้ 3 กิโลเมตรจากแนวชายฝั่ง (แผ่นดิน) บางพื้นที่กำหนดที่ 3 ไมล์ทะเล (ประมาณ 5,400 เมตร) โดยที่หลักสำคัญของการห้าม คือ “ห้ามชาวประมงทุกฝ่าย ทุกพวก ไม่ว่าจะเป็นประมงขนาดเล็ก หรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็ห้ามใช้เครื่องมือเหล่านี้ทั้งสิ้น” ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กนั้นสามารถทำประมงได้ “นอกชายฝั่ง” ได้ เช่นเดียวกับชาวประมงแบบพาณิชย์

ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำจนเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป คือ การที่ชาวประมงพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งชาวประมงขนาดเล็กบางรายที่ใช้เรืออวนลาก เรืออวนรุน หรือเครื่องมือที่ถูก กำหนดห้ามเข้าชายฝั่ง กลับลักลอบเข้ามาทำการประมงชนิดนั้นๆ ในเขตหวงห้ามชายฝั่งนั่นเอง จนทำให้เกิดภาวะความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงอย่างหนัก เพราะเขตชายฝั่งที่ว่านั้นส่วนใหญ่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จนเป็นเหตุให้มีการปะทะขัดแย้งกับกลุ่มอนุรักษ์อยู่เสมอๆ นั่นเอง

คราวนี้กลับไปพิจารณา พ.ร.ก.ประมงใหม่ มีข้อกำหนดห้ามชาวประมงพาณิชย์เข้ามาในเขตชายฝั่งทะเล ซึ่งกำหนดไว้ที่ 3 ไมล์ทะเลโดยเด็ดขาด ในขณะเดียวกัน ก็ได้กำหนดห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกไปทำประมงจับปลานอก 3 ไมล์ทะเลด้วย ตามมาตรา 34 ที่อ้างแล้ว คำถามใหญ่ๆ จึงเกิดขึ้นว่า

(1) ชาวประมงพื้นบ้านทำผิดอะไร? จึงต้องห้ามเขาประกอบอาชีพในพื้นที่ที่เขาเคยทำประมงอยู่แต่เดิม แถมกำหนดคาดโทษอย่างหนักไว้ด้วยว่า หากชาวประมงพื้นบ้านรายใดละเมิดข้อห้ามบังอาจล้ำเขตประมงพาณิชย์จะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่น ถึงห้าแสนบาท

(2) ขังชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดไว้ใน 3 ไมล์ทะเล (หรืออาจขยายกรงขังออกไป 12 ไมล์ทะเลได้) คำถามคือ จะให้พวกเขาทำการประมงได้อย่างไรในพื้นที่จำกัดแออัดแบบนี้? ต้องไม่ลืมว่า ชาวประมงพื้นบ้านในที่นี้ พ.ร.ก.ประมงใหม่ให้ความหมายว่า “เป็นผู้ที่ใช้เรือประมงระวางบรรทุกต่ำกว่า 10 ตันกรอสลงมา หรือผู้ที่ใช้เครื่องยนต์เรือต่ำกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด จะพบว่าจำนวนชาวประมงพื้นบ้านมีจำนวนมากในอัตรามากกว่า 80% ของชาวประมงทั้งหมด

(3) ให้สิทธิการประมงแก่ประมงพาณิชย์ ซึ่งมีจำนวนน้อยราย (ไม่ถึง 20%) ให้มีสิทธิในพื้นที่ทำการประมงได้เพียงฝ่ายเดียวได้ตั้งแต่ 3 ไมล์ทะเล จนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย (ประมาณ 200 ไมล์ทะเล) หรือสุดเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย สุดแต่เขตใดจะไกลกว่า

มันไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบมากเกินไปหรือ? เพราะเขตทะเลนอกชายฝั่งถือเป็นแหล่งที่ควรจับสัตว์น้ำอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และรายได้แก่ชาวประมงทุกฝ่ายควรได้เข้าถึงอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม

โดยตรรกะทั้งหมดทั้งสิ้น โดยหลักการบริหารทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน “รัฐไทย” ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องเปิดศึกกับประชาชนคนเล็กคนน้อยให้ต้องทนทุกข์ทรมานต่อกฎหมายที่ห่างไกลกับคุณธรรมอย่างนี้

จนผมนึกได้ประการหนึ่ง หรือว่านี่คือ…

(2) ยุทธการ “เผาที่นาราษฎร-ยักยอกเสบียงให้แก่คหบดีโดยเปิดเผย” คำ “ยุทธการเผาที่นาราษฎร ยักยอกเสบียงแก่คหบดีโดยเปิดเผย” นี้ เป็นผมอุปมาเอาว่า เปรียบเหมือน “เจ้าหน้าที่บ้านเมืองหนึ่งยินยอมส่งคนไปลักลอบเผาที่นา ที่ไร่ บ้านเรือนราษฎร เพื่อที่ให้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ให้เดือดร้อนยุ่งยากอยู่กับการดับไฟ การเสียข้าวในนา ในขณะที่สภาพจิตใจมุ่งอยู่ที่ความทุกข์ของตนจะมีใครสนใจ ก่นด่า ทวงถาม ขบวนการยักยอกทรัพย์สินส่วนรวมส่งมอบให้แก่คหบดีมีทรัพย์มีบารมีโดยเปิดเผยโจ่งครึ่มอีก?

ในขณะที่กำหนดห้ามชาวประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตชายฝั่ง เปรียบเหมือนชาวนาโดนเผาที่นาบ้านเรือน

แต่อีกทางหนึ่งก็มีการออกประกาศ ออกคำสั่งให้อวนลากสามารถทำประมงต่อไปได้ โดยอ้างว่าขยายตาอวนก้นถุงเป็น 5 ซม.แล้ว ออกคำสั่งขึงขัง ว่า “ให้ยกเลิกประมงอวนรุนเสียทั้งสิ้น แต่แท้จริงได้อนุญาตให้กลุ่มอวนรุนเหล่านั้นสามารถไปทำประมงอวนลากแทน ที่เหลือก็ให้ใบอนุญาต “รุนเคย” แทนเสีย” เหล่านี้ใครๆ ก็รู้ว่าเป็น “จำอวด-เลี่ยงบาลี”

อีกทางหนึ่งปลดล็อคการขึ้นศาล ให้ทุกความผิดตาม พ.ร.ก.นี้ สามารถเปรียบเทียบแทน แล้วให้คดีเลิกกัน ลดโอกาสในการยึดเรือผู้กระทำผิด เอื้อประโยชน์แก่คหบดีมีทรัพย์???

หากในยามปกติ ความเคลื่อนไหวข้างต้นเข้าข่ายช่วยเหลือชาวประมงผิดกฎหมาย และกลุ่มนายทุนเรือประมงอย่างซึ่งๆ หน้าแบบนี้ เครือข่ายประมงพื้นบ้านจะต้องเคลื่อนไหวคัดค้าน เรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ชาวประมงพื้นบ้านจำเป็นต้องดับไฟใกล้ตัวก่อน คือ การห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกนอกชายฝั่ง

ส่วนกรณีกฎหมายเอื้อประโยชน์นายทุนเรือประมงผิดกฎหมาย คล้ายกับยังตกที่นั่งลำบาก อาจต้องมองผ่านตาไปก่อน???
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น