โดย...วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
ผมตามอ่านบทวิเคราะห์ พ.ร.ก.ประมง ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ มีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ เชลียร์พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จนเกินเหตุ พาดหัวอ้างว่ากฎหมายใหม่มีบทลงโทษหนัก สะท้อนนัยว่า ต่อไปประมงเถื่อนผิดกฎหมายจะได้หลาบจำ แต่จากประสบการณ์ที่พบเห็นมา และข้อเท็จจริงที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายหลงลืม หรืออาจอ่านไม่หมด หรือเพราะอ่อนด้อยต่อโลกความเป็นจริง ไม่ทราบชัด ผมกลับเห็นว่าภาพรวมของกฎหมายนี้คือจำอวดหลอกคนทั้งในประเทศ และฝรั่งมังค่า และที่สำคัญต้องบอกว่า
“ประมงพาณิชย์เถื่อน และผู้กระทำผิดเดิมๆ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการต่อรองกับรัฐไทย”
1.ในมาตรา 170 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 กำหนดว่า “บรรดาความผิดตามพระราชกําหนดนี้ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอํานาจเปรียบเทียบได้ คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยผู้แทนสํานักงานอัยการสูงสุดเป็น ประธานกรรมการ ผู้แทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้แทนกรมประมง เป็นกรรมการ และเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาคได้ตามที่รัฐมนตรีกําหนดตามความเหมาะสม
หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกําหนด โดยให้คํานึงถึงสภาพความร้ายแรงของการกระทําความผิด การกระทําความผิดซ้ำ และการป้องกันมิให้ผู้กระทําความผิดกระทําความผิดซ้ำอีก
เมื่อผู้ต้องหาได้ชําระค่าปรับตามจํานวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว และยกสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ถูกยึดไว้ให้แก่ทางราชการแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
2.จากนิยามของพระราชบัญญัติเดิม กำหนดให้ เรือ เป็นเครื่องมือประมงด้วย เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการวิ่งเต้นนำเรือกลับมาใช้ทำความผิดใหม่ แต่ใน พ.ร.ก.ประมงใหม่ ได้ถอดเรือออกจากนิยามเครื่องมือประมงเสีย แม้อ้างว่าได้กำหนดนิยามไว้ต่างหากแล้ว แต่เท่ากับปลดล็อกตายที่ชาวประมงที่กระทำผิดกลัวออก
สองประเด็นนี้ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของกลุ่มนายทุนประมงพาณิชย์ และกลุ่มเรือประมงเถื่อน การมอบอำนาจแก่บุคคลซึ่งไม่ใช่ศาลยุติธรรมเป็นผู้กำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิด แน่นอนว่า นักกฎหมายบนหอคอยงาช้างอาจบอกว่า ก็ดีแล้วจะได้ไม่ต้อง “รกศาล” แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ โอกาสในการคอร์รัปชัน และการเอื้อประโยชน์พวกพ้องเส้นสายที่เพิ่มสูงขึ้นตามอำนาจที่มี
ประสบการณ์ของการบริหารจัดการทรัพยากรประมงไทย เมื่อเกิดกรณีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายประมง และมีการกระทำซ้ำๆ รวมทั้งการกระทำนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อทรัพยากรประมงเกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้น เพราะชาวประมงที่กระทำผิดไม่เกรงกลัวการปรับ เพราะเมื่อจ่ายค่าปรับแล้วก็นำเรือ และเครื่องมือออกไปกระทำผิดได้อีก มีลือกันหนาหูว่าเกิดกรณีจ่ายรายเดือนไม่จับ จับแล้วปรับใต้โต๊ะ จับแล้วเคลียร์ได้ ฯลฯ คำถามคือ ใครจะรับประกันว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อกฎหมายใหม่เปิดทางให้ “เปรียบเทียบปรับ” ทุกกรณีซะขนาดนี้
หลายท่านอาจเถียงในใจ ว่า ก็กำหนดอัตราเปรียบเทียบปรับ เขากำหนดไว้สูงอยู่แล้วจะไปกังวลทำไม
ขอเรียนว่า ประเด็นก็คือ ในบทกำหนดโทษตาม พ.ร.ก.การประมงใหม่ ดูเผินๆ เหมือนกับเพิ่มบทกำหนดโทษสูงขึ้น แต่แท้จริงแล้วได้เปิดช่องทางชัดเจนว่าทุกอย่าง “เคลียร์ได้” ใครจะไปนั่งเฝ้าดูว่าผู้เกี่ยวข้องจะปรับตามความผิด เพราะตัวอย่างการเคลียร์จ่ายนอกระบบเกิดขึ้นเสมอๆ ไม่ใช่หรือ?
สิ่งที่ชาวประมงกระทำผิดกลัวที่สุดของการทำการประมงคือ การถูกกักเรือ ยึดเรือ และเครื่องมือ ถูกกักไว้จะไม่สามารถออกไปกระทำผิดอีก ถือเป็นแนวทางในการป้องกัน และส่งเสริมให้ทรัพยากรประมงยั่งยืนในอนาคตที่แท้จริง เมื่อกฎหมายมอบอำนาจซึ่งเคยเป็นของศาลยุติธรรม มาให้บุคคล ฝ่ายบริหารใช้อำนาจแทนทั้งสิ้น
วันนี้ยังไม่สำแดงอาการ แต่ในอนาคตปัญหาการประมงจะรุนแรงมากขึ้น เพราะเปิดช่องให้กลุ่มอิทธิพลกดดันเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง โดยไม่ต้องส่งฟ้องศาล กลุ่มประมงที่กระทำความผิดไม่มีความเกรงกลัวต่อการทำความผิด และประมงชั่วๆ เถื่อนๆ ก็ลอยนวลต่อไป
(อ่านต่อตอนที่ 2)